xs
xsm
sm
md
lg

ฟัน 4 นักปั่นหุ้น GREEN / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก่อนส่งท้ายปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ชุดใหญ่ มีทั้งลงโทษหนักผู้ให้คำแนะนำลงทุนที่กระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้า การปรับกรรมการบริษัท ยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น

และคดีสำคัญคือ การร้องทุกข์กล่าวโทษ กลุ่มคนร่วมกันสร้างราคาหุ้นบริษัท เอเชีย คอร์ปอเรท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ACD ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กรีน รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ GREEN

คดีสร้างราคาหุ้นหรือปั่นหุ้น ในช่วงหลัง ก.ล.ต.มักจะดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง โดยการปรับผู้กระทำผิด เพราะหากร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญา คดีมักจะถูกตัดตอน เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอสั่งไม่ฟ้อง

และคดีปั่นหุ้นหลายสิบคดีที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษ กรมสอบสวนคดีพิเศษมักมีบทสรุป โดยสั่งไม่ฟ้อง ทำให้นักปั่นหุ้นที่ ก.ล.ต.ตรวจสอบพบพฤติกรรมต้องหลุดรอดลอยนวล

ก.ล.ต.จึงปรับรูปแบบการลงโทษ หันมาดำเนินมาตรการทางแพ่ง โดยการสั่งปรับผู้กระทำความผิด หากไม่ยินยอมชำระค่าปรับ ก.ล.ต.จะส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง และหากอัยการไม่ฟ้อง ก.ล.ต.ก็สามารถยื่นฟ้องได้เอง ซึ่งจะกำหนดบทลงโทษหรืออัตราค่าปรับสูงสุด

และมีคดีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว กรณีการปั่นหุ้น บริษัท ปิโก้ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO ซึ่งล่าสุดศาลอุทธรณ์สั่งปรับผู้กระทำผิดในอัตราโทษขั้นสูงสุด เป็นวงเงิน 24.53 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปี นับจากวันฟ้อง 26 ธันวาคม 2561

คดีปั่นหุ้น ACD ก.ล.ต.กล่าวโทษดำเนินคดีอาญาผู้ร่วมกระทำผิด 4 ราย โดยร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และรายงานการดำเนินงานต่อสำนักงานฟ้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการต่อ

ผู้ถูกกล่าวโทษประกอบด้วย นายธนเดช ศรีณรงค์ ขณะกระทำผิดชื่อนายพรหมกรรณ ศรีณรงค์ นางณฤดี เขียวยิ่ง นายนิธิศ ศิลมัฐ และนายวิญญู อำนวยสมบัติ

ทั้งหมดได้ตกลงหรือร่วมรู้เห็นในการส่งคำสั่งหุ้น ACD ในลักษณะสร้างราคา ผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการอำพรางให้บุคคลทั่วไปหลงผิดเกี่ยวกับราคาหุ้น ระหว่างวันที่ 7-17 ธันวาคม 2557

ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ก.ล.ต.จึงกลับมาใช้มาตรการลงโทษทางอาญา โดยการร้องทุกข์กล่าวโทษกับแก๊งปั่นหุ้น ACD หลังใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งมาพักใหญ่ จะเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวโทษไม่ยอมรับผิดในทางแพ่ง หรือเป็นเพราะ ก.ล.ต.มีหลักฐานมั่นใจที่จะลงโทษทางอาญาก็ไม่อาจคาดเดาได้

แต่การลงโทษหนัก ร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญาเป็นสิ่งที่ดี เพราะความผิดในการปั่นหุ้น เป็นความผิดร้ายแรง สร้างความเสียหายให้ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งบทลงโทษในทางแพ่ง ไม่อาจทำให้แก๊งปั่นหุ้นเกิดความเกรงกลัวได้ คดีปั่นหุ้นจึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับหุ้น GREEN แม้จะเปลี่ยนชื่อเพื่อลบล้างภาพการเป็นหุ้นปั่นในอดีต แต่เมื่อวันพุธที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา หลัง ก.ล.ต.ประกาศกล่าวโทษแก๊งปั่นหุ้น ACD ราคาหุ้น GREEN ก็ทรุดลงมาเหมือนกัน โดยปิดที่ 1.02 บาท ลดลง 5 สตางค์ หรือลดลง 4.67%

หุ้นที่เคยมีพฤติกรรมปั่นหรือพฤติกรรมผิดในอดีต มักจะเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่ออำพรางภาพลักษณ์ด้านลบ โดย บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเปลี่ยนชื่อถึง 3-4 ครั้ง เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มี แต่พฤติกรรมมักจะไม่ค่อยเปลี่ยน

หุ้น GREEN จึงถูกจับตาในความเคลื่อนไหวมาต่อเนื่อง แม้พฤติกรรมการปั่นจะเกิดขึ้นมาแล้ว 6 ปีก็ตาม

คดีปั่นหุ้น ACD หรือ GREEN เป็นคดีใหญ่ส่งท้ายปี 2563 และการกลับมาใช้บทลงโทษหนักทางอาญาของ ก.ล.ต. ทำให้ น่าจับตาดูว่า พฤติกรรมปั่นหุ้นปี 2564 จะลดลงหรือไม่

แก๊งปั่นหุ้นจะกลัวคุกตะรางกันบ้างหรือไม่






กำลังโหลดความคิดเห็น