การบินไทย เผยปี 63 ขาดทุนอ่วม 141,170 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 1,000% หลังได้รับผลกระทบจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์ ขาดทุนจากด้อยค่าตามมาตรฐานบัญชี TFRS9 และอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายจากการสํารองเงินชดเชยให้แก่พนักงาน ขณะที่รายได้ลดฮวบกว่า 135,735 ล้านบาท เหตุรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลดำเนินงานงวดปี 63 ขาดทุนกว่า 141,170 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 1,072% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 12,042 ล้านบาท เนื่องจากการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวร ขาดทุนจากการด้อยค่าตามมาตรฐานบัญชี TFRS9 และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการสํารองเงินชดเชยให้แก่พนักงาน
โควิด-19 กระทบหนักทุกด้าน ปริมาณขนส่งผู้โดยสารหด 78.51%
นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี THAI เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบอุตสาหกรรมการบินโลกอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ส่งผลให้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 73.7%
ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 78.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.87 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 76.1% สำหรับด้านการขนส่งสินค้า อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 58.6% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 53.8%
"ปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 96,430 ล้านบาท ส่งผลให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 141,180 ล้านบาท" นายชาย กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด จำนวน 91,978 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย
ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 82,703 ล้านบาท
ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิ จำนวน 5,227 ล้านบาท
สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) จำนวน 3,098 ล้านบาท
ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 895 ล้านบาท
ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 261 ล้านบาท
กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 206 ล้านบาท
เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย ปีที่แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายบุคลากร โดยขอความร่วมมือผู้บริหารและพนักงานสมัครใจร่วมโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน (Together We Can)
นอกจากนี้ มีโครงการ "ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร" 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) และโครงการลาระยะยาว (“LW20”) เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทสามารถดำรงเงินสดในมือให้เพียงพอในการดำเนินกิจการระหว่างที่ไม่มีกระแสเงินสดรับจากการดำเนินธุรกิจการบินปกติและจากแหล่งเงินทุนอื่น ประกอบกับการชะลอการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ และความปลอดภัย และหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้บริษัทฯ ลดค่าใช้จ่ายคงที่จากปีก่อนได้ถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการหารายได้จากการให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยกลับบ้าน และรายได้จากกิจการอื่นๆ เช่น ฝ่ายครัวการบิน เป็นต้น
เตรียมยื่นแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 2 มี.ค.นี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่บริษัทฯ เสนอ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ขณะนี้คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ผู้ทำแผนยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2564 และเมื่อได้ยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป