xs
xsm
sm
md
lg

บ้าน “ของขวัญ” รับวาเลนไทน์ “คู่รัก” สร้างครอบครัวใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ เรารู้กันดีว่าเป็นวันที่คู่หนุ่ม-สาว หลายๆ คู่แสดงความรักให้แก่กัน บ้างก็มอบกุหลาบสีแดงแทนความรัก แต่ก็มีคู่รักหลายคู่รักตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสกันที่ว่าการอำเภอในต่างจังหวัด หรือหากอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็จูงมือกันไปจดทะเบียนสำนักงานเขต โดยสำนักงานเขตที่ฮอตฮิต ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สำนักงานเขตบางรัก
 
ในขณะที่คู่รักหลายคู่ตัดสินใจจดทะเบียนสมรส และคู่รักหลายคู่บอกรักกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน และตัดสินใจร่วมกันว่าจะซื้อที่อยู่อาศัย “บ้าน” เพื่อเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ในวันวาเลนไทน์ ประเด็นคือ คู่รักที่ตัดสินใจจะซื้อบ้านเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ร่วมกันมีหลายรูปแบบ เช่น คู่รักที่ตกลงแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ คู่รักที่ซื้ออยู่ระหว่างคบหาดูใจ และคู่รักเพศเดียวกัน (LGBT) คำถามคือ ในแต่ละคู่รักนั้นควรเลือกที่อยู่อาศัยรูปแบบใด จึงเหมาะสมกับสถานะคู่รักในแต่ละรูปแบบ


เลือกบ้านแบบไหนให้เหมาะกับคู่รักของคุณ

เมื่อชายหนุ่มหญิงสาวคบหาดูใจกันได้ระยะหนึ่ง หลายๆ คู่รักจะเริ่มตัดสินใจทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันย้ายเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกัน ก่อนจะตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันด้วยการแต่งงาน หรือเลิกรากันไป และมีอีกหลายคู่ที่ได้ทดลองอยู่ร่วมกันแล้วตัดสินใจแต่งงานสร้างชีวิตครอบครัวใหม่ร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่คู่รักเหล่านี้ใช้เวลาคิดหารือร่วมกันคือ การวางแผนจะย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกันไม่ว่าคู่รักที่จะสร้างครอบครัวใหม่ หรือคู่รักที่ตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกัน เพื่อศึกษาดูใจและทดลองใช้ชีวิตร่วมกัน คือ การมองหาที่อยู่อาศัยที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน

ประเด็นคือ ในการวางแผนเลือกที่อยู่อาศัยนั้นแต่ละคู่ควรเลือกแบบไหนดี สำหรับคู่รักที่กำลังศึกษานิสัยใจคอ และทดลองใช้ชีวิตคู่ด้วยการย้ายมาอยู่ร่วมกันก่อจะตัดสินใจว่าจะแต่งานหรือไม่นั้น ในการเลือกที่อยู่อาศัยควรคิดและศึกษาให้มากกว่าปกติ เพราะสำหรับคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสนั้น ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม คือ ห้องเช่า คอนโดมิเนียม หรือห้องชุดเพื่อปล่อยเช่า อพาร์ตเมนต์ เพราะในคู่รักทดลองใช้ชีวิตร่วมกันนั้นหากเกิดปัญหา หรือทัศนคติการใช้ชีวิตไม่ตรงกันเกิดเลิกรากันไป จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน 

สำหรับคู่รักที่มีแผนจะแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ และกำลังมองหาบ้านใหม่นั้น บ้านหรือที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม คือ ทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว เพราะเป็นที่อยู่อาศัยที่พื้นที่กว้างขวางเหมาะแก่การอยู่อาศัยร่วมกัน และยังมีพื้นที่มากพอจะรองรับสมาชิกใหม่ ในกรณีที่คิดจะมีลูก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับครอบครัวใหม่มากกว่าคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ต้องคำนึงด้วยว่าคนไทยนั้นมีวัฒนธรรมการอยู่อาศัยร่วมกับแบบครอบครัวใหญ่ ดังนั้น ในการเลือกที่อยู่อาศัยในการสร้างครอบครัวใหม่จึงต้องคิดใหม่มากขึ้นกว่าการอยูร่วมกันเพียง 2 คน

ส่วนคู่รักเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ และอยู่ระหว่างการย้ายออกมาอยู่ร่วมกันหลังแต่งานเพียงลำพัง และคู่รัก LGBT ที่มีไลฟสไตล์การทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมือง รักความอิสระและมีความเป็นส่วนตัวสูง และมีแนวคิดว่าจะไม่มีลูกหลังแต่งงาน คอนโดมิเนียมคือที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับคู่รักรูปแบบนี้มากที่สุด เพราะคอนโดถือเป็นที่อยู่อาศัยที่มีความสะดวกสบายและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับความต้องการคู่รักประเภทนี้มากที่สุด แถมคอนโดยังมีที่ตั้งในทำเลย่านใจกลาง หรือใกล้เมือง ที่ตั้งอยู่ติดระบบการเดินทางสาธารณะ ซึ่งเอื้อกับไลฟสไตล์การใช้ชีวิตและการทำงาน


ขณะที่กลุ่มคู่รักที่กำลังจะแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่และวางแผนจะมีลูกร่วมกัน แต่ไม่มีญาติผู้ใหญ่ย้ายมาอยู่อาศัยได้ ทาวน์โฮม หรือทาวน์เฮาส์ คือ ตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะคู่รักลักษณะนี้ต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัยมากกว่าคู่รักที่ไม่ต้องการมีลูก และต้องการมีสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น บ้านเดี่ยวคือที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นครอบครัวใหม่ ส่วนคู่รักที่หลังแต่งานแล้วต้องอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่ และครอบครัวขยายคือพร้อมจะมีลูกและญาติผู้ใหญ่มาอยู่อาศัยร่วมกัน บ้านเดี่ยว คือที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมที่สุดมากที่สุด เนื่องจากบ้านเดี่ยวมีพื้นที่ในการอยู่อาศัยค่อนข้างมาก ซึ่งเหมาะสำหรับอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิกหลายๆ เจเนอเรชัน

ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับคู่รักในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่รักที่จะทดลองใช้ชีวิตร่วมกัน คู่รัก LGBT คู่รักที่วางแผนจะสร้างครอบครับใหม่หลังแต่งงาน สิ่งสำคัญ คือ การซื้อที่อยู่อาศัย หรือบ้านหลังใหม่สำหรับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งในการซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกันนั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ กำลังซื้อ ความสามารถในการผ่อนค่างวด หรือรายได้ของแต่ละคู่ เพราะการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในการอยู่ร่วมกันนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของแต่ละคู่ด้วยว่าเหมาะสม หรือมีความสามารถผ่อนจ่ายมากหรือน้อยมแค่ไหน เหมาะสมกับระดับราคาของที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อหรือไม่



กู้ร่วมทางเลือกของคู่รักซื้อบ้านใหม่

“คู่รัก” ที่วางแผนจะแต่งงาน และซื้อบ้านใหม่ หากเลือกที่จะใช้วิธีการยื่นกู้ร่วมกันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการยื่นก็เพียงคนเดียวหากผู้กู้มีรายได้ไม่สูง เพราะการกู้ร่วมนั้นจะช่วยให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น เพราะการกู้ร่วมมีข้อดีหลายข้อการกู้ร่วมมีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะทำเรื่องขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยผ่านธนาคารถ้าหากว่าผู้กู้เองนั้นมีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการผ่อนชำระในยอดที่กู้ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอยู่ แต่เมื่อต้องการซื้อบ้านหรือคอนโด และเพื่อให้กู้ผ่านจำเป็นต้องนำผู้อื่นมากู้ร่วม เพราะเมื่อนับรายได้รวมกันจะทำให้ตัวเลขรายได้สูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการให้สินเชื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้กู้ร่วมจะมีกำลังผ่อนชำระเพียงพอตามที่ธนาคารกำหนดหรือไม่ทั้งนี้ ข้อดีของการกู้ร่วมคือ 1.การขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
2.เพิ่มวงเงินมากกว่าเดิม 3.ผ่อนชำระได้มากขึ้น 4.กระจายความเสี่ยง 5.สร้างความน่าเชื่อถือต่อธนาคาร


สำหรับเรื่องผู้กู้ร่วมต้องรู้ก่อนเซ็นสัญญาเป็นผู้กู้ร่วม คือ 1.การกู้ร่วมช่วยให้กู้ง่ายขึ้นและได้วงเงินเพิ่มขึ้น 2.ผู้กู้ร่วมจะต้องมีสายโลหิตเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ 3.สามีและภรรยาไม่ต้องจดทะเบียนสมรสก็กู้ร่วมได้ 4.การกู้ร่วมถือเป็นลูกหนี้ร่วมกันมีสิทธิในกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 5.ผู้กู้ร่วมกันจำเป็นต้องรับภาระผ่อนไปด้วยกันจนครบกำหนด 6.ผู้กู้ร่วมจะต้องชำระหนี้ไม่ขาดส่งและต้องยอมรับการจ่ายแทนผู้กู้อีกคน หากผู้กู้อีกคนชำระหนี้ไม่ได้ 7.เมื่อผู้กู้ร่วมเสียชีวิตทายาทจะเข้ามารับสภาพหนี้แทน 8.กรรมสิทธิ์หลังผ่อนหมดเป็นของใครขึ้นอยู่กับว่าจดทะเบียนเป็นชื่อใคร 9.การถอนชื่อกู้ร่วมทำได้แต่ต้องได้รับความยินยอมจากทุกฝ่าย 10.ผู้กู้ร่วมต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมกรมที่ดินและธนาคารร่วมกัน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้กู้ร่วมต้องรู้และเตรียมพร้อม คือ 1.คุณสมบัติของผู้กู้ร่วม 2.ต้องมีหลักฐานรายได้ที่ชัดเจน3.ต้องมีประวัติการชำระหนี้ที่ตรงต่อเวลา 4.ต้องมีรายได้เพียงพอที่จะร่วมรับผิดชอบภาระหนี้กับธนาคาร 5.ผู้กู้ร่วมควรเป็นบุคคลในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หรือสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ส่วนกรณีของคู่รักที่ยังไม่จดทะเบียนสมรสนั้นอาจมีปัญหาในการโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง ทำให้การยื่นกู้ร่วมอาจจะมีความล้าช้ากว่าปกติ หรือการยื่นขอสินเชื่อจะยิ่งดำเนินการช้าล่าช้าออกไปมากขึ้นอีกหากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้


กู้ร่วมเมื่อเลิกราแบ่งกันอย่างไร 

คู่รักหลายคู่เมื่อตกลงใช้ชีวิตร่วมกันมักใช้วิธีการกู้ร่วมในการซื้อที่อยู่อาศัย และโดยมากไม่ได้คิด หรือคำนึงถึงปัญหาการถือครองกรรมสิทธิ์ เพราะไม่เคยคิดถึงว่าหากเกิดปัญหาเลิกรากันไปจะทำอย่างไร สำหรับทางออกในกรณีการที่เกิดการเลิกรากัน
ของคู่รักที่กู้ร่วมซื้อที่อยู่อาศัยนั้น วิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น

1.การถอนชื่อคู่รักที่กู้ร่วม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ การกู้ร่วมซื้อบ้านกับคู่รักที่จดทะเบียนสมรสแล้วเลิกรากัน และการกู้ร่วมกับคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วเลิกรากัน สำหรับคู่รักที่จดทะเบียนสมรสแต่เลิกรากันนั้น ต้องจดทะเบียนหย่าให้เรียบร้อย เพื่อนำใบหย่า และสัญญาจะซื้อจะขายไปขอถอนชื่อคู่รักออกจากสัญญากู้ที่ทำไว้กับธนาคาร เพื่อให้ธนาคารเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสัญญาเงินกู้ใหม่

ส่วนกรณีคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและเลิกรากันนั้น การถอนชื่อคู่รักที่เลิกราออกจากการกู้ร่วมซื้อบ้านไม่ยุ่งยากเท่ากับคู่รักที่จดทะเบียนสมรส แต่ขึ้นกับข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย ว่าใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์ที่กู้ร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการแจ้งถอดถอนชื่อออกกับทางเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ทำสัญญากู้ไว้ และแจ้งต่อธนาคารว่าต้องการให้ใครผู้ถือกรรมสิทธิ์

2.รีไฟแนนซ์จากกู้ร่วมเป็นกู้เดี่ยว สำหรับทางออกนี้ ธนาคารไม่อนุมัติให้ถอนชื่อคู่รักที่กู้ร่วมด้วยกันออก เนื่องจากประเมินแล้วว่าผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้คนเดียวได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่นเพื่อทำเรื่องขอกู้ที่อยู่อาศัยเพียงคนเดียว และ 3.ตัดปัญหาด้วยการขายทรัพย์ ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายในการแก้ปัญหาแบ่งกรรมสิทธิ์กรณีคู่รักกู้ร่วมซื้อบ้านด้วยกัน และจำเป็นต้องเลิกราไป ซึ่งทั้งคู่ต้องมีการตกลงกันให้เรียบร้อย เพราะในการขายกรรมสิทธิ์นั้นต้องได้รับการยินยอมขายจากทั้งสองฝ่าย

เมื่อมีการตกลงใช้ชีวิตร่วมกันแล้วเชื่อว่าไม่มีใคร หรือคู่รักคู่ไหนอยากจะเลิกรากันไป เพราะทุกคนก็อยากมีคู่รัก หรือมีครอบครัวที่สมบูรณ์ และมีความสุข ดังนั้น ปัญหาของการเลิกรากันหลังจากใช้ชีวิตร่วมกันนั้นจึงไม่น่าจะใช่ปัญหาสำคัญในการตัดสินใจของคู่รักที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยด้วยการกู้ร่วม



กำลังโหลดความคิดเห็น