xs
xsm
sm
md
lg

“พลังงานบริสุทธิ์” สยายปีก ปีนี้รุกธุรกิจใหม่เริ่มปั๊มเงินเข้ากระเป๋า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 “อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA
ส่องทิศทางธุรกิจ “พลังงานบริสุทธิ์” ปี 2564 พบโอกาสตามเติบโตสดใส เมื่อโปรเจกต์ใหญ่ แบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มสำแดงผลในปีนี้ หลังปีก่อนเดินหน้าขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง สวนกระแส COVID-19 จนราคาหุ้นพุ่งไม่หยุด

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ยังเดินหน้าสร้างความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในธุรกิจต่างๆ จนถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่สามารถสร้างผลดำเนินงานได้อย่างแข็งแกร่ง แม้สถานการณ์ทั้งในประเทศ และทั่วโลกจะต้องเผชิญกับภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กดดัน

ล่าสุด บริษัท ทีเอฟ เทค จำกัด (TFT) ซึ่งเป็นบริษัทที่ EA เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG โดยเข้าร่วมถือหุ้นฝ่ายละ 40% และส่วนที่เหลือ 20% เป็นบุคคลธรรมดา ได้ทำการก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตไฟ ฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในพื้นที่ของ TFG และบริษัทในเครือ ระยะแรกในโรงงาน 4 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกัน 13.78 เมกะวัตต์ เป็นที่สำเร็จเรียบร้อย จนสามารถดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามแผน

และจากแผนธุรกิจที่ทยอยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ย่อมส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัททะยานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถขยับขึ้นมาถึงระดับ 65.00 บาทต่อหุ้นก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาแตะที่ระดับ 62.25 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 15ม.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าราคาหุ้นEA ที่ปรับตัวขึ้นแรงชนะกลุ่มและตลาดนั้น มาจากแรงสนับสนุนเชิงบวกจากการเป็นหุ้นโรงไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นกลุ่มหุ้น Defensive (หุ้นปลอดภัย) ที่นักลงทุนเข้าลงทุนในภาวะตลาดยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งในช่วง2เดือนที่ผ่านมา กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ Green Energy ทั่วโลก เช่น โซลาร์และลม ต่างปรับตัวขึ้นทั้งหมดเฉลี่ย 5-10% เพราะถือเป็นหุ้นกลุ่มแรกที่ขานรับนโยบายของ “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ซึ่งสนับสนุนเรื่องดังกล่าว ทำให้ EA ได้รับแรงสนับสนุนเชิงบวกไปด้วย โดยเฉพาะในธุรกิจแบตเตอรี่

นอกจากนี้ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 ในประเทศระลอกใหม่จะยังไม่มีท่าทียุติ แต่ความน่าสนใจของราคาหุ้นก็ไม่ได้ลดหย่อนลงไปในจากสายตาของนักลงทุน แม้จะมีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ เนื่องจากดีมานด์ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังอยู่ในระดับสูง ทำให้ได้รับผลกระทบแบบจำกัด

สอดคล้องกับมุมมองของ “สรพล วีระเมธีกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด ซึ่งมีต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าว่า เนื่องจากนักลงทุนกังวลการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงหันมาลงทุนหุ้นปลอดภัยคือ โรงไฟฟ้า ที่จะยังคงมีรายได้สม่ำเสมอ ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมาก โดยจากข้อมูลสถิติ ช่วงที่COVID-19 ระบาดรอบแรก 18 มี.ค.-14 เม.ย. 2563 หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 30% และ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าดัชนีหุ้นไทย 15% ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการระบาดรอบใหม่นี้ทิศทางธุรกิจของหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านี้ EA ยังมีข่าวดีที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจของบริษัท เข้ามาสนับสนุนในปี 2564 เมื่อ “อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA  แสดงความเห็นต่อทิศทางธุรกิจว่า ปี 2564 นับเป็นปีที่ EA จะมีผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานสะอาด ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ แบตเตอรี่ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ภาครัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด ทั้งในด้านการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการพัฒนาขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เช่น เรือไฟฟ้า ขสมก. หรือการปรับเปลี่ยนรถภาครัฐ โดยปัจจัยเหล่านี้ล้วนจะส่งผลดีต่อบริษัท นั่นเพราะขณะนี้ที่การก่อสร้างไลน์ผลิตทั้งโรงงานแบตเตอรี่ และโรงประกอบยานยนต์ตามแผนธุรกิจของบริษัท ใกล้เสร็จสิ้น โดยในส่วนของแบตเตอรี่นั้น คาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 1/64 ส่วนโรงประกอบยานยนต์นั้น จะเสร็จสิ้นในปลายไตรมาส 2 หรือ ไตรมาส 3 ซึ่งส่วนที่ยากที่สุดคือ บอร์ดชุด และห้องพ่นสี ทำให้บริษัทเชื่อว่า ในช่วงปลายไตรมาส 1/64 นั้น จะสามารถมีผลิตภัณฑ์รถยนต์ออกมา โดยใช้ไลน์ผลิตที่เสร็จแล้วดำเนินการออกมาได้ ขณะที่ส่วนที่ยังไม่เสร็จ ก็จะสั่งสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาแทน และเมื่อทุกอย่างเสร็จในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ก็จะผลิตได้เต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลให้กำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ของบริษัทเพิ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากที่ผ่านมาในส่วนของยานยนต์ ไฟฟ้านั้น EA ได้ดำเนินการการเอง เช่น ติดต่อเจรจากับเอกชนที่ต้องการปรับเปลี่ยนรถยนต์เพื่อภายใต้กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งประสบความสำเร็จดี และก็มีออเดอร์เข้ามาเป็นหลักหลายร้อยคัน จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อธุรกิจ และกำลังเตรียมที่จะทยอยส่งมอบในปี 2565

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อภาครัฐได้ส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาด EA ก็พร้อมที่จะเร่งดำเนินการ ทั้งในส่วนของเรือไฟฟ้าแสงอาทิตย์เดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้เริ่มดำเนินการเบื้องต้นแล้ว ขณะนี้กำลังเร่งเพิ่มเรือ ซึ่งน่าจะได้ครบ 30 ลำ ในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 เช่นกัน และบริษัทเป็นผู้ดำเนินการเดินเรือเอง ขณะที่ท่าเรือต่างๆ เป็นท่าเรือสาธารณะ ดังนั้นในการที่ภาครัฐมีการสนับสนุน ทั้งการปรับท่าเรือให้ทันสมัย มีทางเรือจุดต่อรถไฟฟ้า หรือขนส่งสาธารณะได้สะดวกก็จะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น

ขณะเดียวกันในส่วนของรถเมล์ไฟฟ้า ขสมก. ขณะนี้กำลังรอการอนุมัติ ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องผ่าน ครม. ก่อน และนำเสนอประกวดราคา โดยบริษัทมีพร้อมที่จะเข้าไปรับงานทันทีเมื่ออนุมัติ ซึ่งรถเมล์ไฟฟ้า 4 พันคันนั้นจะแบ่งเป็นรถเช่า 2,500 คัน และร่วมเดินรถ 1,500 คัน

และสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม นั่นคือ ธุรกิจแบตเตอรี่ เพราะ EA จะยกให้เป็นเป็นไฮไลต์ต่อผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ โดยบริษัทมีกำลังผลิตประมาณ 1 กิกะวัตต์ หรือประมาณ 1 ล้านกิโลวัตต์ และจะเน้นการขายมาในฝั่งของยานยนต์ก่อน โดยหากคำนวณง่ายๆ รถยนต์คันหนึ่งโดยเฉลี่ยใส่แบตเตอรี่ขนาด 250 กิโลวัตต์ และหากมีการใช้ประมาณ 4,000 คัน ก็ทำให้บริษัทสามารถดำเนินการผลิตได้เต็ม 100% ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็ม และจะสามารถสร้างกำไรได้ทันทีในการเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ในปีแรก

นอกจากนี้  EA กำลังเพิ่มธุรกิจใหม่ให้บริษัทในเรื่องการ คิดค้นสารเปลี่ยนสถานะจากน้ำมันปาล์ม หรือ PCM ซึ่งบริษัทกำลังเตรียมที่จะขยายไลน์ไปสู่สิ่งทอ หรือเสื้อผ้า ที่มีคุณสมบัติระบายความร้อนได้ดี และนับเป็นตลาดใหญ่ หลังจากที่ได้เข้าสู่ในกลุ่มก่อสร้างฉนวนกันความร้อน โดยจะมีการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิต 65 ตันต่อวัน โดยเชื่อว่าเมื่อขยายไลน์ไปสู่สิ่งทอแล้ว จะทำให้สามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็ม 100%

นั่นทำให้ธุรกิจที่  EA ดำเนินการนั้นเป็นเมกะเทรนด์ ที่โลกกำลังดำเนินไปสู่อนาคต ยิ่งการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ยิ่งทำให้ผู้บริหารเชื่อว่าจะส่งผลให้ธุรกิจโตเร็วขึ้น และจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เอกชนลงทุนในด้านนี้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศ โดย EA อาจจะได้รับประโยชน์บ้างในฐานะที่เป็นผู้เข้ามาก่อน  พร้อมกับให้เหตุผลของการเติบโตในปี 2564 ว่า ทุกอย่างล้วนมาจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทเน้นการลงทุนในการสร้างฐานธุรกิจใหม่เพื่อทำ New S-Curve ให้เกิดขึ้นในปี 2564 ให้สำเร็จ แม้มีสถานการณ์ COVID-19 เป็นอุปสรรคอยู่บ้าง แต่บริษัทก็สามารถปรับแผนและแก้ไขปัญหาต่างๆ มาได้เป็นอย่างดี จากการประเมินความพร้อมด้านต่างๆ พบว่า การก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่คืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว และได้เริ่มติดตั้งเครื่องจักรในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว คาดโรงงานจะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มผลิตเซลล์แบตเตอรี่ได้ในเดือนมกราคมปี 64 จากนั้นจะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งจะสามารถป้อนแบตเตอรี่เข้าสู่สายธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในกลุ่มของบริษัทประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รถบัสโดยสารไฟฟ้า (E Bus) และเรือโดยสารไฟฟ้า (E Ferry) ได้ทันที

ขณะเดียวกันภายใต้สถานการณ์ไวรัส COVID-19 บริษัทฯ ปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยหันมามุ่งเน้นการบุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้ง E Bus และ E Ferry ที่ปัจจุบันมีศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่มีการใช้งานในแต่ละวันสูง เพื่อให้บริการการเดินทางแก่ประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนจะช่วยทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ผู้ให้บริการเดินรถและเรือลงได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งไม่มีมลพิษทางอากาศ และ PM 2.5 อีกด้วย 

ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด เพื่อเป็นฐานการผลิตรถเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีออเดอร์เข้ามาแล้ว และเตรียมจะทำการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อส่งมอบตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ของปี 64 ส่วนธุรกิจเรือไฟฟ้าดำเนินการโดยบริษัทย่อยชื่อ บริษัท อี สมาร์ททรานสปอร์ต จำกัด ได้เริ่มให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าในชื่อ MINE Smart Ferry ตั้งแต่ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า ถึงสาทร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดผลดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้รวม 12,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวด 9 เดือนของปีก่อน 17% และมีกำไรสุทธิ 3,720 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/63 มีรายได้รวม 3,801 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,119 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้นนั้น ก่อนหน้านี้ EA เคยสร้างจุดสูงสุดที่ 71.25 บาทต่อหุ้น เมื่อต้นปี 2561 หลังจากนั้นปรับตัวลง โดยช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ในช่วงต้นปี 2563 ราคาเคยทรุดลงไปต่ำกว่า 30 บาท ก่อนกระเตื้องขึ้นมา แต่ก็เป็นหุ้นที่ไม่โดดเด่นนัก เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม มีจุดสังเกตว่า หลังจากผู้บริหารบริษัทฯ ประกาศแผนงานในปี 2564 โดยการผลิตแบตเตอรี่ในไตรมาสที่ 1 และผลิตรถไฟฟ้า รวมทั้งรือที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในไตรมาสที่สองปีนี้ ทำให้นักลงทุนเริ่มแห่เข้ามาไล่ซื้อหุ้น EA จนราคาพุ่งขึ้นแรง และ จุดพลุให้หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าขยับขึ้นตามยกแผง ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาราคาหุ้น EA ปิดที่ 64.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,277.30 ล้านบาท และถ้าเทียบราคาหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ด้วยกัน ต้องยอมรับว่า EA ฟื้นตัวเร็วที่สุด โดยสามารถทำลายจุดสูงสุดเดิมก่อนเกิดวิกฤต "COVID-19" ขณะที่หุ้นโรงไฟฟ้าอื่น ยังไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้

และเมื่อเทียบด้านปัจจัยพื้นฐานหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าด้วยกัน EA มีปัจจัยพื้นฐานระดับกลาง ค่าพี/อี เรโช ไม่ต่ำ เมื่อเทียบกับหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ EGCO ซึ่งมีค่าพี/อี เรโชประมาณ 10 เท่า และหุ้นบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ที่มีค่าพี/อี เรโชประมาณ 15 เท่า แต่ไม่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับหุ้นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM ซึ่งมีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 66 เท่า และหุ้นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF ที่มีค่าพี/อี เรโชประมาณ 124 เท่า

โดยค่าพี/อี เรโชของ EA อยู่ที่ประมาณ 36 เท่า ใกล้เคียงกับหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ที่มีค่าพี/อี เรโชประมาณ 30 เท่า

สำหรับผลประกอบการพบว่า EA เติบโตต่อเนื่องหลายปีติดต่อ โดยปี 2561 มีกำไรสุทธิ 4,975.21 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 6,081.62 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรก ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 3,720.48 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนคาดว่า ปีนี้กำไรจะเติบโตสูง เนื่องจากจะมีรายได้จากโครงการผลิตแบตเตอรี่ รถและเรือ ไฟฟ้า ทำให้ EA เป็นหนึ่งในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายอดนิยม โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 20,445 ราย ถือหุ้น รวมกันสัดส่วน 39.67% ของทุนจดทะเบียน มีนายสมโภชน์ อาหุนัย ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ในสัดส่วน 23.50% ของทุนจดทะเบียน

โดย EA ถูกก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเริ่มต้นจากการทำธุรกิจน้ำมันปาล์ม ถัดจากนั้นอีก 7 ปีก็สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในช่วงแรกๆ ถูกค่อนขอดว่าอาจเป็นหุ้นปั่นตัวใหม่จากการที่มีผู้บริหารเคยอยู่ในแวดวงหลักทรัพย์ แต่ในที่สุด EA ก็สามารถลบล้างช่าวลือและสลัดคราบดังกล่าว ออกมาเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจนไม่กล้ามีใครมองข้ามศักยภาพและความสามารถของบริษัทแห่งนี้

ปัจจุบัน ธุรกิจของ EA แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ.ธุรกิจไบโอดีเซล ด้วยการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ที่นำมาผสมจนกลายเป็นน้ำมันดีเซล B7 หรือ B10 ในปัจจุบัน รวมทั้งมีการผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางฯ

อีกหนึ่งธุรกิจ คือกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ นั่นคือธุรกิจพัฒนา ผลิต และจำหน่าย แบตเตอรี่ ประเภทลิเทียมไอออน พอลิเมอร์ รวมถึงการลงทุนในโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และสถานีบรรจุอัดประจุไฟฟ้า  ทำให้โครงสร้างรายได้ในปัจจุบันของ EA แบ่งเป็น ธุรกิจโรงไฟฟ้า 61% ธุรกิจไบโอดีเซล 36% ที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ






กำลังโหลดความคิดเห็น