xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ เฟ้นหา 'น่านน้ำใหม่' เสริมรายได้ เทเม็ดเงินรุกแนวราบหัวเมืองหลัก รายใหญ่จ่อเทกฯ โครงการรายย่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ได้แพร่กระจายไปยังหลายจังหวัด ซึ่งเป็น "ปัจจัยเสี่ยง" ที่ยังคงเข้ามาซ้ำเติมและบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีที่ผ่านมา มีผลให้ภาพของนักลงทุนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะเวลาดังกล่าวปรับตัวและฟื้นดีขึ้น!!

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ระลอกใหม่ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ แม้จะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก เนื่องจากการออกมาตรการควบคุมล็อกดาวน์ในแต่ละจังหวัด แต่ก็มีแนวโน้มที่ ธปท.จะปรับลดประมาณการจีดีพี ปี 2564 จากที่ 3.6% ในปีนี้ ลงมาอยู่ระดับ 3.2% ขณะที่ปัจจัยบวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคงจะเลื่อนการเข้ามาปลายปี 2564 และตัวเลขคงไม่ได้สูงเหมือนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินไว้

แม้แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้เผยแพร่ออกมา ทำให้เห็นภาพต่อการลงทุนในระยะ 6 เดือนแรกของปีนี้ที่ยังคงระมัดระวังในการพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกปี 64 นี้ ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปรับลดลงจากการสำรวจช่วงปลายปี และยังต่ำกว่าค่ากลาง 50% ต่อเนื่องมาหลายไตรมาส


กางแผนปี 64 'ดีเวลลอปเปอร์' ขยับลงทุน
ลุยฝ่าสึนามิโควิด-19 ระลอกใหม่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่จะกระตุกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคธุรกิจให้ลดต่ำลงต่อ ซึ่งในภาพความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ ต่างก็ระมัดระวังในการลงทุน เพื่อบริหารสภาพคล่อง และลงทุนโครงการต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จในภาวะที่ยังเกิดโควิด-19 และเศรษฐกิจที่อ่อนตัวอย่างมาก

โดย "ผู้จัดการ360" ได้รวบรวมแผนธุรกิจของบริษัทอสังหาฯ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) และบริษัทนอกตลาดหลัทรัพย์ฯ โดยพบว่า ภาพรวมส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนการลงทุนใน 'ตลาดแนวราบ' เป็นคีย์หลักของการลงทุนในปีนี้ แต่ตลาดคอนโดฯ ก็ใช่ว่าจะหดหายไป ผู้ประกอบการยังคงเปิดตัวโครงการ แต่สัดส่วนคงไม่มากมายเหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนหลักๆ จะมาจากผู้ประกอบการายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ยังครองส่วนแบ่งตลาดในด้านการลงทุนและหน่วยเปิดใหม่ที่ออกสู่ตลาดในปี 64 กลยุทธ์มีทั้งการรุกตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และเปิดฐานลูกค้าใหม่ๆ ในตลาดต่างจังหวัด จากตัวเลข 14 บริษัทที่รวบรวมจะมีการเปิดโครงการใหม่ 158-160 โครงการ มูลค่ากว่า 204,690 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะ บมจ.อสังหาฯ มูลค่าการเปิดโครงการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของมูลค่าที่เปิด (14 บริษัท) (แต่ทั้งนี้ต้องติดตามในส่วนของ LPN, AP, SIRI, ANAN)

ประเด็นที่น่าสนใจ ภาพรวมการเปิดโครงการของบริษัทอสังหาฯ จะเปิดตัวลดลงซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทั้งโครงการและมูลค่าการเปิดโครงการในปีนี้ลดลงในสัดส่วนไม่มากประมาณ 20% เป็นต้น หรือแม้แต่บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตทฯ เดิมมีเป้าหมายเปิด 30-35 โครงการ มูลค่า 30,000-35,000 ล้านบาท ล่าสุดในปีนี้เปิด 29-30 โครงการ มูลค่า 29,000 ล้านบาท (พิจารณาตารางประกอบ)

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
LPN Wisdom มอนิเตอร์ปัจจัยเสี่ยง คาดติดลบ 15-18%

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาฯ ในเครือบริษัทแอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ส่งผลต่อเนื่องต่อธุรกิจอสังหาฯ ในปี 64 โดย LPN Wisdom ได้มีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และมีแนวโน้มที่รุนแรงกว่าในรอบแรก ทำให้บริษัทต้องมีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาฯในปีนี้

โดยแบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ (Scenario) โดยคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาฯ จะติดลบ 3% ถึงเติบโตได้ 10% ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล ได้แก่

สถานการณ์แรก (Best Case) รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และวัคซีนเข้าถึง 50% ของประชากรไทยภายในปี 2564 ในกรณีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4-5% จะทำให้มีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของอสังหาฯ 13-15% และจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 9-10% เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ในตลาดหลายรายได้ระบายหน่วยคงค้างไปได้จำนวนมากในปี 2563 จะเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ในด้านของกำลังซื้อ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2564 โดยประมาณการว่า จะมีอัตราการระบายอสังหาฯ จะอยู่ที่ 6,500 หน่วยต่อเดือนหรือขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563

สถานการณ์ที่สอง (Base Case) รัฐควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเดือนเมษายน ในกรณีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2-3% คาดว่ามูลค่าเปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้น 5-6% จำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้น 7-9% และกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 คาดการณ์ว่าอัตราการระบายอสังหาฯ จะอยู่ที่ 6,000-6,300 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 0-5%

และ สถานการณ์ที่สาม (Worst Case) จะเป็นกรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือควบคุมได้หลังไตรมาส 2 ของปี 64 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทรงตัวหรือเติบโตต่ำกว่า 2% จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ ทั้งมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มที่จะติดลบ 15-18% และจำนวนหน่วยอสังหาฯ เปิดตัวใหม่ติดลบ 8-12% อัตราการระบายอสังหาฯ ลดลง 3-5% เหลือเฉลี่ย 5,700-5,800 หน่วยต่อเดือน

สาดแคมเปญลดกระหน่ำ ขอมีตัวเลขยอดโอน Q1

ขณะที่ภาพรวมอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 37% หรือ จากเปิดตัว 111,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 448,000 ล้านบาท เหลือ 70,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 276,000 ล้านบาท โดยโครงการบ้านพักอาศัยในปีที่ผ่านมา เปิดตัวคิดเป็นสัดส่วน 63% เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2562 หรือมีการเปิดตัวบ้านพักอาศัยในปี 2563 ทั้งสิ้น 44,001 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 205,578 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 เพียง 4%

ในขณะที่คอนโดฯ ในปี 2563 มีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงถึง 60% มูลค่าเปิดตัวลดลง 70% จากเปิดตัวทั้งหมดในปี 2562 คิดเป็นจำนวน 64,639 หน่วย เหลือ 26,125 หน่วยในปี 2563 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาระบายหน่วยคงค้างคอนโดฯ ที่มีจำนวน 94,000 หน่วยในปลายปี 2562 และชะลอการเปิดตัวคอนโดฯ ใหม่

ในขณะที่กำลังซื้อในปี 2563 มีอัตราการระบายอสังหาฯ อยู่ที่ 6,000 หน่วยต่อเดือน ลดลงไม่มากประมาณ 25% เนื่องจากด้วยกลยุทธ์สงครามราคาเป็นเหตุผลสำคัญ

"ยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ ส่งผลต่อความไม่แน่ใจในรายได้ในอนาคตของผู้บริโภค ทำให้แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในไตรมาสแรกของปี 2564 น่าจะทรงตัว ซึ่งผู้ประกอบการเริ่มออกมาตรการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง"

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม
"ศุภาลัย" ชูกลยุทธ์เจาะแนวราบ
โฟกัส 'รายได้ต่อหัว-ชุมชนเมือง'


นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) (SPALI) เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดในปี 2564 ว่า "สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ คือ เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งความเรียบร้อยของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะเป็นคีย์หลักที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกัน ทำให้กลับมาสู่ภาวะปกติ เราต้องมองว่า ภาคอสังหาฯ เป็นเซกเตอร์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ภาคอสังหาฯ ยังต้องการตัวช่วยจากภาครัฐ ปีที่ผ่านมา ตลาดแนวราบ หรือแม้แต่คอนโดฯ ก็ติดลบทั้งคู่ คาดว่าปี 64 ภาพรวมการเปิดตัวคอนโดฯ ใหม่ยังมีน้อยอยู่ ตัวเลขการขอยื่น EIA มีค่อนข้างน้อย เป็นสัญญาณให้เห็นว่า คอนโดฯ ใหม่ในปี 64 คงจะไม่มาก ส่วนของศุภาลัย เปิดคอนโดฯ อยู่ แต่ไม่มากเหมือน 3-4 ปีที่ผ่านมา เราคงเน้นโฟกัสแนวราบ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด การจะมีคนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยจะเพื่อท่องเที่ยว หรือลงทุน จะมีส่วนช่วยยอดขายคอนโดฯ เช่นกัน ผมหวังว่า คอนโดฯ ปีที่ผ่านมาจะถึงจุดต่ำสุด"


มั่นใจลูกค้า ตจว.ตอบรับบ้านหลังใหญ่ 10 กว่าล้านบาท

สำหรับวิธีการและการเลือกทำเลในการเปิดโครงการในต่างจังหวัดนั้น นายไตรเตชะ แชร์ไอเดียให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า มองหลายด้าน พูดง่ายๆ คือ ปกติ บริษัทศุภาลัยฯ ไม่ได้มองที่จำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว แต่มองที่จำนวนประชากรที่มีกำลัง มีความสามารถในการซื้อบ้านได้ เช่น รายได้ต่อหัว หรือมองที่ชุมชนเมือง ซึ่งมีส่วนสำคัญ เนื่องจากเราไม่ได้ทำโครงการไปทั่วทุกอำเภอ แต่เราเลือกเฉพาะอำเภอเมือง หรือส่วนกลางของแต่ละจังหวัด แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางจังหวัด เช่น จังหวัดระยอง และชลบุรี ที่อาจจะมีหลายจุดต้องเข้าไปพัฒนาโครงการ ซึ่งจังหวัดส่วนใหญ่ความเจริญจะรวมศูนย์ ดังนั้น เราจะดูจำนวนประชาชกรที่มีกำลังซื้อ ซึ่้งมองว่า บ้านระดับราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทปลายจนไปถึง 4-5 ล้านบาทจะเหมาะสมกับกำลังซื้อในตัวเมือง

"ปีนี้เราจะลงทุนในจังหวัดที่เพิ่งขยายฐานเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก หรือจังหวัดระยอง ที่ศุภาลัยยังทำโครงการน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับศักยภาพของจังหวัดระยอง การที่เราเข้าไปดูตลาดเพื่อหาโอกาสเพิ่มโครงการในจังหวัดเหล่านี้ เราเลือกลงทุนเพิ่มใน อยุธยา และพิษณุโลก แม้จะเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรไม่มากเท่ากับจังหวัดอื่นๆ แต่มีประชากรที่มีกำลังซื้อเพียงพอและอยู่ในเขตเมือง เราคงเน้นจังหวัดเหล่านี้มากกว่าไปจังหวัดใหม่ ทุกจังหวัดที่เราไป มีครบทุกโปรดักต์ เช่น ระยอง มีทาวน์โฮมระดับราคาล้านปลาย ไปจนถึงบ้านราคา 10 กว่าล้านบาท จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมมีโปรดักต์ทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยว ราคา 5-6 ล้านบาทเป็นหลัก แต่หากเรามองศักยภาพของจังหวัด และเปิดในทำเลที่ดีขึ้น ก็สามารถทำบ้านใหญ่ขึ้นระดับ 10 กว่าล้านบาทได้ ซึ่งเราเตรียมจะเปิดตัว ลูกค้าให้การตอบรับที่ดีมาก เราคงไม่มองว่า จังหวัดนี้เหมาะกับโปรดักต์แบบนี้ แต่เราจะมองดูว่า ลูกค้าในจังหวัดนั้นๆ มีความสามารถในการซื้อสินค้าในระดับไหน ต้องการอะไรบ้าง ทางศุภาลัยจะวางสินค้าให้ตรงกับความต้องการ ส่วนจังหวัดที่อ่อนแอ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต จะเปิดโครงการแต่จะน้อยลง ระมัดระวัง ใช้เวลาที่น้อยลง"

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์
พัฒนา 'คอนโดฯ' เจอโจทย์ยากขึ้น! แบงก์ยังตั้งการ์ดสูง

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) (RICHY) เปิดเผยถึงทิศทางของตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2564 ว่า ภาคอสังหาฯ มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นเซกเตอร์ที่ช่วยให้เกิดการจ้างงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคการส่งออก มีวงจรของการผลักดันรอบการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งรัฐบาลน่าจะใช้ภาคอสังหาฯ ช่วยในการขับเคลื่อนการบริโภคภายประเทศ ขณะที่หนี้สาธารณะของรัฐบาลยังไม่ได้มากจนเกินไปและมีช่องในการก่อหนี้จากการขยายเพดานของตัวเลขหนี้สาธารณะ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายให้มากขึ้น

"พูดความจริงตอนนี้ ไม่สามารถคิดอะไรล่วงหน้าได้ยาว หรือเป็นทำแผนธุรกิจได้หลายปี แม้แต่ปี 64 ยังคิดยาก เปรียบเหมือนการให้ยารักษาตามอาการตามโรค ดูตามสถานการณ์มากกว่า เราไม่รู้ว่าฝุ่นจะจางเมื่อไหร่ เพราะตอนนี้ภาวะโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จะทรง ลดลงเมื่อไหร่ ถ้าใครจะบอกว่าปีหน้าจะขยายหรือหดตัวก็เร็วไปที่จะพูด เพราะตอนนี้เป็นภาวะวิกฤต ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อ และจิตวิทยา พอฟังข้อมูล คนก็ชะลอไปท่องเที่ยวพัทยา ระยอง ถามว่า แล้วเศรษฐกิจตรงนั้นจะทำอย่างไรในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ"

สำหรับภาพแนวโน้มของภาคอสังหาฯ จะเปิดการลงทุนใหม่ หลังจากผู้ประกอบการเร่งระบายสินค้าคงค้างอย่างหนักในปีที่ผ่านมานั้น ดร.อาภา กล่าวว่า ถ้ามองตามข้อมูลก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เมื่อผู้ประกอบการหยุดเปิดโครงการใหม่ สต๊อกลดลง ก็ต้องเติมของใหม่เข้ามา เพราะบริษัทอสังหาฯ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีคำมั่นสัญญาในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มลงทุน หยุดไม่ได้ แต่เพิ่มระมัดระวัง จะขายได้หรือไม่ บนที่ดินจะเข้ามาใหม่นั้น ทำเลที่ตั้งจะอยู่โซน Red Ocean หรือ Blue Ocean กำลังซื้อในบริเวณที่ตั้งโครงการเป็นอย่างไร ในแต่ละขั้นตอนจะมีความยากมากยิ่งขึ้น เพราะต้องดูภาวะการแข่งขัน และความสามารถในกำลังซื้อในพื้นที่ คงไม่ง่ายที่จะขึ้นโครงการเร็วเหมือนในอดีต

"โจทย์ของตลาดคอนโดฯ ก็อีกเรื่อง ภาคการเงิน แบงก์ก็ตั้งการ์ดสูงมากกับโครงการคอนโดฯ ผู้ประกอบการถ้าจะลงทุนต้องใช้เงินตนเองในสัดส่วนที่สูงมาก กินทุนเรา และเงื่อนไขสูงมาก ทำให้เรา (ผู้ประกอบการ) ปฎิบัติด้วยความเหนื่อยยาก การจะมาตั้งพรีเซลส์สูงต่อเนื่องนั้น ในชีวิตความเป็นจริง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ การจะพรีเซลส์แบบถล่มทลาย ก็ไม่เชื่อ เว้นแต่ ถ้าโครงการนั้นเปิดการขายแบ่งเป็นช่วงๆ"

"ริชี่ เพลซฯ" สร้างแบรนด์ รุกแนวราบกลุ่ม 3-7 ล้านบาท

ในส่วนของแผนธุรกิจของบริษัทริชี่ เพลซฯ ปีนี้วางเป้าขับเคลื่อนการลงทุนต่อเนื่อง โดยจะมีการเพิ่มน้ำหนักโครงการแนวราบเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้จะเปิดเบื้องต้น 4 โครงการ มูลค่าประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเซกเตอร์คอนโดฯ 2 โครงการ และการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ของโครงการแนวราบ 2 โครงการ ซึ่งในส่วนของโครงการคอนโดฯ จะเป็นโครงการเดิมที่เลื่อนมาเปิดตัวในปี 64 เพราะซื้อที่ดินเข้ามารองรับพัฒนาโครงการแล้ว ได้แก่ โครงการคอนโดฯ ติดสถานีรถไฟฟ้าวุฒากาศ คาดเปิดตัวไตรมาส 2 ปีนี้ และอีกโครงการอาจจะเป็นทำเลเอกมัยหรือพระราม 9 ซึ่ง 2 ทำเลที่ต้องเลือกจะเป็นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบและละเอียด เนื่องจากประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง จากเดิมที่คิดว่าคนต่างชาติกลุ่มชาวจีนจะเข้ามาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมปีนี้

"ปีนี้เราเปิดตัวมูลค่าไม่น้อยเลย เป็นความเครียดที่เราต้องเติบโตบนภาวะไม่แน่นอน ก็ต้องตัดสินใจด้วยความเครียดมาก เหมือนพายเรือสวนกระแส แต่ถ้าเราไม่อยู่ในตลาดหุ้น ก็เก็บเงินสดไว้ดีกว่า"
กำลังโหลดความคิดเห็น