xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรมลักชัวรี กทม.-ภูเก็ตอ่วมหนัก ลุ้น Q4 ปลดล็อกดาวน์เปิดรับต่างประเทศฟื้นธุรกิจโรงแรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจแต่ละครั้ง หากสังเกตให้ดีจะพบว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยระดับบน ไม่จะเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียม หรือ บ้านไฮเอนด์ บ้านและคอนโดฯ ระดับลักชัวรี ไปจนถึงระดับซูเปอร์ลักชัวรีคือกลุ่มแรกๆ ที่ตื่นตัวจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมีการปรับตัวไว้เป็นกลุ่มแรกๆ และเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยกลุ่มนี้อีกเช่นกันที่ฟื้นตัวและกลับมาขยายตัว ทั้งด้านการขายและการลงทุนก่อนกลุ่มอื่นๆ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นและกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

ลักษณะการปรับตัวและฟื้นตัวดังกล่าว ไม่ใช่แค่กลุ่มที่อยู่อาศัยเพียงกลุ่มเดียว แต่ตลาดระดับบนของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม 5 ดาว และโรงแรมระดับลักชัวรี ไปจนถึงซูเปอร์ลักชัวรีก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่มีรูปแบบเดียวกันกับตลาดที่อยู่อาศัย และสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีความความใกล้ชิดกับธุรกิจ และเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่มองเห็นสัญญาณ หรือสัมผัสได้ถึงแนวโน้มธุรกิจต่างๆ ได้ก่อนกลุ่มลูกค้าในตลาดอื่นๆ เช่น กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน นักวิเคราะห์ และกลุ่มผู้บริหารธุรกิจ ตลอดจนถึงกลุ่มเศรษฐี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในครั้งนี้มีความต่างออกไปจากทุกวิกฤตที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยของการเกิดวิกฤตในครั้งนี้คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์และควบคุมได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ และมาตรการจากรัฐบาลของแต่ละประเทศในการแก้ปัญหาและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์ประเทศของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ตราบใดที่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศยังไม่สามารถควบคุมได้ โอกาสที่ตลาดท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวก็ยังคงต้องรอกันต่อไป

สถานการณ์เช่นนี้เรียกได้ว่าปิดโอกาสในการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมเลยทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมระดับบน หรือระดับลักชัวรี เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการปลดล็อกดาวน์และเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ กลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรมระดับบนก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการได้

ขณะที่สถานการณ์ตลาดโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ หัวเมืองรอง และเมืองท่องเที่ยวขนาดเล็ก รวมถึงโรงแรมรอบพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล เช่น โรงแรมในหัวหิน พัทยา ระยอง บางแสน เขาใหญ่ กลับเป็นกลุ่มโรงแรมที่ยังสามารถประคลองตัวให้ผ่านพ้นภาะววิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปได้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศจากรัฐบาล

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้บริโภคที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ แต่ไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ในช่วงนี้ เพราะทุกๆ ประเทศต่างประกาศล็อกดาวน์ ไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าวหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในจังหวัดหัวเมืองรอง ที่ได้รับการโปรโมตจากรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้กลุ่มโรงแรมขนาดเล็กยังคงมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวได้ ต่างจากโรงแรมขนาดใหญ่ระดับบนที่ต้องหยุดบริการชั่วคราวทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลดีต่อโรงแรมขนาดเล็กในเมืองท่องเที่ยว เมืองหลักและเมืองรองมากกว่า โรงแรมขนาดใหญ่ หรือโรงแรมระดับบน เนื่องจากกลุ่มโรงแรมระดับบนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. บริเวณสุขุมวิทตอนต้น ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยโรงแรมระดับลักชัวรีกว่า 40% ของโรงแรมทั้งหมดในพื้นที่ตามมาด้วยเขตลุมพินี 22% สีลมและสาทร 15% และริมแม่น้ำ 16% ส่วนเมืองท่องเที่ยวขาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และสมุย ซึ่งกลุ่มโรงแรมระดับบนเหล่านี้ต้องยังรับว่ากลุ่มลูกค้าหลักคือชาวต่างชาติ ทำให้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่รัฐบาลผลักดันออกมานั้นส่งผลดีกับโรงแรมขนาดเล็กมากกว่า

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัทฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัทฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศหายไป นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้ามาประเทศไทยปีละเกือบ 40 ล้านคนในปี 62 แล้วมาลดลงไปกว่า 80% ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าช่วงเดือนตุลาคมจะมีการเปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางข้ามาในประเทศไทยได้บ้างแต่ก็มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 62 อีกทั้งชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังต้องกักตัว 14 วันในโรงแรมที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น จึงมีเพียงชาวต่างชาติจำนวนเพียง 4,266 คนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 63 แน่นอนว่าธุรกิจการท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมที่พักต่างๆ ไปต่อไม่ได้

รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไทยที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวทดแทนการเดินทางไปต่างประเทศ มีผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ เพิ่มขึ้นมาถึงมากกว่า 70% อีกครั้งหลังจากเจอวิกฤตไวรัสโควิด-19 ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ก็ยังคงต่ำกว่า 40% จังหวัดที่พึ่งพาชาวต่างชาติเป็นหลักอย่างภูเก็ตลดลงเหลือประมาณ 10-12% เท่านั้น และคนที่เข้าพักก็เป็นคนไทยเกือบ 100% ทางเลือกที่ผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมรีบดำเนินการทันทีเลย คือ การปิดกิจการชั่วคราว ให้พนักงานทั้งหมดหยุดงานไปก่อนทันที เพื่อลดค้าใช้จ่ายทั้งหมด หรือการเข้าร่วมเป็นโรงแรมเพื่อรองรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้วาจะได้ค่าบริการไม่มากแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้เลย ผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมใดที่มีภาระหนี้สินกับธนาคารก็คงต้องเปิดการเจรจากับธนาคารเจ้าของหนี้สินทันที เพื่อเลี่ยงการเป็นหนี้เสียของธนาคาร แต่ก็มีหลายแห่งตัดสินใจประกาศขายกิจการ

คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด
นายคาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 63 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมเข้ามาท่องเที่ยวประมาณ 6.7 ล้านคน ลดลงถึง 83% จาก 39.9 ล้านคน ในปี 62 เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระหว่างเดือนเมษายน ถึงกันยายนปี 63 ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ของปี 63 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 10,822 คน ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวแบบพิเศษระยะยาว ซึ่งต้องกักตัว 14 วัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 63 ส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออก คิดเป็น 56% ตามมาด้วยยุโรป 31% และอีกประมาณ 20% มาจากจีน ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุด

ในเดือน ก.ค.ปี 63 รัฐบาลไทยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในภายประเทศ และเป็นการพยายามชดเชยบางส่วนจากการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ มาตรการดังกล่าว คือการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย 40% ของราคาห้องพักปกติเป็นจำนวน 5 ล้านสิทธิ ซึ่งโรงแรงส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ในช่วงวันหยุดยาว เช่น โรงแรมในพัทยา และหัวหิน เป็นต้น ในขณะที่โรงแรมระดับลักชัวรีเสนอแพกเกจ "staycation" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยส่วนลดพิเศษต่างๆ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปี 62 ทำให้ตลาดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยในปี 63 มีอัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยของโรงแรงระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ เพียง 27% อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 63 มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 50% และลดลงไปต่ำสุดที่ 20% ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 63 โดยอัตราดังกล่าวมาจากแพกเกจ Staycations และโครงการสถานที่กักตัวทางเลือก ขณะที่ภาครัฐอนุมัติให้กรุงเทพฯ เป็นจุดเข้าออกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เนื่องจากอัตราการเข้าพักที่ต่ำ ทำให้บางโรงแรงหยุดให้บริการจนกว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว

ในปี 63 อัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวันของโรงแรงระดับลักชัวรีลดลง 12% เฉลี่ยอยู่ที่ 4,486 บาท ส่งผลมาจากส่วนลดพิเศษต่างๆ ที่เสนอให้แก่นักท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และในสภาวะที่อัตราการเข้าพักต่ำโรงแรมบางแห่งจึงได้ปิดตัวลงชั่วคราว


ขณะที่ตลาดโรงแรมลักชัวรียังประสบปัญหาการเข้าใช้บริการจากกลุ่มลูกค้าหลัก ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ยังมีโรงแรงระดับลักชัวรีเปิดใหม่ 4 แห่งในกรุงเทพฯ ทำให้มีจำนวนโรงแรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1,162 ห้อง ได้แก่ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์กรุงเทพ จำนวน 301 ห้อง โรงแรมสินธรเคมปินสกี้กรุงเทพ จำนวน 285 ห้อง โรงแรมสินธรมิดทาวน์กรุงเทพ จำนวน 475 ห้อง และโรงแรม เดอะ คาเพลลากรุงเทพ จำนวน101 ห้อง ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจ ขณะที่การเปิดตัวของโรงแรมอื่นๆ ในกลุ่มอัปสเกลและมิดสเกล รวมอยู่ที่ 985 ห้อง ได้แก่ กรุงเทพ ไชน่าทาวน์ จำนวน 224 ห้อง ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก จำนวน 196 ห้อง โรงแรมซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9 กรุงเทพ จำนวน 445 ห้อง และเดอะ ควอเตอร์ เพลินจิต จำนวน 129 ห้อง

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยมีโรงแรม 2
แห่ง เลื่อนการเปิดให้บริการรวมทั้งหมด 413 ห้อง ซึ่งได้แก่ โรงแรม โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส มหานคร จำนวน 154 ห้อง และ โรงแรม ชไตเกนเบิร์กเกอร์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ จำนวน 259 ห้อง นอกจากนี้แผนการพัฒนาโรงแรมใหม่ในปี 63 ยังถูกเลื่อนออกไปอีกหลายแห่ง ทำให้ ณ ปัจจุบัน โรงแรมระดับลักชัวรีในพื้นที่ กทม.มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 20,555 ห้อง ณ สิ้นปี 63


นายคาร์ลอส กล่าวว่า ในขณะที่ตลาดโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ในเมืองที่องเที่ยวสำคัญได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักในโรงแรมลดลง และส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกาะภูเก็ต ซึ่งมีธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ต โดยมีสัดส่วนกว่าของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ทั้งหมดในภูเก็ต จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงในไตรมาสแรก 33.8% เปรียบเทียบปีต่อปีอยู่ที่ 1.06 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดมีปริมาณลดลง เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวนอกประเทศในเดือนมกราคม ปี 63 สภาวะตลาดซบเซาทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายจำต้องหยุดดำเนินธุรกิจและโรงแรมบางแห่งเสนอส่วนลดราคาห้องพัก จัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายและแพกเกจต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าภายในประเทศ

ทั้งนี้ จากผลวิจัยไนท์แฟรงค์ประเทศไทย พบว่า หาดป่าตองมีโรงแรมระดับลักชัวรีและอัปสเกล มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 24% ของอุปทานรวมทั้งหมด ตามมาด้วยกะรน 15% บางเทา 14% กะตะ 13% และกมลา 10% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 63 มีโรงแรมอัปสเกลใหม่เพียงแห่งเดียวที่เปิดให้บริการในภูเก็ต คือ โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท เพิ่มจำนวนห้องพักเข้ามาในตลาดอีก 600 ห้อง โครงการนี้ตั้งอยู่ในหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ ทำให้จำนวนห้องพักโรงแรมระดับลักชัวรีและอัปสเกลในภูเก็ตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 22,461 ห้อง ณ ครึ่งแรกของปี

เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมลักชัวรีและอัปสเกลลดลงไป 22% ปีต่อปี อยู่ที่ 38% การปิดสนามบินนานาชาติภูเก็ตชั่วคราวในเดือนเมษายนปี 63 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำที่สุด และส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายต้องหยุดกิจการจนกว่าตลาดจะฟื้นตัว ราคาเฉลี่ยที่พักรายวันของโรงแรมระดับลักชัวรี และอัปสเกลลดลงไป 6% ปีต่อปี อยู่ที่ 3,840 บาท ซึ่งการปรับลดลงครั้งนี้เป็นระดับราคาที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา


นายคาร์ลอส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นคาดการณ์ว่าจะสร้างสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในปี 63 แต่น่าเสียดายที่มันอยู่ในระดับต่ำสุดแทน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส-19 โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 63 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรุงเทพฯลดลงจนเหลือ 0 ส่งผลให้ความต้องการห้องพักในโรงแรมลดลงอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าตลาดโรงแรมหรูในกรุงเทพฯ พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างสูง การพึ่งพาการท่องเที่ยวภายในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ทำให้โรงแรมหลายแห่งเลือกที่จะปิดธุรกิจบางส่วนหรือ ทั้งหมด จนกว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัว

จากทิศทางดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้ในส่วนของโรงแรมที่เปิดให้บริการยังคงไม่ดีนัก มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพียง 20% ส่วนใหญ่มาจากแพกเกจ Staycation และนักท่องเที่ยวต่างชาติจากโครงการกักตัวทางเลือก ทำให้สถานะการยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ในเดือนมกราคม 64 อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความหวังการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะเริ่มใช้ในประเทศไทยและทั่วโลก คาดว่าจะเห็นจุดฟื้นตัวของภาคโรงแรมในปลายปี 64 หรืออาจเป็นต้นปี 65

ขณะที่รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยับขึ้นเป็น 8 ล้านคนในปี 64 และจะค่อยๆ ฟื้นตัวจนถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ภายในปี 67 ชายแดนไทยยังไม่เปิดจนกว่าการใช้วัคซีนจะประสบความสำเร็จ
โดยรัฐบาลไทยคาดว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศไทยจะได้รับฉีดวัคซีนภายในสิ้นปี 64 โดยในสถานการณ์นี้ อัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวันอาจปรับลดลงอีก เนื่องจากผู้ประกอบการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

“การท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวในช่วงต้นปี 64 นี้ เมื่อข้อจำกัดด้านการเดินทางผ่อนคลายลง การกลับมาฟื้นตัวจะเริ่มจากนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันก่อน พร้อมกับการเดินทางเชิงธุรกิจ ตามมาด้วยการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติและธุรกิจ MICE ที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจการจัดการประชุมขององค์กร การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดการประชุมนานาชาติ และการจัดการแสดงสินค้าและนิทรรศการ อัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอาจจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 64 โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซันในไตรมาสสุดท้าย หากมีการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทาง”


กำลังโหลดความคิดเห็น