xs
xsm
sm
md
lg

เจาะพอร์ตหุ้น "เสี่ยเจริญ" ปี 64 มูลค่าบริษัทรวม 3.5 แสนล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" เตรียมนำธุรกิจเบียร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์สร้างความฮือฮาไม่น้อย ในขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยเองมีอยู่หลายหลักทรัพย์ที่มีบริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และถ้าอัปเดตในปัจจุบันจะมีทั้งสิ้น 9 หลักทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าบริษัท หรือ Market Cap รวมกันแล้วกว่า 355,309 ล้านบาท (3.55 แสนล้านบาท) ประกอบด้วย

1.บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) มาร์เกตแคป 153,600 ล้านบาท ประกอบธุรกิจด้าน Holding Company อสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรมี 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือได้แก่ นายเจริญ ถือรวม 75.59% (1.TCC GROUP INTERNATIONAL LIMITED ถือ 28.31% นายเจริญถือ 27.56% คุณหญิงวรรณา ถือ 19.13% และบริษัท นอร์ม (2019) จำกัด ถือ 0.59%)

ซึ่งมีข่าวนายเจริญ-คุณหญิงวรรณา จะโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่บริษัท ทีซีซี บริหารธุรกิจ จำกัด เพื่อปรับโครงสร้าง ต่อมาพบการซื้อขายบิ๊กล็อต 4.31 พันล้านหุ้น ค่า 2.22 หมื่นล้านบาท ราคาเฉลี่ย 5.15 บาทตามมา

AWC ให้นางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่ 2 ของนายเจริญ นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนนายเจริญ เป็นประธานกรรมการบริษัท นอกจากนี้ยังใช้บริการ 3 อดีตปลัดกระทรวงมาร่วมเป็นกรรมการอิสระด้วย คือ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ (อดีตปลัดคลัง) นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค (อดีตปลัดพาณิชย์) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ (อดีตปลัดท่องเที่ยวและกีฬา)

เริ่มต้นซื้อขาย 10 ต.ค.62 ราคา ปิดที่ 6.05 บาท ราคาสิ้นปี 63 ปิดที่ 4.56 บาท ล่าสุด 11 ก.พ.64 ปิดที่ 4.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.24 บาท หรือ +5.26% ขณะที่ผลตอบแทนราคาปี 2563 คือ -22.05%

2.บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มาร์เกตแคป 132,257.29 ล้านบาท ธุรกิจสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่มี 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือได้แก่ นายเจริญ ถือรวม 67.96% (บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือ 66.02% และบริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จำกัด ถือ 1.94%)

BJC มีนายเจริญ นั่งประธานกรรมการบริษัท และให้นายอัศวิน (ลูกเขยนายเจริญ) บริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมีนางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล (ลูกสาวคนสุดท้องนายเจริญ-ภรรยาของอัศวิน) เป็นกรรมการ และนายประเสริฐ เมฆวัฒนา (อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรม) เป็นกรรมการ และนายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล (อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) เป็นกรรมการอิสระอีกด้วย

ราคาสิ้นปี 63 ปิดที่ 34.75 บาท ล่าสุด 11 ก.พ.64 ปิดที่ 33.00 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ -5.04% ขณะผลตอบแทนราคา ปี 63 คือ -17.26% ปี 62 คือ -17.24%

3.FPT (บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้) มาร์เกตแคป 29,222.90 ล้านบาท ธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบครบวงจรมี 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือนายเจริญ ถือรวม 82.16% (บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด ถือ 43.53% และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 38.30% และบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือ 0.33%) และมีนายชายน้อย เผื่อนโกสุม (อดีตรักษาการผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน) เป็นประธานกรรมการ และบริหารโดย CEO หนุ่มนายธนพล ศิริธนชัย ขาเก๋าในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กว่า 30 ปี เคยเป็นประธานอำนวยการบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มาก่อน โดยมีนายโชติพัฒน์ พีชานนท์ (เขยใหญ่นายเจริญ-สามีนางอาทินันท์) เป็นกรรมการ

ราคา FPT ตอนสิ้นปี 63 ปิดที่ 12.30 บาท ล่าสุด 11 ก.พ.64 ปิดที่ 12.60 บาท เพิ่ม 0.30 บาท หรือ +2.44% ขณะผลตอบแทนราคา ปี 63 คือ -17.15% ปี 62 คือ +10.95%

4.OISHI (บมจ.โออิชิ กรุ๊ป) มาร์เกตแคป 15,562.50 ล้านบาท ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารญี่ปุ่น และเครื่องดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า "โออิชิ" โดยมี บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ถืออันดับ 1 (79.66%) และที่น่าสนใจคือ มีคนในตระกูล "จุฬางกูร" 3 คน (ทวีฉัตร-หทัยรัตน์-ณัฐพล) ถือหุ้นรวมกัน 4.71% มีนายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล (อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) เป็นประธานกรรมการ และให้นายอวยชัย ตันทโอภาส (ขาเก๋าวงการน้ำเมาระดับโลกจากริชมอนเด้ บางกอก) เป็นประธานกรรมการบริหาร และมีนางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล (คลุกคลีวงการอาหารเครื่องดื่มกว่า 30 ปี) เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีนายสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร (ลูกหม้อไทยเบฟ) ดร.พิษณุ วิเชียรสรรค์ (คีย์แมนบุกเบิกโรงงานเบียร์) ร่วมเป็นกรรมการ

ราคาตอนสิ้นปี 63 ปิดที่ 40.00 บาท ล่าสุด 11 ก.พ.64 ปิดที่ 41.75 บาท เพิ่ม 1.75 บาท หรือ +3.75% ขณะผลตอบแทนราคาปี 63 คือ -20.79% ปี 62คือ +33.77 % (OISHI แตกพาร์จาก 2.00 บาท เป็น 1.00 บาท เมื่อ 6 ก.พ.63)

5.SSC (บมจ.เสริมสุข) มาร์เกตแคป 9,572.42 ล้านบาท ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม เครื่องดื่มน้ำอัดลม "เอส" และ "ซาสี่" น้ำดื่ม "คริสตัล" มีบริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด ถืออันดับ 1 (64.67%) และบริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด ถืออันดับ 2 (21.14%)

โครงสร้างบริษัท คือ นายสมชาย บุลสุข (รุ่นที่ 4 ของผู้ก่อตั้งเสริมสุข) ประธานกรรมการ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการบริหาร และนายโฆษิต สุขสิงห์ (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ) กรรมการผู้จัดการ และปรากฏชื่อนายเรวัต ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุด ร่วมเป็นกรรมการอิสระด้วย

ราคาตอนสิ้นปี 63 ปิดที่ 34.25 บาท ล่าสุด 11 ก.พ.64 ปิดที่ 36.00 บาท เพิ่ม 1.75 บาท หรือ +5.11% ขณะผลตอบแทนราคาปี 63 คือ +6.20% ปี 62คือ -3.73%

6.UV (บมจ.ยูนิเวนเจอร์) มาร์เกตแคป 7,685.94 ล้านบาท ธุรกิจลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้เช่าและบริหารอาคารเพื่อการพาณิชย์ กิจการโรงแรมมี 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือนายเจริญ ถือรวม 66.01% (บริษัท อเดลฟอส จำกัด ถืออันดับ 1 ถือ 54.04%) และบริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ถืออันดับ 2 ถือ 11.97% มี น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช (อดีตอธิบดีกรมการประกันภัยและเป็นกรรมการ โออิชิ-ไทยเบฟฯ) นั่งประธานกรรมการ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร นายปณต สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ และให้นายกำพล ปุญโสณี (ทำงานบริษัทในเครือนายเจริญมาหลายแห่ง) เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมีนายวรวรรต ศรีสอ้าน (ร่วมชายคาเครือนายเจริญตั้งปี 48 ลูกชาย ศ.ดร.วิจิตร อดีต รมว.ศึกษาธิการ) เป็นกรรมการด้วย

ราคาตอนสิ้นปี 63 ปิดที่ 2.94 บาท ล่าสุด 11 ก.พ.64 ปิดที่ 4.02 บาท เพิ่ม 1.08 บาท หรือ +36.73% ขณะผลตอบแทนราคา ปี 63 คือ -54.42% ปี 62 คือ +5.74%

7.AMARIN (บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง) มาร์เกตแคป 4,312.58 ล้านบาท ธุรกิจโรงพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มีเดีย หนังสือเล่ม มีบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด ถือ 60.11% ขณะที่ตระกูลอุทกะพันธุ์ ถือรวม 21.37% โครงสร้างบริษัท คือนางเมตตา อุทกะพันธุ์ (ผู้ก่อตั้งอมรินทร์) ประธานกรรมการ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการบริหาร และนางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ (ลูกสาวนางเมตตา) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และมีนายกำพล ปุญโสณี (กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการด้วย

ราคาตอนสิ้นปี 63 ปิดที่ 4.22 บาท ล่าสุด 11 ก.พ.64 ปิดที่ 4.32 บาท เพิ่ม 0.10 บาท หรือ +2.37% ขณะผลตอบแทนราคา ปี 63 คือ +1.44% ปี 62 คือ -12.61%

8.SFP (บมจ.อาหารสยาม) มาร์เกตแคป 2,646.00 ล้านบาท ธุรกิจผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดบรรจุกระป๋อง ผลไม้รวมบรรจุกระป๋อง แบรนด์ SIAM FOOD มี  3 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือนายเจริญ ถือรวม 76.11% (บริษัท พรรณธิอร จำกัด ที่กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ในเครือทีซีซี กรุ๊ป ถือหุ้นอันดับ 1 (70.85%) และบริษัท เพรสทีจ 2015 จำกัด ถือ 4.86% และบริษัท ยอดกิจธุรกิจ จำกัด ถือ 0.40%)

โครงสร้างบริษัท มีนายเทียร เมฆานนท์ชัย (อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร) นายชาญวิทย์ ทรัพย์แสนยากร กรรมการผู้จัดการ และนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ (อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์) เป็นกรรมการ และนางฉวีวรรณ จันทน ภุมมะ (อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์) เป็นกรรมการ

ราคาตอนสิ้นปี 63 ปิดที่ 127.00 บาท และซื้อขายล่าสุด 21 ม.ค.64 ปิดที่ 126.00 บาท ลดลง 1.00 บาท หรือ -0.79% ขณะผลตอบแทนราคา ปี 63 คือ -24.85% ปี 62 คือ -5.06%

9.INSURE (บมจ.อินทรประกันภัย) มาร์เกตแคป 450.00 ล้านบาทมี 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือนายเจริญ ถือรวม 77.53% (บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ จำกัด ถือ 75.06% และบริษัท เพรสทีจ 2015 จำกัด ถือ 2.47%) ทั้งนี้ เดิม บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ถือหุ้นอันดับ 1 (67.82%) ต่อมา นายเจริญ ส่งบริษัทลูกอย่างบริษัท รถดีเด็ด ออโต้ เข้าทำเทนเดอร์หุ้น INSURE โดยสามารถเก็บหุ้นได้ทั้งสิ้น 7,506,358 หุ้น หรือคิดเป็น 75.06%

โครงสร้างบริษัท มีนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา (อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง) ประธานกรรมการ และนายวิชัย อินทรนุกูลกิจ (อดีตกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอาคเนย์) กรรมการผู้อำนวยการ

ราคาตอนสิ้นปี 63 ปิดที่ 44.00บาท และซื้อขายล่าสุด 8 ก.พ.64 ปิดที่ 45.00 บาท เพิ่ม 1.00 บาท หรือ +2.27% ขณะผลตอบแทนราคา ปี 63 คือ +15.79% ปี 62 คือ -2.56%

ทั้งนี้ ก่อนหน้ามีหุ้นของเครือนายเจริญ อีกหลายตัวที่โลดแล่นบนกระดานหุ้น เช่น บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) บมจ.ไทยประกันภัย (TIC) แต่ก็ได้แจ้งถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วและมีข้อมูลว่าในปี 2562 หุ้นในเครือนายเจริญ ทั้งหมดได้เงินปันผลรวมคิดเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 2.1 พันล้านบาทจากปี 2561

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นสิงค์โปร์นั้น ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยเบฟจะนำ “ธุรกิจเบียร์” ยื่นเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยคาดว่ามูลค่าธุรกิจมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3 แสนล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น