โบรกเกอร์แนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังประเมินผลประกอบการปี 63 กำไรหดตัวแรงก่อนฟื้นตัวปี 64 เนื่องจากแรงกดดันการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง เพราะทุกธนาคารต่างตั้งไปมากแล้ว ส่งผลให้ผลงานกลุ่มธนาคารผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีก่อน แม้แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้อาจขยับขึ้นไปที่ 4-5% แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการตั้งสำรองอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สำหรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งหากยืดเยื้ออาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเติบโตของกำไรกลุ่มธนาคารในปีนี้
แต่กลุ่มธนาคารยังมีความน่าสนใจในแง่ของมูลค่าหุ้นที่ยังถูก และปัจจัยหนุนของการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ ซึ่งกลุ่มธนาคารนับเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่มีการจ่ายปันผลที่ดี อีกทั้งหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวชัดเจน เป็นหุ้นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรของเศรษฐกิจ
จัดหุ้นเด่น คือ หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) แนะนำ "ซื้อ" จากการเป็นธนาคารขนาดใหญ่ และกำไรปีนี้มีโอกาสเติบโตเป็น 2 หลักหลังแรงกดดันการตั้งสำรองลดลงมากจากที่ตั้งไปสูงในปีก่อน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจมีความเสี่ยงต่ำ และเข้าลงทุนในธนาคารอินโดนีเซียที่มีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง
ส่วนหุ้นธนาคารขนาดกลางและเล็ก แนะนำ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (TISCO) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่มีแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารในปี 64 ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศระลอกใหม่ไม่ยืดเยื้อไปถึงเดือน ก.พ.64 เพราะก่อนหน้านี้ มองว่าหาหากไม่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ก็จะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของกำไรกลุ่มธนาคารกลับมาได้ค่อนข้างดี จากปีก่อนที่กำไรหดตัวลงแรงรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จนนำไปสู่การพักชำระหนี้และการตั้งสำรองที่สูงขึ้น จึงเชื่อว่ากำไรในปี 63 ที่กลุ่มธนาคารกำลังจะประกาศออกมาในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ มีโอกาสหดตัว 36-37% จากปี 62
ขณะที่ภาพรวมกำไรของกลุ่มธนาคารในปี 64 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นราว 12% จากปี 63 มาที่ระดับ 1.4 แสนล้านบาท หลังคาดว่าแรงกดดันจากการตั้งสำรองจะลดลง หลังจากที่ธนาคารต่างไ ด้เพิ่มการตั้งสำรองไปมากในปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของกลุ่มธนาคารยังอยู่ในระดับสูง 150-160% และยังมีเงินกองทุน (BIS ratio) ขั้นต่ำที่สูง 11-12% สะท้อนความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมีความสามารถรองรับความเสี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม แนวโน้ม NPL อาจจะยังเห็นภาพของการปรับตัวขึ้นได้อีก เพราะมาตรการพักชำระหนี้ที่แต่ละธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามความเหมาะสมกับผลกระทบของลูกหนี้แต่ละรายยังคงมีอยู่ไปถึงกลางปี 64 คาดว่ามีสัดส่วนราว 24% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมดที่ 12.6 ล้านล้านบาทที่เข้ามาตรการ และหากสิ้นสุดและไม่มีการต่อมาตรการออกไป คาดว่าจะเห็นลูกหนี้ของธนาคารที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ตกชั้นเป็น NPL สัดส่วน 10% และส่งผลให้ NPL เพิ่มขึ้นไปแตะระดับเกือบ 5.5% แต่ถือว่ายังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวิกฤตในอดีต ขณะที่เงินสำรอง และฐานทุนของธนาคารในปัจจุบันสามารถรองรับได้เพียงพอ
สำหรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี อาจจะกดดันต่อกลุ่มธนาคารได้บ้าง เนื่องจากกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าจากการที่รัฐออกมาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด การออกมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงแนวโน้มของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ที่คาดว่าหากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศระลอกใหม่ยืดเยื้อไปถึงเดือน ก.พ.64 มีโอกาสที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.25% จากปัจจุบันที่ 0.50% ซึ่งเป็นความเสี่ยงกดดันกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์
หากมองในแง่ของมูลค่าหุ้นกลุ่มธนาคารในปัจจุบันถือว่ายังมีความน่าสนใจในการลงทุน เพราะระดับ PB/V อยู่ที่ระดับ 0.6 เท่า ลดลงค่อนข้างมากจากในอดีตที่เคยขึ้นไปสูงสุดมากกว่า 2 เท่า ทำให้ราคาหุ้นในปัจจุบันยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นกลับไปได้ หากปัจจัยโควิด-19 คลี่คลาย และแนวโน้มของเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว อีกทั้งยังมีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะไหลเข้ามาในกลุ่มธนาคาร ซึ่งจะเป็นหุ้นกลุ่มแรกๆ ที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหลังจากในช่วงที่ผ่านมา ขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนราคาหุ้นของกลุ่มธนาคาร
สำหรับหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ "ซื้อ" ได้แก่ BBL ราคาเป้าหมาย 127 บาท/หุ้น และ KBANK ราคาเป้าหมาย 122 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ความกังวลในเรื่องของการตั้งสำรองสูงน่าจะเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้กำไรในปีนี้จะเห็นการกลับมาฟื้นตัวที่ดี และในส่วนของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ยังมีความต้องการใช้สินเชื่อในระดับที่สูง โดยเฉพาะสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และหากมีการลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐกลุ่มลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคาร ก็มีโอกาสใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และเป็นหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จาก Fund Flow ที่เข้ามาในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วย
ส่วนหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็กที่แนะนำ คือ TISCO ราคาเป้าหมาย 95 บาท/หุ้น จากความน่าสนใจของอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่สูงถึง 6% และธุรกิจของธนาคารมีการกระจายตัว และมีกลุ่มสินเชื่อที่ให้มาร์จิ้นสูงที่ช่วยหนุนกำไร คือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่ได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และกลุ่มธุรกิจนายหน้าซื้อขายประกัน และกลุ่มธุรกิจตลาดทุน ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีให้แก่ธนาคารอย่างต่อเนื่อง
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองหุ้นกลุ่มธนาคารในปี 64 เริ่มดีขึ้น จากการคาดการณ์กำไรของกลุ่มธนาคารเติบโต 8-10% ในปีนี้ มาอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่คาดว่ากำไรจะอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ลดลงราว 34-35% ซึ่งการเติบโตของกำไรในปี 64 เป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำในปี 63 และแนวโน้มการตั้งสำรองของธนาคารลดลงจากปีก่อน โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ที่มีการตั้งสำรองไปมากในช่วงไตรมาส 2/63 อย่าง BBL และ KBANK ส่งผลให้แรงกดดันต่อกำไรในปีนี้คลี่คลาย
ขณะที่ภาพเศรษฐกิจในประเทศ แม้ปัจจุบันอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน แต่หากสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วและสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานานเกิน 1 เดือน มองว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมากนัก และนักวิเคราะห์หลายสถาบันก็ยังมองเศรษฐกิจไทยเป็นบวกได้ในปีนี้ แม้ว่าจะมีบางสถาบันเริ่มปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงมาบ้างก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญต่อความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มธนาคาร ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนให้ความสำคัญ คือ การบริหารจัดการ NPL และการตั้งสำรอง หลังจากมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ที่ขยายระยะเวลามาถึงกลางปีสิ้นสุดลง หากไม่มีมาตรการใหม่ออกมาหรือขยายระยะเวลาเพิ่มเติม ซึ่งต้องยอมรับว่าแนวโน้มของ NPL ของกลุ่มธนาคารยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้แตะระดับ 5% จากสิ้นปีก่อนกว่า 3% ซึ่งมองว่าทุกธนาคารมีความสามารถในการจัดการและรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้จากการตั้งสำรองไปล่วงหน้าในระดับที่สูงกว่า 150-160% ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้วจะไม่กดดันต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการที่ ธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับมามีความน่าสนใจ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารอีกครั้ง หนุนราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงปลายปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 30-40% อย่างไรก็ตาม มูลค่าหุ้นของกลุ่มธนาคารในปัจจุบันยังถือว่าถูก โดยมี PB/V ที่ 0.5-0.6 เท่า และราคายังมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากทิศทางกระแสเงินทุนไหลเข้าจะเข้ามาหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ในระยะต่อไป
สำหรับการปรับมุมมองและมูลค่าของหุ้นกลุ่มธนาคาร จะมีการพิจารณาอีกครั้งหลังจากกลุ่มธนาคาร ทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4/63 และผลการดำเนินงานปี 63 ตลอดจนรับทราบถึงเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานของแต่ละธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนม.ค.นี้ แต่ในภาพรวมปีนี้ก็ถือเป็นปีที่กลุ่มธนาคารจะมีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวกลับมาได้ ทำให้ยังมีความน่าสนใจในการลงทุน
โดยหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่แนะนำ "ซื้อ" คือ BBL ซึ่งยังอยู่ระหว่างการปรับประมาณการราคา จากราคาเป้าหมายเดิมที่ 125 บาท จากการเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจแบบ Conservative เป็นธนาคารที่มีการตั้งสำรองระดับสูงในปีที่ผ่านมา ทำให้การตั้งสำรองในปี 64 น่าจะผ่อนคลายลง ช่วยหนุนการฟื้นตัวของกำไรในปีนี้ได้ราว 15-17% จากปีก่อนที่คาดว่ากำไรหดตัวลง 40% และสินเชื่อของ BBL ส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับผลกระทบไม่มาก และยังมีการลงทุนในต่างประเทศ จากการซื้อกิจการพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นบวกแม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเพอร์มาตาจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนผลงานให้กับ BBL ในปีนี้
ส่วนหุ้นธนาคารนาดกลาง-เล็ก ที่แนะนำ "ซื้อ" คือ TISCO ยังอยู่ระหว่างการปรับประมาณการราคาเป้าหมาย จากแนวโน้มของกำไรในปี 64 ที่ฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างชัดเจนในระดับตัวเลข 2 หลัก จากความผ่อนคลายของการตั้งสำรองในปี 64 ที่ลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจาก TISCO มีการตั้งสำรองระดับสูงในปีก่อน ทำให้ Coverage ratio ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 100% ปลายๆ อีกทั้งเป็นกลุ่มธนาคารที่มีการกระจายตัวของธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ที่ได้ประโยชน์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และธุรกิจตลาดทุน และการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง 6-7% ซึ่งคาดว่า TISCO จะยังคงจ่ายปันผลในระดับดังกล่าวต่อเนื่องไปถึงปี 65 ทำให้ TISCO เป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจ
นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 64 ยังมีความน่าสนใจอยู่ แม้ว่าในตอนนี้จะมีแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งอาจจะกระทบต่อผลการดำเนินงานในปีนี้ได้บ้าง แต่มองว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 ที่ได้รับแรงกดดันของการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบของลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 และในปี 64 คาดว่าแนวโน้มกำไรจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยประเมินว่ากำไรกลุ่มธนาคารจะเติบโต 7% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 1.12 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่กำไรหดตัวลดกว่า 40% หรืออยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท
โดยปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของกำไรจะมาจากแรงกดดันการตั้งสำรองของหลายๆ ธนาคารที่ลดลง เพราะในปีก่อนทุกธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว ทำให้ Coveragretio ของระบบเพิ่มขึ้นไปที่ 150-160% จากปี 62 ที่ 130-140% ทำให้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์สามารถรองรับความเสี่ยงการเพิ่มขึ้นของ NPL หลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดไปในช่วงกลางปีนี้ได้เพียงพอ
ขณะที่การบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารในปีนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการวัดประสิทธิภาพของการบริหารหนี้ของแต่ละธนาคาร เพราะหากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ทำได้ไม่ดี จะส่งผลกระทบมาต่อการเพิ่มขึ้น NPL ที่ดีดตัวขึ้น และกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารนั้นๆ เนื่องจากจะต้องมีการบันทึกการตั้งสำรองของ NPL เกิดขึ้น หากลูกหนี้ถูกจัดชั้นเป็น NPL ไปแล้ว ซึ่งคาดว่า NPL ในปีนี้ยังเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 4-4.5% จากสิ้นปี 63 ที่คาดว่าอยู่ที่ 3.9% เพราะยังมีโอกาสที่ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้บางรายจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้
นอกจากนี้ ยังมองถึงปัจจัยเสี่ยงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ลงมาเหลือ 0.25% หากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ยืดเยื้อเกินเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งหาก กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมานั้น จะกระทบต่อกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลงเหลือโต 5% เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่ออัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารที่ลดลง ซึ่งรายได้จากดอกเบี้ยนับเป็นรายหลักส่วนใหญ่ของธุรกิจธนาคาร
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถือว่ายังน่าสนใจ แม้ว่าราคาหุ้นจะดีดตัวขึ้นไปจาก Fund Flow ที่ไหลเข้าในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้ามองในด้านมูลค่าหุ้นยังมีความน่าสนใจ จากระดับ PB/V ที่ต่ำกว่า 1 เท่า เฉลี่ยที่ 0.5-0.7 เท่า และเป็นหุ้นกลุ่มที่การจ่ายปันผลที่ดีในระดับ 4-5% ซึ่งเป็นระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งยังมีโอกาสเห็นอัปไซด์ของราคาในอนาคตหากโควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจน และเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เพราะกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นหุ้นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกและลบจากวัฏจักรของเศรษฐกิจ
สำหรับหุ้นที่มีความน่าสนใจในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ มองว่าเป็น BBL ที่แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 130 บาท/หุ้น เพราะเป็นธนาคารที่มองว่าได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของ NPL น้อย เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ และแรงกดดันจากการตั้งสำรองในปีนี้ก็น้อยไปด้วย เพราะจะเห็นได้จากการตั้งสำรองสูงของ BBL ในช่วงไตรมาส 2/63 จนทำให้กำไรในไตรมาส 2/63 ลดลงแรง และในปีนี้คาดว่าจะเห็นกำไรเติบโตขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก จากการตั้งสำรองที่ลดลง และยังมีการลงทุนในเพอร์มาตา อินโดนีเซีย ที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่องเข้ามาหนุน ทำให้ผลงานของ BBL ค่อนข้างโดดเด่นในปีนี้ ส่วนธนาคารขนาดกลาง-เล็กที่มองว่าน่าสนใจได้เปลี่ยนจากเดิมที่เคยแนะนำ TISCO มาเป็น KKP เนื่องจากราคาหุ้นของ TISCO ปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก จนเข้าใกล้จุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้เกือบ 100 บาทแล้ว แม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะยังอยู่ในระดับที่ดีกว่า 4% แต่อาจจะน้อยกว่า KKP ที่อยู่ในอัตราราว 5.5% และมีราคาหุ้นที่ถูกกว่า ทำให้เปลี่ยนมาแนะนำมา "ซื้อ" KKP ราคาเป้าหมาย 61 บาท/หุ้น ประกอบกับ KKP ยังเป็นหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็ก ที่การเติบโตของกำไรยังดีในปี 64 และมีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเฉพาะทาง คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่ยังมีโอกาสเติบโตขึ้นได้ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการตั้งสำรองลดลงในปีนี้ อีกทั้งยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเสริมรายได้ค่าธรรมเนียมได้อีก