รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2564 ทางธนาคารได้มีการสำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาธนาคาร สาขาไมโครภายในห้างสรรพสินค้ากว่า 1,000 แห่ง และช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีกว่า 10,000 จุดทั่วประเทศ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเงินสดของประชาชนสำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พร้อมสำรองธนบัตรใหม่บางส่วนสำหรับใช้เป็นเงินอั่งเปามอบเป็นธรรมเนียมในเทศกาลปีใหม่จีน พร้อมทั้งได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการเพิ่มความถี่ในการเติมเงินยังตู้บัวหลวงเอทีเอ็มเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย
นอกจากนี้ ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน หรือใช้บริการ e-อั่งเปา ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของธนาคารได้ตามปกติ เช่น บริการโมบายแบงกิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank Mobile Banking) และบริการบัวหลวงไอแบงกิ้ง (Bualuang iBanking) เพื่อร่วมปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) รวมไปถึงหลีกเลี่ยง และลดการสัมผัสวัตถุต่างๆ ลง โดยเฉพาะการสัมผัสธนบัตรและซองอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) แจ้งการสำรองเงินสดช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 9-14 กุมภาพันธ์ 2564 เขต กทม. จำนวน 7,720 ล้านบาท เขตภูมิภาค จำนวน 21,330 ล้านบาท แบ่งเป็นสาขา จำนวน 6,710 ล้านบาท และตู้ ATM จำนวน 22,340 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 29,050 ล้านบาท
ส่วนธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งเตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีน 9-12 กุมภาพันธ์ 2564 รวมทั้งสิ้น 36,200 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 18,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 11,500 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาค จำนวน 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 862 สาขาทั่วประเทศ
สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 8,200 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 17,700 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 7,800 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 9,900 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แจ้งได้เตรียมความพร้อมสำรองธนบัตรเพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้า จำนวน 50,000 ล้านบาท โดยเป็นการสำรองที่ลดลงจากปีก่อน แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร 22,500 ล้านบาท และในเขตต่างจังหวัด 27,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นตู้เอทีเอ็ม 28,000 ล้านบาท และสาขา 22,000 ล้านบาท เป็นธนบัตรฉบับใหม่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 812 สาขา และมีเครื่องเอทีเอ็มรวม 12,172 เครื่อง