xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ออกเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล หวังป้อง-ลดเสี่ยงนักลงทุนยุคไร้พรมแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รื่นวดี   สุวรรณมงคล   เลขาธิการ  ก.ล.ต.
ก.ล.ต.ปรับแผนกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจ ระยะสั้นแก้หลักเกณฑ์การกำกับดูแล ICO ให้เทียบเคียงหลักทรัพย์ และอยู่ระหว่างปรับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อกำกับดูแล Investment Token และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ที่มีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและรองรับผู้เล่นใหม่ หวังลดความเสี่ยงและปกป้องนักลงทุน คาดแล้วเสร็จภายปี 2564

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เดินหน้าปรับแผนครั้งใหญ่เพื่อกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล รองรับการธุรกิจและทำธุรกรรมทางการเงิน และในตลาดทุน หลังพบมีนักลงทุนหน้าใหม่และเด็กรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการเล่นสินทรัพย์ดังกล่าว เนื่องจากได้ผลตอบแทนสูง ขณะที่มีความผันผวนสูง ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน และในตลาดทุน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอเหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ ป้องกันมิให้เกิด Regulatory Arbitrage และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. มีแผนในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจ โดยแผนระยะสั้นจะเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ICO ให้เทียบเคียงได้กับหลักทรัพย์ ในส่วนของตลาดรองและผู้ประกอบธุรกิจ ก.ล.ต อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนด Listing Rules ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์เรื่องการออกเสนอขาย ICO รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Trading Rules การเปิดเผยข้อมูลในตลาดและ Market Surveillance ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

ในส่วนแผนงานระยะกลาง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยจะกำกับดูแล Investment Token และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ ที่มีลักษณะ (Substance) และความเสี่ยงคล้ายกับหลักทรัพย์ เพื่อให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ รวมทั้งรองรับหลักทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงปรับปรุงในส่วนของศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้สามารถรองรับผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแล Investment Token และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ตลอดจนเพิ่มการแข่งขันและรองรับผู้เล่นใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ

ในส่วนของคริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีความผันผวนสูงมาก สำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีความห่วงใยผู้ลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนขอให้มีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ขอให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนการลงทุนเสมอ เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นการเก็งกำไร และมีความผันผวนสูง ผู้ลงทุนจึงต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยง และสามารถยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้จัดทำ 6 ข้อควรระวังก่อนลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และรายงานสรุปข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทางเพจสำนักงาน ก.ล.ต.

“สำนักงาน ก.ล.ต. หวังจะเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งที่สร้างความไว้วางใจเรื่องใหม่ๆ ทางการเงิน และยินดีเปิดรับฟังในการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนและเรียนรู้ไปด้วยกัน”

“ก.ล.ต. กับทิศทางการกำกับดูแล STO และ ICO”

นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต. กล่าวถึงในส่วนของการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตลาดแรกคือ STO และ ICO ว่าจะพิจารณาจากลักษณะ (Feature) ของแต่ละ Product ซึ่งหากเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หรือหุ้นกู้ที่ออกแบบไร้ใบ (Scripless) หรือโดยใช้บล็อกเชนก็จะถูกกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

ส่วน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (STO) 2 ประเภท ได้แก่ Investment Token และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ Investment Token และ Utility Token ซึ่งมีลักษณะของการระดมทุนถูกกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการระดมทุนด้วยหลักทรัพย์ (STO) และโทเคนดิจิทัล (ICO) โดยในฝั่งของหลักทรัพย์ ในปี 2562 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในส่วนศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เพื่อรองรับการใช้บล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการออกหลักทรัพย์แบบไร้ใบ (scripless) ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการออกใบหลักทรัพย์เลย โดยศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่ให้บริการดังกล่าวได้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD เท่านั้น FinTech company ก็สามารถมาขอใบอนุญาตศูนย์รับฝากหลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. และให้บริการในลักษณะดังกล่าวได้  

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ออกหุ้นกู้โดยใช้บล็อกเชนในโครงการ Sandbox ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แล้ว 2 ราย ในฝั่งของการระดมทุนโดยการออกโทเคนดิจิทัลนั้นจะอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยโทเคนดิจิทัลที่ถูกกำดูแลการเสนอขาย ได้แก่ investment token และ utility token ที่ผู้ถือยังไม่สามารถใช้สินค้าหรือบริการได้ทันที โดยผู้เสนอขายต้องขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และเสนอขายผ่าน ICO portal รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด โดย ICO portal ก็จะทำหน้าที่คล้ายกับ Underwriter และ Financial Advisor (FA) ในฝั่งของหลักทรัพย์ เนื่องจาก product ในด้านของหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัลบาง product มีลักษณะ (feature) คล้ายกัน  

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม สำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีการยกระดับหลักเกณฑ์การเสนอขาย asset-backed token รวมทั้งจะมีการโยก investment token และ utility token ไม่พร้อมใช้ไปกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งก็จะมีการรองรับ ICO portal ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นๆ ให้สามารถประกอบธุรกิจในฝั่งหลักทรัพย์ได้

ด้าน สุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่า สำหรับตลาดรอง ก.ล.ต. กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น 14 ราย โดยในปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มประเภทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอีก 2 ประเภท ได้แก่ ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล    

“ในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงานกำกับดูแลและให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านบุคลากร ด้านเงินทุน และด้านระบบงาน ทั้งนี้ สำนักงานอยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องระบบการเก็บรักษาและการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น” นอกจากนี้ สำนักงานอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มผู้เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้กำกับดูแล และห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย Privacy Coin ซึ่งสามารถปกปิดชื่อผู้ทำธุรกรรมได้ เพื่อป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการกระทำผิดกฎหมาย

“Tokenization ทางเลือกใหม่ในยุคดิจิทัล”

ปรมินทร์ อินโสม กรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงการระดมทุนแบบ IPO ที่ในอนาคตหากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ก็อาจพิจารณาได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำ STO โดยในสหรัฐอเมริกาจะกำกับดูแล STO ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ได้แก่

1.Regulation D สำหรับการเสนอขายผู้ลงทุนในประเทศ โดยกำหนดวงเงินระดมทุน คุณสมบัติของผู้ลงทุน และการโฆษณาเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป และมี lock-up period ที่ห้ามเสนอขายในตลาดรองตามระยะเวลาที่กำหนด

 2.Regulation S สำหรับการเสนอขายผู้ลงทุนต่างประเทศโดยไม่จำกัดวงเงินระดมทุนและคุณสมบัติของผู้ลงทุน และสามารถโฆษณาเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปได้และมีระยะเวลา lock-up period สั้นกว่า Regulation D

 3.Regulation A+ กำหนดวงเงินระดมทุนไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถซื้อขายในตลาดรองได้ทันที โดยบริษัทต้องส่งงบการเงินที่ได้รับการรับรอง และส่งรายงานการดำเนินงานให้ ก.ล.ต. เป็นประจำ โดยการที่มี STO จะทำให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแข่งขันกันนำผลิตภัณฑ์มาเสนอให้ผู้ลงทุนซื้อขายมากขึ้น ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากขึ้น และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ในขณะที่ Custodian หรือ Clearing house ยังมีลักษณะเดิม เนื่องจากยังใช้กฎเกณฑ์หรือโครงสร้างแบบเดิมที่ใช้อยู่ในศูนย์ซื้อขายในปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลที่นักลงทุนให้ความสนใจและเข้าลงทุนนั้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นบิทคอยน์ เนื่องจากมี First Mover Advantage และมีสภาพคล่องสูงที่สุด ขณะเดียวกัน อีเทอเรียมก็มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่าบิทคอยน์ เนื่องจากการเติบโตของ DeFi ทำให้อีเทอเรียมก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย

“โดยสุดท้ายอยากฝากถึงหน่วยงานกำกับดูแลว่ามีผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้มาก และในเรื่องภาษีที่เป็นภาระของผู้ลงทุน ได้แก่ Capital Gain และ Income Tax ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้”

ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลได้เริ่มต้นจากการเกิดขึ้นของ Bitcoin ที่มีการใช้งานในลักษณะของการชำระเงิน (Payment) และการเก็บรักษามูลค่า (Store Of Value) ต่อมาได้เกิด Ethereum ที่มาพัฒนา Tokenization ด้วยเทคโนโลยี Smart Contractนำไปสู่การระดมทุนกว่า 3,000 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 US dollar

อย่างไรก็ดี หลายโครงการอาจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ตามที่สัญญาต่อผู้ลงทุนหรือเป็นโครงการที่หลอกลวง และในปี 2562-2563 หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ลงทุนทั่วโลกเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่กลุ่มสินทรัพย์ (Asset Class) กลุ่มใหม่ แต่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มาประยุกต์ใช้กับการระดมทุนแบบเดิมและได้มีการออกกฎหมายมากำกับดูแลทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น สินทรัพย์ดิจิทัลจึงมีความชัดเจนและได้รับความสนใจมากขึ้น

“ในประเทศไทย ความสนใจใน Tokenization อยู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด โดยมีลักษณะของ Profit Sharing ของรายได้ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ (Rental Income) ในขณะที่สินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจ เช่น ทองคำ อาจทำผ่านการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle - SPV) เพื่อถือทองคำและออก Gold-Backed Token หรือการออก Utility Token แทนทองคำ เช่น ร้านทองคำที่ออกโทเคนให้ลงทุนแทนการถือทองคำ และสามารถนำโทเคนไป Redeem เป็นเงินสดได้”

นอกจากนี้ การระดมทุนผ่านการออกโทเคนเพื่อนำเงินทุนมาสร้างโครงการ และเมื่อรับรู้รายได้หรือมีกระแสเงินสดจะจ่ายเป็นผลตอบแทนของการถือโทเคน เช่น การขนส่งสาธารณะหรือการสร้างภาพยนตร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ตลาดนี้เติบโตในประเทศไทยมองว่ามี 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) การให้ความรู้ผู้ลงทุนเพื่อให้เข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถวิเคราะห์ผลตอบแทนและความเสี่ยง  (2) ความชัดเจนของกฎหมาย การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย  (3) การสนับสนุนโดยให้ incentives เช่น ความชัดเจนของกฎหมายด้านภาษี ทั้งการระดมทุนด้วย Investment Token Utility Token หรือการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขาย หรือการสนับสนุนโดยการลดภาษี

ขณะที่ กุลรัตน์ ผ่องสถาพร ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวถึงการ Tokenization นั้นว่าโดย Concept ในทางทฤษฎีจะใช้ทรัพย์สินชนิดใดก็ได้นำมาทำ Tokenization แต่ในความเป็นจริงจะมีข้อจำกัดทั้งในด้านต้นทุน และกฎหมาย การ Tokenization ที่สามารถทำได้เช่น การนำโรงแรม หรือคอนโดฯ มาทำ Tokenization แล้วแบ่งรายได้ให้แก่ผู้ถือโทเคน หรือการให้ผู้ถือโทเคนนำโทเคนมาใช้บริการ การทำ Tokenization นั้นสามารถทำได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น

เกษตรกรรม เกษตรกรสามารถออกโทเคนเพื่อระดมเงินทุนไปทำเกษตรกรรม แล้วให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือโทเคน อาจเป็นเงิน หรือสินค้า

ศิลปิน หนังเพลง ออกโทเคนเพื่อนำเงินไปสร้างผลงาน ผลตอบแทนสำหรับผู้ถือจะเป็นรายได้ หรือให้มาใช้บริการ นอกจากนี้ อาจออกเป็นแฟนโทเคน ให้แฟนคลับกำหนดทิศทางการจัดกิจกรรมของเหล่าศิลปิน ซึ่งในปัจจุบันก็มีการออกแฟนโทเคนมาแล้วและประสบความสำเร็จ คือ สโมสรบาร์เซโลนา

นักสะสม ก็สามารถนำ fine art, wine, เพชร มาทำ Tokenization เป็น NFT ได้

อุตสาหกรรมพลังงาน  เช่น พลังงานสะอาด หรือ solar cell ก็นำมาเทรดแบบ P2

ทอง น้ำมัน อัญมณี 

ในส่วนของพัฒนาการทางด้านกฎหมาย จะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) Existing Paradigm คือในช่วงก่อนหน้านี้ในช่วงที่ ICO มีออกมาเยอะ ในตอนนั้นจะเป็นการทำกฎหมายให้ชัดเจนมากขึ้น ปกป้องนักลงทุน มีการกำกับดูแลตัวกลาง (2) New Paradigm ดูในมุมมองที่กว้างขึ้น โดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกกฎหมาย “Federal Act on the Adoption of Federal Law to Developments in DLT” เพื่อแก้ Federal Acts ทั้งหมด 9 ฉบับ ที่เกี่ยวกับหนี้ ทรัพย์สิน หลักทรัพย์ เพื่อรองรับกับการออกและ Transfer ผ่านเทคโนโลยี DLT

“โดยปัจจุบันมีการออกโทเคน Signum ที่เป็นการลงทุนใน Wine นอกจากนี้ประเทศลิกเตนสไตน์ได้ออกกฎหมาย “Token and Trusted Technology Service Provider Act” โดยมีนิยามโทเคนที่กว้างมาก เนื่องจากโทเคนสามารถใส่สิทธิอะไรเข้าไปก็ได้ ผ่านระบบ Trusted Technology ซึ่งเรียกโมเดลนี้ว่า Token Container Model โดยมี Physical Validator เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินเป็นการเชื่อมระว่างโลก Online กับ Offline” 

ทั้งนี้ กฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการ Tokenization ในมุมมองแบบกว้างนั้นมีกฎหมายอื่นๆ ที่จะเกี่ยวข้องอีกมาก เช่น กฎหมายทรัพย์สิน สิทธิในทรัพย์สินนั้น การโอนสิทธิ กฎหมายหลักประกัน จำนอง จำนำ จะต้องมีหลักประกันอย่างไรบ้าง กฎหมายภาษี การรองรับ Smart Contact ทางกฎหมาย นอกจากนี้แล้วการ Tokenization ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ใน Financial Sector ซึ่งใน Sector อื่นนั้นก็ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก

"รู้ทันการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี"

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจ BTC เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเข้าตลาดมาในช่วงโควิด-19 เพราะมองหาผลตอบแทนสูง ซึ่งตนเองขอเตือนว่าคริปโทฯ แม้ขาขึ้นจะสูง แต่ขาลงก็ลงหนักเช่นกัน แต่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจ โดยอาจจะแบ่งเงินเพียง 5% ของพอร์ตมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

ขณะที่ภาพรวมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐฯ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจความสนใจของชาวอเมริกัน พบว่า มีความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น โดยในปี 2563 มีผู้ตอบว่าสนใจร้อยละ 55 เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปี 2562 ที่มีผู้ตอบว่าสนใจร้อยละ 36 รวมทั้งมียอดบัญชีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย พบว่ามูลค่าการซื้อขายในเดือนมกราคม 2564 เติบโตเป็น 3-4 เท่า เมื่อเทียบช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2563 โดยร้อยละ 83 ของผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผู้ลงทุนที่เพิ่งเข้ามาในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ถึง 1 ปี และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะทำให้ความมั่งคั่งย้ายจากคนในยุค Baby Boomer (ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันมูลค่าประมาณ 68 ล้านล้านบาท) มายังรุ่นลูกและหลานในยุค Gen X และ Millennial ซึ่งมีความมั่งคั่งมากกว่าถึง 5 เท่า และมีความคุ้นเคยกับสินทรัพย์ดิจิทัล

สำหรับเรื่องความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซี มองว่า ไม่ได้อยู่ที่ตัวสินทรัพย์อย่างเดียว แต่อยู่ที่ตัวผู้ลงทุนด้วย สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาความรู้ลงทุนอย่างมีหลักคิดและบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และส่วนตัวมีเทคนิคลงทุนแบบ DCA 

ขณะที่ อัครเดช เดี่ยวพานิช ผู้ก่อตั้งเพจ Coinman และประธานกรรมการบริหาร บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด ได้แนะนำนักลงทุนซื้อขายเหรียญคริปโทผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยตัวเองโดยมองว่า ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ 

1.ผู้ลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดิมพันว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีอนาคต  

2.ผู้ลงทุนที่เป็นนักเทรด เน้นการซื้อขายดูกราฟเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด แต่รู้ความเสี่ยงหรือรู้จักหยุดขาดทุน (Stop Loss)  

3.ผู้ลงทุนที่มองหายิลด์เป็นหลัก เป็นกลุ่มที่เอาเงินเย็นมาหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูง และ ยังมีอีกกลุ่มที่ขอเรียกว่า นักพนัน ซึ่งมีคนกลุ่มนี้จำนวนมาก ส่วนตัวไม่แนะนำ แต่เข้าใจว่าห้ามยาก จึงอยากจะแนะนำกลุ่มไว้สักนิดว่าอย่าทุ่มหมดตัว นอกจากนี้ แนะนำให้ระวังการหลอกลวงให้ลงทุนหรือแชร์ลูกโซ่โดยแอบอ้างสินทรัพย์ดิจิทัลหรือแอบอ้าง ซึ่งหากมีการแอบอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงให้ระวังไว้ก่อน เพราะมีสิทธิที่จะถูกหลอกได้ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดให้ความสนใจ DeFi (Decentralize Finance) ซึ่งเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากและรับผลตอบแทนคล้ายกับการฝากเงินกับธนาคาร โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบการเงินที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลางหรือมนุษย์ในการทำธุรกรรม

ด้าน วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่บิทคอยน์ราคาพุ่งขึ้นในช่วงเดือน ม.ค. ไม่ใช่ครั้งแรก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์พยายามวิจัยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับก็พบว่า (1) การปรับเพิ่มขึ้นไม่ได้สัมพันธ์กับปัจจัยใดเลย มาจาก Sentiment เป็นส่วนใหญ่ (2) แนวโน้มราคาบิทคอยน์และคริปโทฯ เคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน ทั้งที่วิธีการสร้างแต่ละตัวไม่เหมือนกัน

ดังนั้น เวลาได้รับฟังอะไรมาต้องมองว่าสิ่งที่ฟังมานั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งพิสูจน์ได้ หรือเป็นข้อคิดเห็นที่มาจากประสบการณ์และมุมมอง โดยผู้ลงทุนต้องคิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน อยากให้คนที่เข้าตลาดเข้าใจก่อนลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ที่สำคัญต้องมีเงินเย็น เพราะราคาผันผวนสูงขึ้นลงตาม Sentiment เป็นสำคัญ การดูราคาที่เหมาะสม วิธีหนึ่งอาจไปดู “คุณค่าที่แท้จริง” ก็ได้ เช่น Return ของบริการบน ETH หรือประโยชน์ของเหรียญที่เคยเป็น ICO มาก่อน ต่อมาการดูปัจจัยและข้อเท็จจริงทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจที่ดี เทียบกับการซื้อตามเทรนด์หรือตามที่ Elon musk ทวีตทำให้เกิดผลต่อกระแสและราคา

“โดยที่ผ่านมา นิสิต จุฬาฯ สนใจคริปโทเคอร์เรนซีอย่างมาก มีการใฝ่หาความรู้ ตั้งชมรม และพัฒนา Stimulus แข่งกันเทรด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะนำเงินจริงไปลงทุนนั้น ก็อยากให้เป็นพื้นที่สำหรับคนที่พร้อมแล้วและเข้าใจลักษณะความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีเป็นอย่างดีถึงความผันผวนและความเสี่ยงที่อาจจะสูญเสียเงินทั้งก้อน” วรประภา กล่าวทิ้งท้าย

นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต.

ปรมินทร์ อินโสม กรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ปิ่นปราชญ์  จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด

วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กุลรัตน์ ผ่องสถาพร ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

สุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด ก.ล.ต.

อัครเดช เดี่ยวพานิช ผู้ก่อตั้งเพจ Coinman


กำลังโหลดความคิดเห็น