บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ หันไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์ การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ โดยประกาศเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินใช้ลงทุน
TWZ แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เพิ่มทุนจำนวน 6,604.45 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 10 สตางค์ จากราคาพาร์ 10 สตางค์ กำหนดชะระค่าหุ้นระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคมนี้
การเพิ่มทุนครั้งนี้สำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 8,586 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 83.23% ของทุนจดทะเบียน เพราะถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่จองซื้อหุ้นใหม่ แผนระดมทุนกว่า 600 ล้านบาทคงล้มพับ
ราคาหุ้น TWZ ที่ซื้อขายบนกระดานต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุน โดยเคลื่อนไหวแถว 8 สตางค์มาพักใหญ่ และรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น TWZ เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 10 สตางค์ และเคยต่ำสุดที่ 5 สตางค์ ราคาหุ้นที่ซื้อขายในกระดานจึงไม่จูงใจจองซื้อหุ้นใหม่
และเหลือเพียงปัจจัยเดียวที่เป็นจุดขายการเพิ่มทุนรอบนี้คือ การปรับโครงสร้างธุรกิจ จากการเป็นผู้จำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ข้ามฟากไปสู่ธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การทำธุรกิจนอนแบงก์
แต่บริษัทจะทำได้ขนาดไหน เพราะธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแม้จะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง แต่บริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ได้ศึกษาและพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว และบางบริษัทกำลังเริ่มผลิตออกสู่ตลาด
TWZ จะพัฒนาสู้บริษัทอื่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีเงินทุนจำกัด
ส่วนการทำธุรกิจนอนแบงก์การแข่งขันสูงมาก มีนอนแบงก์ขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากอยู่แล้ว TWZ จะมีความสามารถในการแข่งขันขนาดไหน
ถ้าพิจารณาจากผลประกอบการของ TWZ ถือเป็นบริษัทที่ไม่น่าสนใจนัก โดยราคาหุ้นที่ทรงๆ ทรุดๆ เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ดี เพราะหลายปีที่ผ่านมาผลกำไรจากการดำเนินงานน้อยมาก และไม่จ่ายเงินปันผลมาหลายปี ขณะที่ค่าพี/อี เรโช สูงลิบกว่า 400 เท่า
กลุ่มนายพุทธชาติ รังคสิริ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TWZ โดยถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 16% และ ยังไม่มีคำยืนยันว่า กลุ่มนายพุทธชาติ จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครบถ้วนหรือไม่
สำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยยังไม่อาจประเมินได้ว่า จะใช้สิทธิการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนขนาดไหน เพราะถ้าต้องการถือหุ้น TWZ เพิ่มสามารถซื้อในกระดานด้วยราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ โดยไม่มีเหตุผลในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน
และถ้านักลงทุนไม่มีความมั่นใจว่า TWZ จะประสบความสำเร็จการธุรกิจใหม่ ไม่เชื่อว่า ฝ่ายบริหารบริษัทจะบุกเบิกการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ ไม่เชื่อว่าจะเข้าไปแข่งขันในธุรกิจนอนแบงก์ได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นเพิ่มทุนหรือแม้แต่หุ้นในกระดาน นักลงทุนก็คงไม่ซื้อ
การที่ TWZ จะฝังตัวเองกับธุรกิจเดิมๆ บริษัทคงตกอยู่ในสภาพตายซากต่อไป ดังนั้น การปรับโครงสร้างธุรกิจโดยหันไปสู่ธุรกิจที่กำลังเป็นดาวรุ่ง มีแนวโน้มการเติบโตสดใสจึงเป็นสิ่งที่ดี
เพียงแต่นักลงทุนอาจไม่เชื่อว่า การระดมทุนครั้งใหม่ในวงเงินเพียง 600 ล้านบาทเศษ จะเพียงพอสำหรับการบุกธุรกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรุกเข้าไปในธุรกิจนอนแบงก์
แต่การระดมทุนครั้งนี้อาจเพียงพอสำหรับการชำระหนี้และการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อประคับประคองบริษัทให้อยู่ต่อไปเท่านั้น
การประกาศรุกผลิตรถไฟฟ้า หรือรุกเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์ฟังแล้วดูดี ฟังแล้วดูเหมือน TWZ จะมีอนาคตขึ้น
แต่ถ้าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรุกเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์ ทำได้ง่ายและช่วยพลิกฟื้นผลประกอบการบริษัทได้จริง บริษัทจดทะเบียนที่สภาพธุรกิจตายซากคงแห่กันลุยผลิตรถไฟฟ้า หรือเปลี่ยนธุรกิจไปสู่นอนแบงก์กันหมดแล้ว
ดังนั้น การประกาศรุกผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือการรุกธุรกิจนอนแบงก์จึงอาจไม่ใช่จุดขาย ในการระดมทุนของ TWZ ในครั้งนี้
และนักลงทุนดูไม่ตื่นเต้นกับข่าวการปรับโครงสร้างธุรกิจของ TWZ สักเท่าไหร่ ราคาหุ้นบนกระดานจึงแทบไม่ขยับ
การเพิ่มทุนของ TWZ ครั้งนี้คงจะเหนื่อย เพราะแทบไม่มีแรงจูงใจ ใดที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยถมเงินใส่ TWZ เพิ่มอีก