หลังจากสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 79.50 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา หุ้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ก็ถูกเทขาย ราคาปรับฐานลงแรง จนวันศุกร์ที่ 22 มกราคม ปิดที่ 63.50 บาท และมีแนวโน้มที่จะดิ่งลงอีก
การปรับฐานของ KTC เกิดจากราคาที่พุ่งแรงมากเกินไป กระตุ้นให้เกิดการเทขายทำกำไร และแม้จะปรับตัวลงจากจุดสูงสุดแล้วประมาณ 20% แต่ค่าพี/อี เรโช ยังอยู่ที่ประมาณ 30 เท่า ซึ่งถือว่าสูงอยู่
นักลงทุนที่ถือหุ้น KTC ไว้ ถ้าไม่ชิงขายหุ้นทำกำไรในช่วงที่ราคาหุ้นพุ่งทะยาน ถือว่าทิ้งโอกาสที่ดีอย่างน่าเสียดาย
และคนที่น่าเสียดายที่สุดคือ นายมงคล ประกิตชัยวัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ KTC ด้วยจำนวนหุ้น 388.66 ล้านหุ้น หรือถือหุ้นในสัดส่วน 15.07% ของทุนจดทะเบียน
แต่ถ้าดูจากรายงานการถือครองล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 นายมงคล ได้ซื้อหุ้นเพิ่มอีกประมาณ 0.3% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 15.37% ของทุนจดทะเบียน
นายมงคล ทยอยเก็บหุ้น KTC มาตั้งแต่ปี 2555-2556 และถือเพื่อการลงทุนระยะยาวจริง โดยมีการขายออกและซื้อกลับบ้าง แต่เป็นจำนวนเพียงเล็กๆ เท่านั้น
ในฐานะที่ถือหุ้นเกิน 5% ของทุนจดทะเบียน นายมงคล จึงมีหน้าที่ต้องรายงานการจำหน่ายหรือการได้มาซึ่งหุ้น KTC โดยไม่ว่าจะซื้อเพิ่มหรือขายออก จำนวนกี่หุ้นก็ตาม ต้องรายงานให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับทราบ
แตกต่างจาก นายสถาพร งามเรืองพงศ์ หรือเซียนฮง นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ KTC อันดับ 3 จำนวนหุ้น 128.50 ล้านหุ้นหรือ 4.98% ของทุนจดทะเบียน จึงไม่ต้องแจ้งการได้มาหรือจำหน่ายหุ้น
แต่ถ้ารวมหุ้นที่นางมณีรัตน์ งามเรืองพงศ์ ถืออีกจำนวน 17.07 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 0.66% กลุ่มนายสถาพร จะถือหุ้นเกิน 5% และต้องรายงานการซื้อหรือขายหุ้น KTC เช่นเดียวกับนายมงคล
นายสถาพร ถือหุ้น KTC เพื่อการลงทุนระยะยาวเหมือนกัน แม้ยังไม่ถือยาวเท่านายมงคล แต่การที่ไม่ถือหุ้นเกิน 5% อาจถือเป็นกลยุทธ์ เพราะถ้าขายหุ้นออกก็ไม่มีใครรู้ความเคลื่อนไหว และขณะนี้ไม่รู้ว่า นายสถาพร ได้ขายหุ้นทำกำไรออกไปหรือยัง
ส่วนนายมงคล เกือบ 7 เดือนแล้วที่ไม่ซื้อไม่ขายหุ้น KTC แม้จะขึ้นมาสูงสุดที่ 79.50 บาท ก็ไม่มีรายงานการขายหุ้นออก
การที่นายมงคล ไม่ชิงโอกาสขายหุ้น ทำให้เสียโอกาสทำกำไรงามๆ เพราะคิดเป็นส่วนต่างระหว่างราคาสูงสุดที่ 79.50 บาท กับราคาปิดเมื่อวันที่ศุกร์ 22 มกราคมที่ผ่านมา นายมงคล รวยลดลงกว่า 6 พันล้านบาท
หรือคิดจากการที่ราคาหุ้น KTC ร่วงแรง 3 วันติด คือ ระหว่างราคาปิดวันที่ 19 ธันวาคมที่ราคา 77 บาท เทียบกับราคาปิดวันศุกร์ที่ 22 มกราคมที่ราคา 63.50 บาท โดยราคาลดลง 13.50 บาท กำไรจากหุ้น KTC จะลดลง 5,246.91 ล้านบาท
แม้นายมงคล จะมีต้นทุนหุ้น KTC เฉลี่ยประมาณ 3 บาท และปัจจุบันมีกำไรอยู่ประมาณ 23,513.93 ล้านบาท แต่ กำไรที่หายไป 5-6 พันล้านบาท ภายในเวลาไม่กี่วันคงทำให้คิดเสียดายบ้างเหมือนกัน
ส่วนต่างกำไร 5-6 พันล้านบาท เป็นใครก็ต้องรู้สึกหวั่นไหว ยิ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยทั่วไปยิ่งรู้สึกเสียดายหนัก
เพราะเพียงชั่วพริบตา กำไรหลุดลอยไปถึงประมาณครึ่งหมื่นล้านบาท ชาตินี้คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว
แต่สำหรับนายมงคล คงทำใจได้ เพราะตั้งมั่นที่จะลงทุนระยะยาวกับ KTC ขึ้นมาขนาดไหน มีกำไรระดับ 3 หมื่นล้านบาทก็ยังไม่ยอมขาย และคงไม่สะทกสะท้านการปรับฐานระยะสั้น
ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ตามแห่เก็งกำไร KTC รอบนี้ขายไม่ทัน คงกินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายวัน