xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผหุ้นอสังหาฯ ได้เฮ รับรัฐต่ออายุลดค่าโอน-จดจำนอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์มองกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รับอานิสงส์เชิงบวก หลังรัฐต่ออายุลดภาษีที่ดิน ค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง จนถึงสิ้นปี 64 ชี้ช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและลดค่าใช้จ่ายกับผู้ซื้อ ระบุ LPN-PSH-SPALI-SENA-AP-LH เฮได้ประโยชน์มากสุด

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 1) การลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% และให้จัดเก็บจริงเพียง 10% และ 2) ขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน จากเดิม 2% ของราคาประเมิน และค่าจดจำนองจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลืออย่างละ 0.01% สำหรับมูลค่าที่อยู่อาศัยใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีผลถึง 31 ธ.ค.64

ทั้ง 2 มาตรการน่าจะสร้าง Sentiment เชิงบวกให้แก่กลุ่มอสังหาฯ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือธุรกิจอสังหาฯ และลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้บางส่วน

ทั้งนี้ การลดค่าธรรมเนียมโอน และจดจำนองเหลือ 0.01% เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่คนซื้อบางส่วน โดยภายใต้การลดค่าธรรมเนียมทั้ง 2 รายการเหลือ 0.01% ทำให้คนซื้อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 19,850 บาทสำหรับบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท (ปกติค่าธรรมเนียมโอนอยู่ในอัตรา 2% หรือ 2 หมื่นบาท โดยแบ่งคนละครึ่ง หรือ 1 หมื่นบาทสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อมีการปรับลดเหลือ 0.01% หรือฝั่งละ 0.05% ทำให้ผู้ซื้อประหยัดไป 9,950 บาท

ส่วนค่าจดจำนองปกติเป็นภาระของผู้ซื้ออย่างเดียว หากลดเหลือ 0.01% จากเดิม 1% ของวงเงินกู้ ดังนั้น หากกู้เต็ม 100% ทำให้เกิดการประหยัดไปอีก 9,900 บาท) ดังนั้น กรณีซื้อบ้านมูลค่าราคา 3 ล้านบาท และกู้เต็ม 100% (บ้านหลังแรก) จะทำให้ผู้ซื้อประหยัดค่าธรรมเนียมโอน 29,850 บาท และจดจำนอง 29,700 บาท รวมค่าใช้จ่ายลดลงทั้งสิ้น 59,550 บาท หรือจ่ายเพียง 450 บาท

ช่วยระบายสต๊อกคงค้างผู้ประกอบการ เลือก AP-ORI-LH เป็น Top Picks

อย่างไรก็ดี ฝั่งผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET แม้ไม่ได้ประโยชน์จากค่าใช้จ่ายในการโอนที่ลดลงอย่างมีนัย เนื่องจากพอร์ตสินค้าส่วนใหญ่มีราคาเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป แต่ก็มีบริษัทที่ยังมีฐานสินค้าในกลุ่มนี้อยู่บ้าง ได้แก่ LPN, PSH, QH, SENA และ SPALI เป็นต้น

ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น เช่น SIRI, NOBLE, ORI และ LH ก็เริ่มมีการขยับพอร์ตสินค้าใหม่สู่กลุ่มราคาระดับล่าง (Affordable Price) มากขึ้น ย่อมมีโอกาสได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ด้วยเช่นกัน หากมีสินค้าเสร็จพร้อมโอนในปีนี้

ทั้งนี้ การมีมาตรการดังกล่าวคาดช่วยให้ Backlog รวมสิ้น 3Q63 ระดับ 2.65 แสนล้านบาท (รวม JV 1 แสนล้านบาท) โดยเป็นส่วนที่พร้อมส่งมอบปีนี้ราว 9 หมื่นล้านบาท ที่เข้าข่ายเกณฑ์ราคาตามมาตรการสามารถโอนได้ง่ายขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการที่มีอยู่รวมเกือบ 6 แสนล้านบาท (เป็นสต๊อกคอนโดฯ สร้างเสร็จ 1 แสนล้านบาท)

โดยฝ่ายวิจัยเลือกหุ้น Top Picks ในกลุ่ม ใช้เกณฑ์ทั้ง Backlog สูง พื้นฐานธุรกิจแข็งแรง รวมถึงให้ปันผลสูงกว่า 6% ได้แก่ AP (FV@B8.35), ORI (FV@B8.94) และ LH (FV@9.30)

ดีบีเอสฯ ชี้ผู้ประกอบการที่มีโครงการเข้าเกณฑ์ได้ประโยชน์

ด้าน บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ประเมินมาตรการนี้จะเกิดประโยชน์กับเฉพาะผู้ประกอบการที่มีสินค้าบ้านและคอนโดที่เข้าข่าย เช่น PSH, LALIN, SENA, LPN, PRIN เป็นต้น

แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีราคาบ้านมากกว่านี้ก็จะไม่ได้ประโยชน์ แนะนำ ซื้อ สำหรับ LALIN, SENA รับปันผลสูง เก็งกำไร PRIN ส่วน PSH และ LPN แนะนำเชิงลบคือ เต็มมูลค่า (Fully Valued) สำหรับนิคมฯ แนะนำซื้อทั้ง AMATA, ROJNA และ WHA

เคจีไอมอง LPN-PSH-SPALI รับผลบวก

บล.เคจีไอ มีมุมมองเชิงบวกเล็กน้อยจากการขยายเวลาของมาตรการดังกล่าว ในแง่ของผู้ซื้อรายใหม่ นโยบายดังกล่าวอาจไม่มีนัยสำคัญที่จะกระตุ้นกำลังซื้อ เนื่องจากธนาคารยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ในแง่ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการโอน นโยบายดังกล่าวย่อมช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม พบว่าโครงการที่อยู่อาศัยที่เปิดขายในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้ทำโปรโมชัน “ฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอน” ให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว คาด LPN, PSH และ SPALI มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์เชิงบวกมากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม

โนมูระ-หยวนต้า เชียร์ SPALI-LPN-AP

ขณะที่ ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ชี้เป็นจิตวิทยาบวกต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แนะสะสม SPALI, AP เป็น Top Picks

ส่วน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองเป็น Sentiment เชิงบวกจากการลดจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นกลุ่มราคาเสนอขายต่ำกว่า 3 ล้านบาทในระยะสั้น เช่น LPN SPALI เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น