BGRIM ยัน ADB ขายบิ๊กล็อต 2% แค่ปรับพอร์ตภายใน เผยเตรียมขอกู้เพิ่ม 300 ล้านดอลล์ ลงทุนโครงการใน-ตปท. ขณะที่คาด Margin ปีนี้แตะ 28-29% จาก 26% ในปี 63 หลังรายได้พุ่ง-ต้นทุนลด ล่าสุด มีเงินสดในมือ 2 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุนปีนี้ที่ 50,000 ล้านบาท สำหรับใช้ซื้อกิจการ และก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ส่วนดีลซื้อโรงไฟฟ้ามาเลเซีย-เวียดนาม เลื่อนเป็นกลางปีนี้
นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริการการเงินและบัญชี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ขายหุ้นบริษัทผ่านกระดานบิ๊กล็อต จำนวน 2.01% ออกมาเนื่องจาก ADB มีความจำเป็นต้องปรับพอร์ตภายในเพื่อให้สามารถมีวงเงินในการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่ม BGRIM ในอนาคต
ทั้งนี้ คนที่เข้ามาซื้อหุ้น BGRIM จาก ADB นั้น ส่วนใหญ่เป็นกองทุนในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ บลจ.กสิกรไทย บลจ.ภัทร บลจ.ทิสโก้ และ บลจ.กรุงศรี รวมถึงมีกองทุนในต่างประเทศอีกหลายราย
"ที่ผ่านมา ADB สนับสนุนสินเชื่อให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกกรีนบอนด์มูลค่า 5,000 ล้านบาท สินเชื่อสีเขียวโครงการโซลาร์ในเวียดนาม มูลค่า 3,000 ล้านบาท รวมถึงเรามีแผนจะขอวงเงินกู้จาก ADB เพิ่มอีกประมาณ 200-300 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคต" นายนพเดช กล่าว
คาดปีนี้ EBITDA Margin เพิ่มเป็น 28-29% ตั้งงบลงทุน 5 หมื่นล้านบาท
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 64 บริษัทคาดว่า EBITDA margin จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 28-29% จากปี 63 ที่อยู่ระดับ 26% ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีโครงการใหม่เพิ่มอีกประมาณ 800-1,000 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบกับการฟื้นตัวของโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัทยังมีลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีก 70 MW รวมถึงอานิสงส์จากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงในระดับต่ำและประสิทธิภาพในการบริหารโรงไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ที่ 50,000 ล้านบาท สำหรับใช้ซื้อกิจการและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนงาน โดยแหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งจะมาจากสินเชื่อโครงการประมาณ 70-75% และส่วนของทุนอีกราว 25-30% ซึ่งในส่วนของเงินทุนของบริษัทนั้นจะนำมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้
ขณะที่ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะมีเงินทุนเพียงพอ หลังปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือเกือบ 20,000 ล้านบาท และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับต่ำเพียง 1.1 เท่า รวมถึงบริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ภายในปีนี้อีกประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท
สำหรับการซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในประเทศมาเลเซีย ขนาดกำลังผลิตประมาณ 200-350 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานลมใหม่ในเวียดนามจำนวน 1-2 โครงการ ขนาดกำลังผลิตรวม 100-200 MW คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนได้เป็นช่วงกลางปีนี้ ซึ่งเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะจบดีลได้ภายในช่วงไตรมาส 1/64
" จากผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้บางประเทศมีการล็อกดาวน์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในประเทศไทยขนาดกำลังผลิตรวม 300-360 MW ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเช่นกัน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี BGRIM กล่าว