xs
xsm
sm
md
lg

ททท.รอประเมินโควิด-19 ก่อนดันท่องเที่ยว เผยโรงแรมปรับตัวรับเทรนด์สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ
"ททท." รอประเมินสถานการณ์โควิด-19 หลังปีใหม่ ก่อนขับเคลื่อนโครงการท่องเที่ยว เผยทุกกิจกรรมยืดหยุ่นตามเหตุการณ์ พร้อม เป็นกระบอกเสียง รณรงค์ให้ประชาชนใส่แมสก์ป้องกัน แย้ม เตรียมจัดแคมเปญช่วงมีนาคม-เมษายน หากทุกอย่างนิ่งสนิท ระบุภาคธุรกิจโรงแรมอาจจะกลับมาให้บริการไม่เต็ม 100% คาดเอกชนปรับการให้บริการไปสู่ธุรกิจลองสเตย์ เจาะกลุ่มนักธุรกิจ ตลาดเพื่อสุขภาพ ช่วยลดซัปพลายห้องพัก ด้านผู้ว่าฯจ.ร้อยเอ็ด เผยสมาคมการท่องเที่ยว 4 ภูมิภาคหนุนการท่องเที่ยวข้ามจังหวัดมากขึ้น

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารด้านการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยหลังงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ๒๕๖๔ ณ บริเวณหอโหวด ๑๐๑ จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2564 หลังจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเฉพาะหน้าตอนนี้ คือ การเป็นกระบอกเสียงให้แก่รัฐบาลในความพยายามให้ประชาชนใส่ใจและใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน พร้อมทั้งจะรณรงค์ให้ประชาชนระมัดระวังในช่วงหลังปีใหม่ 1-2 อาทิตย์จากนี้ไป

"คงไม่เหมาะสมที่ ททท.จะแถลงสวนกระแสหรือเร่งสัญญาณให้มีการเดินทาง เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนหลายคนที่เดินทางไปต่างจังหวัดแล้วก็รีบกลับมายังกรุงเทพฯ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดตอนนี้ ททท. ต้องนิ่ง รอคอยในโอกาสที่เหมาะสม ช่วงนี้ไม่ใช่เวลาเอาความเร็วมาคุยกัน แต่เราต้องเอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้ง ททท.คงไม่มีการประกาศอะไรล่วงหน้ายาวๆ เพราะสถานการณ์มีความสับสนมาก ต้องประเมินเป็นช่วงๆ ว่า จะมีประกาศอะไรออกมา แม้แต่โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ที่เริ่มมีผล 1 มกราคม 2564 ททท.ก็ไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก และหากเราพูดย้ำเรื่องโครงการเที่ยวด้วยกัน จะกลายเป็นผลเสียกับตัวแคมเปญด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้เรากลับมาสู่นิว นอร์มอลจริงๆ ในอดีตเราใช้ความเร็วขับเคลื่อน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน คงไม่สามารถนำมาใช้ได้" นายธเนศวร์ กล่าวและย้ำว่า

ทุกกิจกรรมและแคมเปญ ททท.ต้องมีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นสูง เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพสถานการณ์ แต่หากการท่องเที่ยวคลายความกังวลหรือไม่มีความตื่นตระหนกแล้ว ททท.ก็จะเริ่มแคมเปญที่วางไว้ โดยเรามีเครื่องไม้เครื่องมือและกระบวนการในการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ในสถานการณ์ซึ่งหน้าเราต้องนิ่งเอาไว้ก่อน การสื่อสารตอนนี้ต้องตรงกับความรู้สึกของประชาชน เราไม่หน้ามืดตามัวสวนกระแส เพราะผลตอบรับหรือผลประโยชน์ที่จะกลับมาไม่คุ้มค่าแน่นอน

นายธเนศวร์ กล่าวว่า เดิมที ททท.มีแผนที่จะออกแคมเปญในช่วงหลังปีใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ "เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม" เพราะช่วงก่อนหน้าที่มีการล็อกดาวน์ ธรรมชาติแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ ททท.ต้องนิ่งในส่วนของโครงการไว้ก่อน

"ททท.มีแผนที่วางไว้ โดยจะมาเน้นเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวมากๆ ในช่วงเดือนมีนาคมที่อาจจะมีการปิดภาคเรียน และช่วงเดือนเมษายน ที่เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากในปีนี้ รัฐบาลได้มีการประกาศให้มีวันหยุดเพิ่ม หากถามเรื่องไอเดีย คิดเร็วๆ แล้วก็มีแผนที่เตรียมไว้ อย่างแรก โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะสามารถดำเนินไปถึงเดือนเมษายน ยังมีแนวคิดออกแคมเปญเติมพลังให้ชีวิต ไปดูเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม"

นายธเนศวร์ กล่าวถึง การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ว่า ขณะนี้มีหลายภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับน้ำหนัก ลดการพึ่งพาโครงสร้างเศรษฐกิจบางอย่างที่มากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางสูง ตรงนี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือ ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ชัดเจน 

ปัจจุบัน รายได้ของการท่องเที่ยวจะมีสัดส่วนประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) แต่แนวโน้มจากนี้ไปอาจปรับลดลงเหลือ 15-14% ของ GDP ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ เนื่องจากตัวเลขจากนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน คงไม่กลับมาแล้ว แต่อาจจะเห็นตัวเลขที่เหมาะสมประมาณ 25 หรือ 30 ล้านคน

"ททท.จะปรับกระบวนวิธีการเร่งรัดคุณภาพเรื่องการจับจ่ายใช้สอย มากกว่าที่จะเดินเรื่องปริมาณโดยจะไปเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เช่น นักธุรกิจ กลุ่มเกษียณอายุ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในเรื่องการรักษาพยาบาล โดยจากนี้ไป ททท. จะปรับภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวของไทยจะเดิมที่มุ่งกลุ่ม Mass ปรับเน้นกลุ่มพรีเมียมมากขึ้น เราพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยจะเปลี่ยนมุมมองในการสื่อสารใหม่"

นายธเนศวร์ กล่าวถึง ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมจากนี้ไปว่า อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ บางรายอาจไม่กลับมาทำในเรื่องของธุรกิจโรงแรมมากนัก สังเกตได้จากโรงแรมที่ยังไม่เปิดให้บริการในขณะนี้มีประมาณถึง 40% ขณะที่โรงแรมที่รัฐบาลอนุญาตให้เปิดดำเนินการก็ไม่กลับมาครบถึง 100% อาจจะกลับมาประมาณ 40% ด้วยซ้ำ

"คิดว่าธุรกิจโรงแรมบางส่วนอาจจะมีการปรับตัวโดยหันไปทำธุรกิจในส่วนที่เป็นห้องพักอาศัยระยะยาว หรือ long Stay ทำที่พักเชิงสุขภาพ wellness ขณะที่สมาคมธุรกิจการโรงแรมมีการร้องเรียนเกี่ยวกับที่ดำเนินธุรกิจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนนี้จะหายไปจากระบบ ซึ่งมีอยู่ประมาณเกือบ 30-40% และผลจากโควิด-19 ในครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนการล้างไพ่ไปในตัว"

(ขวา) นายชยันต์ ศิริมาศ
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า ทางสมาคมการท่องเที่ยวแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร่วมกับสมาคมการท่องเที่ยวใน 4 ภูมิภาคร่วมกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามจังหวัด เพื่อให้การท่องเที่ยวและการบริการมีความคึกคักมากขึ้น เช่น ความร่วมมือระหว่างภาคอีสานและภาคใต้ ให้มีการเปิดเส้นทาการบิน เนื่องจากชาวภูเก็ตชื่นชอบที่จะมาท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

"ตลาดการประชุมสัมมนา ทางจังหวัดร้อยเอ็ดมีโรงแรมและห้องประชุมรองรับการสัมมนา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการประชุมข้าวหอมมะลิโลกขึ้น และหากรัฐบาลมีการส่งเสริมจะมีส่วนช่วยภาคการท่องเที่ยวได้อีกทาง"
กำลังโหลดความคิดเห็น