บล.เอเซียพลัส ประเมินหุ้นกลุ่มรับเหมาฯ ปี 64 ปัจจัยบวกเพียบ ทั้งโครงการรัฐเปิดประมูลมากกว่าปีก่อน ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ขณะที่ Backlog ทั้งกลุ่มรวมกันถึง 4 แสนล้านบาท จะหนุนรายได้ถึง 1.8 แสนล้านบาท แต่ระวังอัตรากำไรยังต่ำ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังกดดัน ระบุ หากโควิด-19 ไม่คลี่คลายจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เหตุต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 18-25% ของต้นทุนการก่อสร้าง แต่ชู STEC เด่นสุดในกลุ่ม ให้ราคาเป้าหมาย 18 บาท หลังแนวโน้มการเติบโตของกำไรชัดเจนในปีนี้ และยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS เปิดเผยในบทวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนรายเดือน ก.พ.64 ว่า หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างในปี 64 มีหลายปัจจัยบวกที่พร้อมจะสนับสนุน ทั้งโครงการลงทุนภาครัฐเดินหน้า หลังเตรียมเปิดประมูลทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่ ด้าน New S-Curve หลายบริษัทกำลังจะกลับมา
ปีนี้ประมูลโครงการรัฐมากขึ้น ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่
ปัจจัยแรกที่จะหนุนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง คือโครงการลงทุนภาครัฐจะกลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอีกครั้งในปีนี้ หลังปี 63 การเปิดประมูลหลายโครงการไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะโครงการระบบรางทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่ที่แทบไม่เห็นความคืบหน้า โครงการที่เปิดประมูลส่วนใหญ่เป็นงานของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนักและไม่ใช่เป้าหมายหลักของบริษัทรับเหมาก่อสร้างในตลาดหลักทรัพย์ โดยมูลค่างานเปิดประมูลใหม่ในปี 63 ที่ฝ่ายวิจัยเก็บรวมรวมมีเพียง 37,465 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของ Action Plan กระทรวงคมนาคมทั้งหมดเท่านั้น
สำหรับปีนี้เชื่อว่าจะเห็นการเดินหน้าเปิดประมูลที่เป็นรูปธรรมมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการของ รฟม. ที่ได้เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาแล้ว คือรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ที่เปิดประมูลในรูปแบบ PPP Net Cost ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลว่าจะนำคะแนนจากซองเทคนิคมาร่วมพิจารณาพร้อมกับซองราคาหรือไม่ ถัดมาจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ที่คาดว่าจะขายเอกสารประกวดราคาในเดือน ก.พ.64
ส่วนโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มเห็นความคืบหน้างานประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ร่าง TOR
ตุน Backlog ทั้งกลุ่มรวม 4 แสนล้านบาท กินยาว 2 ปี
ทั้งนี้ หากพิจารณางานในมือ (Backlog) ปัจจุบันของบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ 12 แห่งภายใต้ Coverage ของฝ่ายวิจัยมีรวมกัน 4 แสนล้านบาท เพียงพอรองรับรายได้ระดับ 1.8 แสนล้านบาท/ปี ได้อีกประมาณ 2 ปี ทั้งนี้ Backlog ดังกล่าวยังไม่ได้รวมงานก่อสร้างที่บริษัทรับเหมาขนาดใหญ่มีโอกาสเซ็นสัญญาเข้ามาในปีนี้
เช่น CK ที่เตรียมรับงานก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การลงทุนของ CKP มูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ส่วน STEC ในฐานะที่เป็น exclusive contractor โครงการสนามบินอู่ตะเภา ก็จะเข้าไปรับงานอาคารผู้โดยสารมูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท สำหรับ ITD โอกาสจะเข้าไปรับงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท ต่อจากกลุ่ม CP ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการส่งมอบพื้นที่และออกแบบ
ชี้ปัจจัยเสี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงาน หากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย
อย่างไรก็ดี อัตรากำไรที่ทำได้ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลัง ถือเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เกิดจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และการเข้ามาของผู้รับเหมาจีน เห็นได้จากราคาที่ผู้ชนะประมูลเสนอต่ำกว่าราคากลางเกินกว่า 20% ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟไทย-จีน หรือทางด่วนดาวคะนองพระราม 3 รวมไปถึงการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของหลายบริษัทอย่าง TTCL, ITD การปรับเพิ่มประมาณการต้นทุนก่อสร้างของ STEC
อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องระวังในปีนีคือปัญหาแรงงานขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานพม่าจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศไทยได้ หลังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหญ่ในพม่า ทำให้ด่านชายแดนหลายแห่งต้องถูกปิด โดยข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวพบว่าเดือน พ.ย.63 มีแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติที่ทำงานก่อสร้างรวมกันอยู่ที่ 4.1 แสนคน ลดลงจากช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีอยู่ 5.6 แสนคน
แม้ว่าปัจจุบันประเด็นนี้ยังไม่สร้างปัญหามากนักเพราะหลายโครงการใหญ่ยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้าง แต่หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายและโครงการก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 18-25% ของต้นทุนการก่อสร้าง
ชู STEC เป็น Top Pick ให้เป้า 18 บาท
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุนเท่าตลาด เชื่อว่ากระแสเชิงบวกจากโครงการลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเลือก STEC (ราคาเป้าหมาย 18 บาท ) เป็นหุ้น Top Pick โดย STEC ถือเป็นตัวแทนหุ้นรับเหมาใหญ่ที่มี Backlog รองรับรายได้ล่วงหน้าเกือบ 3 ปี และมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ชัดเจนในปีนี้ จากสัดส่วนงานที่ให้ margin สูงอย่างโรงไฟฟ้า IPP ที่จะเข้ามาทดแทนงานก่อสร้างรัฐสภาที่ไม่มีกำไร ทำให้กำไรปี 64 เติบโต 34% จากปีก่อน นอกจากนี้ STEC ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยเป็น Net Cash และมี Valuation ที่น่าสนใจมาก โดยมีค่า PBV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ถึง 53%