เคทีซีเผยคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้เคทีซีเข้าซื้อหุ้นสามัญของเคทีบี ลีสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ในสัดส่วน 75.05% จากธนาคารกรุงไทย ด้วยมูลค่าการลงทุน 594.396 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต สร้างโอกาสสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่ครบวงจรเบ็ดเสร็จ ทั้งสินเชื่อมีหลักประกันและสินเชื่อไม่มีหลักประกัน โดยจะขอมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในเดือนเมษายน 2564
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าลงทุนในบริษัท กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง จำกัด หรือ “เคทีบี ลีสซิ่ง” ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือธนาคารกรุงไทย ด้วยการซื้อหุ้นสามัญจำนวนทั้งสิ้น 75,050,000 หุ้น (เจ็ดสิบห้าล้านห้าหมื่นหุ้น) คิดเป็น 75.05% มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ในราคาหุ้นละ 7.92 บาท คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 594.396 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขการปรับปรุงราคาซื้อขายหุ้นในภายหลังให้เป็นไปตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ในขณะที่ธนาคารกรุงไทยยังคงถือหุ้นในสัดส่วน 24.95% โดยจะนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2564 เพื่อขออนุมัติเข้าทำรายการดังกล่าว โดยจะต้องได้รับมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน โดยไม่นับคะแนนเสียงในส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย และ ธนาคารกรุงไทยจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ เหตุผลในการเข้าซื้อ “เคทีบี ลีสซิ่ง” ในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต มีสาขาบริการตั้งอยู่ในหัวเมืองหลักของทุกภูมิภาคในไทย และสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ซึ่งจะช่วยเติมเต็มและสร้างโอกาสให้เคทีซีสามารถแตกไลน์ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันได้กว้างขวาง ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น ต่อยอดจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” เพื่อให้ทำธุรกรรมได้ครบวงจร ซึ่งเคทีซีได้เริ่มเบนเข็มทำธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
“การเข้าลงทุนใน “เคทีบี ลีสซิ่ง” จะทำให้บริษัทฯ ได้มาซึ่งฐานลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง และพันธมิตรธุรกิจที่จะก่อให้เกิดการผนึกกำลังสำคัญ ประกอบกับจุดแข็งของเคทีซีในการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพของทีมบริหาร บุคลากร และผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ จะเอื้อประโยชน์ให้เราสามารถพัฒนาองค์ความรู้ของทั้ง 2 องค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้แก่บริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มภายหลังจากการเข้าถือหุ้น”