xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ฯ หั่นเครดิต CPALL-MAKRO หนี้สูง โตช้า โบรกฯ รุมลดกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟิทช์ เรทติ้งส์ หั่นเครดิต CPALL-MAKRO จากเดิม A ลงเหลือ A - ทั้งคู่ มอง CPALL เจอผลกระทบโควิด-19 ทำรายได้สะดุด- หนี้จากการซื้อเทสโก้กดดัน ขณะที่ธุรกิจฟื้นตัวช้า ส่วน MAKRO บริษัทลูกโดนด้วย แต่ยังดูดีกว่า เพราะครองตลาดโมเดิร์นเทรดอยู่ ด้านโบรกเกอร์พร้อมใจเล็งหั่นเป้ากำไร ราคาเหมาะสมฯ ชี้ CPALL ถูดลดเครดิตเพราะกังวลหนี้สินพุ่ง หลังซื้อเทสโก้โลตัส อีกทั้งยอดขายลดลงจากผลกระทบโครงการ "คนละครึ่ง"

วานนี้ (4 ก.พ.) บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ว่า ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เหตุห่วงอัตราการลดลงของหนี้สินที่ช้าลง อีกทั้งธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าเนื่องจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 และผลกระทบในการถือหุ้นร่วมกันระหว่าง 2 บริษัท

ระบุ CPALL หนี้ยังสูงหลังซื้อเทสโก้ แถมโตช้าจากโควิด-19
 
ทั้งนี้ ฟิทช์ฯ ได้ลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ CPALL เป็น A-(tha) จาก A(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากอัตราการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ไม่น่าจะสอดคล้องกับอันดับเครดิตเดิม

เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างมาก หลังจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาในเดือน ธ.ค.63 ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสิ้นปีอยู่ในระดับต่ำ และฟิทช์เชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวน่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 64 โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL น่าจะอยู่ในระดับ 5.5 เท่าในปี 65 ซึ่งสูงกว่าระดับ 5.0 เท่าในประมาณการเดิม

สำหรับอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL เพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าลงทุนในสัดส่วน 40% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. (ต่อไปรวมกันเรียกว่า “เทสโก้ เอเชีย”) ในเดือน ธ.ค.63 ฟิทช์ไม่คาดว่าเทสโก้ เอเชีย จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ CPALL ในปี 64-65 เนื่องจากเทสโก้ เอเชียอาจต้องมีค่าใช้จ่ายลงทุนและภาระดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้ของบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อถือหุ้นของเทสโก้ เอเชียโดยตรง

คาดอัตราส่วนหนี้สิน CPALL ปีนี้อยู่ที่ 6 เท่า และ 5.5 เท่า ปี 65

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 6.6 เท่า ณ สิ้นปี 63 หลังจากการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ เอเชีย ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ในระดับ 6.0 เท่า ในปี 64 และ 5.5 เท่า ในปี 65 ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ‘A(tha)’ เนื่องจาก CPALL ได้ใช้เงินลงทุนจากการกู้ยืมจำนวนประมาณ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท) ในการลงทุนในสัดส่วน 40% ของ เทสโก้ เอเชีย ในขณะที่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อถือมีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดของเทสโก้ เอเชียโดยตรง จะมีการก่อหนี้อีก 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

คาดรายได้ปีนี้โต 7-8% ต่ำกว่าเดิมที่คาด 11-12%

ด้านรายได้ของ CPALL จะเติบโตในอัตรา 7-8% ในปี 64 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 11-12% เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.63 กระทบต่อการฟื้นตัวของจำนวนลูกค้า และความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 64 ด้วย โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายของ CPALL น่าจะอยู่ที่ 9-10% ในปี 65 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการมีวัคซีน และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำเกินกว่าที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ CPALL ลดลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตเดิมได้

ส่วนอัตราการเติบโตของยอดขายของร้าน 7-Eleven ในปี 64 น่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดร้านใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นหลัก ในขณะที่ยอดขายต่อร้านเดิม (Same Store Sales) ไม่น่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ฟิทช์เชื่อว่าการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนา น่าจะทำให้ร้านเปิดใหม่ใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิมที่จะทำให้ผลประกอบการมีกำไร

ขณะที่ธุรกิจค้าส่งของ MAKRO ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CPALL น่าจะได้รับผลกระทบในระดับที่น้อยกว่า เนื่องจากยอดขายที่ลดลงของกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA) น่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางออนไลน์และจากลูกค้าประเภทครัวเรือน

ด้าน EBITDAR Margin ของ CPALL จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 9.5% ในปี 64-65 หลังจากลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 9% ในปี 63 (ในปี 62 อยู่ที่ 10%) ทั้งนี้ เป็นผลจากยอดขายที่ลดลงในสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยากลำบากมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายคงที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้นโยบายการลดต้นทุนมีผลจำกัด อัตราส่วนกำไรของ CPALL ลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปิดร้าน 7-Eleven สาขาใหม่ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรสูงขึ้น รวมถึงสาขาในต่างประเทศของ Makro ซึ่งยังมีอัตรากำไรอยู่ในระดับต่ำในช่วงแรกของการเปิดดำเนินการ

MAKRO โดนหางเลขด้วย แต่มีสถานะทางเครดิตแข็งแกร่งกว่า


สำหรับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ทางฟิทช์ฯ ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ เป็น ‘A-(tha)’ จาก ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของ MAKRO เป็น ‘F2(tha)’ จาก ‘F1(tha)’

การปรับลดอันดับเครดิตของ MAKRO เป็นไปตามการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทแม่อย่าง CPALL เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตของทั้ง 2 บริษัทมีความเกี่ยวโยงกันในระดับปานกลางจากความเกี่ยวโยงกันในด้านการดำเนินงานในระดับปานกลางและความเกี่ยวโยงกันในด้านกฎหมายในระดับต่ำ โดยฟิทช์เห็นว่า Makro มีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้น Makro จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตเท่ากับสถานะเครดิตของกลุ่ม CP ALL ตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์ของฟิทช์เรื่อง Parent Subsidiary Linkage

โดยอันดับเครดิตของ MAKRO มีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะผู้นำทางการตลาดของ CPALL ในธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้านสะดวกซื้อประมาณ 60% โดยวัดจากจำนวนร้านค้า แต่ถูกลดทอนด้วยอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL ที่อยู่ในระดับสูง โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 5.5 เท่า ถึง 6.0 เท่าในปี 64-65

มอง MAKRO มีอัตราส่วนหนี้สินต่ำ คาดรายได้ปีนี้โต 5.6%

ส่วนสถานะเครดิตโดยลำพังของ MAKRO ได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับ A(tha) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่ (Modern-Trade Food Wholesale) ของประเทศไทย และอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ

สำหรับรายได้ MAKRO คาดว่าจะเติบโตของรายได้ประมาณ 3% ในปี 63 และ 5-6% ต่อปีในปี 64 โดยกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA) น่าจะอ่อนแออย่างต่อเนื่องในปี 64 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทย และแนวโน้มการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่น่าจะช้ากว่าที่คาดไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบดังกล่าวได้รับการบรรเทาจากยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากลูกค้าประเภทครัวเรือน ซึ่งหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน รวมถึงมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความสะอาดปลอดภัยของอาหารจากการรับประทานอาหารนอกบ้านและการซื้ออาหารในตลาดสด

นอกจากนี้ ยอดขายของ Makro ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการให้บริการแบบ Omni Channels และยอดขายที่เพิ่มขึ้นของสาขาต่างประเทศ ซึ่งสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่งในท้องถิ่นได้มากขึ้น ทำให้ยอดขายสินค้าทางออนไลน์ของ MAKRO เพิ่มขึ้นเป็น10% ของยอดขายรวมในปัจจุบัน (จาก 7% ในช่วงกลางปี 63)

ด้าน EBITDA Margin ของ MAKRO น่าจะลดลงในปี 63-65 เนื่องจากสัดส่วนยอดขายของสาขาในต่างประเทศที่สูงขึ้น โดยยอดขายดังกล่าวมีอัตราส่วนกำไรที่ต่ำในช่วงแรกของการดำเนินกิจการ

ขณะที่อัตราส่วนหนี้สิน FFO adjusted net leverage ของ MAKRO น่าจะเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.3-1.5 เท่า อัตราส่วนหนี้สินของ MAKRO ยังคงอยู่ในระดับต่ำตั้งแต่ปี 62 ซึ่งเป็นผลจากการที่ Makro ได้ชะลอการขยายสาขาในต่างประเทศ เนื่องจากมีอุปสรรคในการหาทำเลที่ดีสำหรับการขยายสาขา รวมถึงบริษัทฯ มุ่งเน้นการปรับปรุงความสามารถในการสร้างรายได้และประสิทธิภาพของสาขาที่ได้เปิดไปแล้วให้สูงขึ้น ในขณะที่การระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้แผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศยิ่งชะลอออกไป เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ

โบรกฯ เล็งหั่นกำไร CPALL ปีนี้ มองคนละครึ่งกระทบโดยตรง

นายเอกสิทธิ์ คุณาดิเรกวงศ์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี กล่าวว่า การที่บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ประเมินไว้ 2 กรณี คือ

กรณีแรกจากผลประกอบการ เนื่องจาก CPALL อยู่กลุ่มค้าปลีก จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการคนละครึ่ง โดยยอดขายของเซเว่นฯ ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งถ้าโครงการคนละครึ่งขยายไปอีกกลางปี หรือ สิ้นปีนี้ ยอดขายเซเว่นฯ ก็จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป กำลังซื้อประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันกำไร และรายได้ของ CPALL สะท้อนไปยังราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง

อีกกรณี คือ ภาระหนี้สินที่ CPALL เข้าไปซื้อเทสโก้ โลตัส เพิ่มสูงขึ้น ทั้งภาระดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินที่ต้องแบกรับในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้หนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2 เท่า จากเดิม 1 เท่า ก็เป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจว่ากระบวนการของ CPALL จะเป็นอย่างไรต่อไป หรือใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยลด D/E หรือไม่

ขณะที่ราคาหุ้นแกว่งตัว sideway แต่ระยะกลางจะปรับตัว downside กำไรน่าจะฟื้นตัวในปีหน้า โดยปัจจัยที่ฟิทช์หั่นเรทติ้งลง ยังไม่ได้รวมปัจจัยนี้เข้าไป แต่เชื่อว่าจะส่งผลให้ต้องปรับกำไรลง ซึ่งตอนนี้ยังคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 72 บาท แต่ยังแนะนำซื้อ

โนมูระคงมุมมองเดิม คาดเห็นกำไรค่อยๆฟื้นตัว y-y ใน 2Q21F

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า กรณีที่ CPALL ถูกปรับลดอันดับเครดิตองค์กรลงเป็น A- จากเดิม A มีมุมมอง Slightly negative sentiment จากความกังวลต่อกำลังซื้อที่แย่ลงหลังมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ไม่มีผลต่อประมาณการและราคาเชิงปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากความกังวลดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งประเด็นการถูกลดอันดับเครดิต CPALL ก็เคยเกิดมาแล้วในช่วง ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย TRIS ก็ได้ปรับลดอันดับเครดิตลงเป็น A+ จากเดิม AA- ซึ่งได้สะท้อนประเด็นดังกล่าวไปแล้ว โดยปรับสมมติฐาน i) SSSG ปี 21F ลงเหลือ +5% จาก +6.5% และ ii) ต้นทุนดีลซื้อเทสโก้สูงขึ้นจากคาดเดิม +10-20 bps เป็น 4.6-4.7%)

ยังคงมุมมองเดิมคาดเห็นกำไรค่อยๆ ฟื้นตัว y-y ใน 2Q21F ตามอานิสงส์ SSSG ฐานต่ำ ในขณะที่ช่วงโมเมนตั้ม 4Q20F-1Q21F อาจถูกกดดันจาก SSSG ที่ยังติดลบ -15-20% เพราะอากาศเย็นและการบริโภค-การท่องเที่ยวซบเซาอยู่ แต่แนะนำ BUY โดยมี TP21F ที่ 68 บ. ด้วยประเด็นราคาหุ้น laggards กว่ากลุ่ม ปัจจุบันซื้อขายเพียง PER -1 SD , ii) ผลการดำเนินงานของ CPALL ที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเป็นหลัก

ธนชาตยังคงราคาเป้าหมายที่ 68 บาท

นายอดิศักดิ์ ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ธนชาต เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยไม่ได้กังวลด้านหนี้สินของ CPALL เพราะบริษัทมีการแจ้งมาโดยตลอดว่าจะเข้าซื้อเทสโก้ โลตัส ซึ่งทำให้ D/E ปรับตัวสูงขึ้น แต่จะส่งผลกระทบต่องบการเงินที่อ่อนแอลง เนื่องจากเทสโก้ โลตัส ประสบปัญหามาก่อนช่วงโควิด-19 โดยรายได้ค่าเช่าฟื้นตัวช้า ทำให้ CPALL ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ประกอบกับโครงการคนละครึ่ง แม้จะได้ประโยชน์ทางอ้อม แต่หากมีการขยายโครงการออกไปเรื่อยๆ นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ยอดขายในร้านเซเว่นฯ จะยิ่งได้รับผลกระทบ สะท้อนไปยังราคาหุ้นก็ฟื้นตัวช้าเช่นกัน ซึ่งปีนี้ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรเติบโต 10% โดยยังไม่รวมเทสโก้ โลตัส เข้ามา

ดังนั้น เชื่อว่ากำไรปรับลงแน่นอน เพราะมีปัจจัยลบมากขึ้น ทั้งโควิด-19 กำลังซื้อนักท่องเที่ยว โดยยอดขายที่ปรับลงมากกว่า 2 หลัก แต่ยังให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 68 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น