xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ โชว์ยอดผู้ใช้ K PLUS ครองอันดับ 1 ตั้งเป้าปีนี้แตะ 1.75 ล้านรายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสิกรไทย เผยไลฟ์สไตล์คนไทยยุคโควิด-19 ครองแชมป์ทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก สูงถึง 68.1% ต่อเดือน ดันยอดผู้ใช้งาน K PLUS มากถึง 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรม 14,500 ล้านรายการ เติบโตขึ้น 71% และมีผู้ใช้งานเป็นอันดับ 1 จำนวน 14.4 ล้านราย พบ 6 ฟีเจอร์ที่มีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรับกับไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายเลี่ยงเงินสด ลดการเดินทางนอกบ้าน ชอปออนไลน์ ได้แก่ ชอปผ่าน K+ market จัดพอร์ตการลงทุนอัตโนมัติด้วย Wealth PLUS โอนเงินไปต่างประเทศ สะสมคะแนน K Point เติมเงินผ่าน K PLUS และสแกนจ่ายผ่าน K PLUS QR Code ตั้งเป้าลูกค้าเพิ่มเป็น 17.5 ล้านรายภายในสิ้นปี 2564

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา K PLUS ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ลูกค้าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตอบรับกับไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบันที่ลดการเดินทางออกนอกบ้าน เลี่ยงจับเงินสด และใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมีจำนวนลูกค้าใช้งาน K PLUS มากถึง 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรมรวมทุกประเภท 14,500 ล้านรายการ เติบโต 71% และมีผู้ใช้งานรวม 14.4 ล้านราย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีฟีเจอร์ไลฟ์สไตล์ของ K PLUS ที่มีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ฟีเจอร์ K+ market มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 150% จากปีก่อน เป็นมาร์เก็ตเพลส แหล่งรวมดีล กิน เที่ยว ดื่ม ชอป โดยลูกค้าเลือกชำระเงินได้ 2 วิธี ได้แก่ ด้วยเงินสดจากบัญชีที่ผูกกับ K PLUS หรือใช้คะแนนสะสม K Point แทนเงินสดได้

ฟีเจอร์ Wealth PLUS มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 220% จากที่เปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2563 จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินมากยิ่งขึ้น โดย Wealth PLUS เป็นฟีเจอร์จัดพอร์ตกองทุนรวมให้อัตโนมัติ ตอบโจทย์ลูกค้าที่เริ่มต้นลงทุนหรือไม่มีเวลาดูพอร์ตเอง ฟีเจอร์โอนเงินไปต่างประเทศ ในเดือนธันวาคม 2563 มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันสามารถโอนเงินได้ 12 สกุลเงินหลักใน 30 ประเทศปลายทาง

K Point เป็นคะแนนสะสมรูปแบบใหม่ที่ลูกค้าสามารถสะสมได้ 2 วิธี ได้แก่ 1.จากการทำภารกิจ (Mission) ต่างๆ ผ่าน K PLUS เช่น โอน ถอน เติม จ่าย ในช่วงเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด 2.ผ่านการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทย โดยสามารถนำคะแนนสะสม K Point ไปใช้ได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ แลกซื้อสินค้าผ่าน K+ market ชำระบิล เติมเงิน หรือจ่ายสินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น

ฟีเจอร์การเติมเงินเข้า e-Wallet ต่างๆ เช่น Blue CONNECT, TrueMoney Wallet, GrabPay Wallet และเป๋าตัง ทั้งการเติมเงินจากบน K PLUS และการเติมเงินจากแอปของพันธมิตรที่สามารถเชื่อมต่อกับ K PLUS ได้อัตโนมัติ โดยลูกค้าไม่ต้องสลับแอป และไม่ต้องกรอกเลขเอง ซึ่งในปี 2563 มีการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 200% จากปีก่อน และการใช้ K PLUS QR Code สแกนจ่ายเงินที่ร้านค้า K PLUS shop ในปี 2563 มีจำนวนรายการเพิ่มขึ้น 125% จากปีก่อน โดยจำนวนรายการเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลังจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

"สิ่งที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ที่ระบุว่า ในปี 2563 คนไทยทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 68.1% ต่อเดือน ซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 74% และมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน ซึ่งกลยุทธ์ของธนาคารคือ ทำให้ K PLUS เป็น “Digital Lifestyle Ecosystem” ไม่ได้จำกัดการใช้แค่ในแอป K PLUS เท่านั้น แต่ไปอยู่ในทุกที่ ทุกเวลาที่ลูกค้าต้องการบริการทางการเงิน ทุกวันนี้ บริการของ K PLUS ได้เข้าไปอยู่ในทุกแอปที่ลูกค้าใช้เป็นประจำทุกวัน ทำให้ลูกค้าไม่ต้องสลับแอปเมื่อต้องการจ่ายเงินรวมถึงการขอสินเชื่อ"

นายพัชร กล่าวอีกว่า ธนาคารและบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ยังได้ดำเนินการวางโครงสร้างด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินปริมาณมหาศาลให้มีความปลอดภัย เพื่อรองรับการเติบโตของ K PLUS ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งาน K PLUS รวม 17.5 ล้านราย และมีจำนวนธุรกรรมทั้งหมดผ่าน K PLUS มากกว่า 24,600 ล้านรายการ ภายในปี 2564
กำลังโหลดความคิดเห็น