การล็อกดาวน์สมุทรสาคร ฉุดผลประอบการ “เซ็นทรัล” แค่เล็กน้อย เพราะกระทบเพียงวงจำกัด ขณะที่ภาพรวมไตรมาส 4 ได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐหนุน แถมปีหน้าหลายธุรกิจฟื้นตัวผลักดันรายได้เติบโต หนุนกำไรปี 64 อาจทะลุหมื่นล้านบาท
ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้น ณ จ.สมุทรสาคร และแพร่กระจายในหลายจังหวัด ส่งผลต่อผลดำเนินงานของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) เช่นกัน เนื่องจาก 1 ในสาขาของบริษัทจำต้องถูกล็อกดาวน์ เพราะอยู่ในพื้นที่ระบาดร้ายแรง แต่กลับกันแนวโน้มธุรกิจระยะยาวของ CPN หลายฝ่ายยังเชื่อว่าสดใส และมีโอกาสฟื้นตัวจากปี 2563 แต่ยังมีความท้าทายหลายประการที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ
CPN ของ ตระกูล “จิราธิวัฒน์” ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการศูนย์การค้า รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mixed-use) อาคารสำนักงาน โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัย (Residential) โดยธุรกิจศูนย์การค้า เป็นธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 80% และ CPN เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 20% ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านศูนย์การค้าภายใต้บริหารจำนวน 34 แห่ง
นอกจากนี้ CPN มีการลงทุนและทำหน้าที่บริหารอสังหาริมทรัพย์ในกองทรัสต์ CPNREIT จำนวน 5 โครงการ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ CPNCG รวมถึงธุรกิจอาคารสำนักงาน ธุรกิจโรงแรม โครงการที่พักอาศัย การลงทุนในบริษัทเบย์วอเตอร์ สัดส่วน 50% จากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (มหาชน) ซึ่งมีที่ดินบริเวณถนนพหลโยธิน เตรียมพัฒนาโครงการอสังหาริททรัพย์แบบ Mixed Used เป็นฐานรายได้ในอนาคต และอีก 50% ถือหุ้นโดยบริษัทย่อยของบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ปัจจุบัน CPN ถือหุ้น 17% ในบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (DTC) และ ได้พัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค หัวมุมถนนสีสม ประกอบด้วย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค อาคารสำนักงาน และที่พักอาศัย คาดก่อสร้างแล้วเสร็จเริ่มทยอยเปิดดำเนินการในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งจะให้ผลตอบแทนแก่ CPN ในระยะยาว โดย CPN ถือหุ้น 85% ของส่วนศูนย์การค้า และถือหุ้น 100% ในอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าเซ็นทรัลไอ-ซิตี้ ในประเทศมาเลเซีย ด้วยสัดส่วน 60% นอกจากนี้ ยังถือหุ้น Grab (ประเทศไทย) ผ่านบริษัทลูก Chipper โดยเข้าลงทุนในบิรษัท Porto Worldwide Limited (Porto) ในสัดส่วน 33%
ที่ผ่านมา ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ภายหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยดัชนีค้าปลีกที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่เริ่มต้นการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ดัชนีอยู่ระดับ 195.10 จุด เพิ่มขึ้นมา 239.48 จุดในเดือนกันยายน แต่ดัชนีปรับลดลง 3.2% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ข้อมูลจากเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 52.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 50.9 จุด เนื่องจากความกังวลเรื่องการเมืองภายในประเทศ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน สาเหตุจากรัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเชื่อว่ากำลังซื้อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเติบโตของอัตราการเช่าเฉลี่ยอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้มีการทำงานในรูปแบบ New Normal ทำให้บางบริษัทพิจารณารูปแบบการทำงานในลักษณะ Work From Home มากขึ้น อาจมีผลกระทบต่อการคาดหมายอัตราการเช่าเฉลี่ยในอนาคตน้อยลง
ส่วนปัจจัยบวกระยะสั้น สำหรับ CPN เชื่อว่าจะได้อานิสงส์จากได้มาตรการภาครัฐช่วยสนับสนุน โดยในไตรมาสสุดท้ายปีนี้กลุ่มค้าปลีกจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้น นอกเหนือจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย เพราะกำลังซื้อมีส่วนเพิ่มจากนโยบายภาครัฐที่มีมาตรการต่างๆ ให้การสนับสนุน และจากมาตรการภาครัฐดังกล่าวที่ได้ผลตอบรับดี ทำให้มีโอกาสที่ภาครัฐจะพิจารณาในการขยายนโยบาย หรือเพิ่มนโยบายอื่นๆ เพื่อคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นระยะถัดไป
ด้านสถานะการเงิน CPN รายงานกำไรปกติเติบโตอย่างต่อเนื่องอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2558-ปี 2562 เพิ่มขึ้น 11% สอดคล้องกับรายได้ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 11% การเติบโตจากการขยายศูนย์การค้าซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่ให้เช่าจาก 1.6 ล้านตารางเมตรในปี 2558 (29 ศูนย์การค้า) เป็น 1.8 ล้านตารางเมตรในปี 2562 (34 ศูนย์การค้า) แต่หลังจากในปี 2563 ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลต่ออัตราการเติบโตเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลประกอบการในปี 2564 จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นหลังจากประเด็น COVID-19 เริ่มคลี่คลาย โดยประมาณการกำไรปกติไว้ที่ 9.7 พันล้านบาท เติบโต 32% จากปี 2563 และเมื่อรวมกำไรจากการขายสิทธิการเช่าศูนย์การค้าจำนวน 2 แห่งคือ เซ็นทรัลมารีน่า-ชลบุรี และเซ็นทรัล-ลำปาง จะทำให้มีกำไรจากรายการดังกล่าวบันทึกเข้ามาราว 1.2 พันล้านบาท และทำให้ CPN จะมีกำไรสุทธิราว 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากการฟื้นตัวของรายได้จากทุกธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวทั้งจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ที่ผ่านมา บริษัทมีระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 48%-50% โดยผลประกอบการจะเข้าสู่ภาวะปกติที่ที่มีระดับมาร์จิ้นในปี 2564 ได้ราว 50% และระดับอัตรากำไรปกติเฉลี่ย 28% ส่วน ROE เฉลี่ยอยู่ราว 16-17% ยังทำได้ดีสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบการศูนย์การค้าที่สามารถทำ ROE ได้เฉลี่ยราว 12% อีกทั้งบริษัทมีฐานะการเงินแข็ง มี Net D/E ratio อยู่ราว 0.53 เท่า ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมี Net Debt to equity ratio เช่น MBK 0.74 เท่า, SF 0.20 เท่า
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/63 บริษัทจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 3/63 (Q3/63 กำไรสุทธิอยู่ที่ 2.48 พันล้านบาท เติบโต 431% จากไตรมาสก่อน ) เนื่องจากเข้าสู่ช่วง High season พร้อมคาดกำไรปกติปี 63 จะอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท ส่วนปี 64 กำไรปกติจะอยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท เติบโตอย่างโดดเด่นราว 32.5% จากปีก่อนและรายได้จะอยู่ที่ระดับ 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% จากปีก่อนได้แรงหนุนจากธุรกิจศูนย์การค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการรัฐที่สนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยช่วยเพิ่มกำลังซื้อในตลาดในช่วงปลายปี 63 ถึงต้นปี 64 เช่น “ช้อปดีมีคืน” “เราเที่ยว ด้วยกัน” “คนละครึ่ง” เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว CPN ยังมีประเด็นบวกจากการขายสิทธิการเช่าของศูนย์การค้าเข้ากอง CPNREIT ในปี 64 จำนวน 2 แห่ง ที่จังหวัดอยุธยา และจังหวัดชลบุรี บริเวณอำเภอศรีราชา และในปี 65 ยังมีแผนจะเปิดศูนย์การค้าอีก 1 แห่งที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า EEC ที่คาดเห็นการเติบโตจากภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 67 มีเปิดโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการที่มีศักยภาพทำเลใจกลางเมือง หัวมุมถนนสีสม และถนนพระราม 4 ซึ่ง CPN จะได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนในอนาคตเช่นกัน จึงแนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาเหมาะสมปี 64 ที่ 67 บาท/หุ้น
สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่จ.สุมทรสาคร ประเมินผลว่าจะเกิดกระทบจากการปิดห้างต่อรายได้ค่าเช่า และ EBIT ในไตรสุดท้ายปีนี้น้อยกว่า 0.5% ขณะที่ห้างสาขาอื่นยังดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดอุณหภูมิ และการทำความสะอาดพื้นที่ เนื่องจากผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์จะยังส่งผลกระทบในวงแคบ แต่จะเป็นสัญญาณเสี่ยง หากมีการแพร่ระบาดระลอกใหญ่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ทาง CPN ได้สั่งหยุดการให้บริการทุกชนิด รวมถึงการส่งอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต่างไปจากมาตรการล็อกดาวน์ในระลอกแรกที่ยังคงให้ร้านค้าจำหน่ายสินค้าแบบส่งอาหารอยู่ ในส่วนของรายได้ประจำปีของ CPN เซ็นทรัล พลาซา มหาชัย สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2% นอกจากนี้ อัตราผู้เข้าใช้บริการในสาขามหาชัยนั้นก็ได้มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่การระบาดรอบแรกในช่วงต้นปีอยู่แล้ว เนื่องจากห้างสรรพสินค้านั้นเน้นลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงแนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 66.00 บาท (SOTP)
“ภาดล วรรณรัตน์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด วิเคราะห์สถานการณ์ COVID-19 ในตอนนี้ว่า จะกดดันบรรยากาศการลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมในกรอบจำกัด เนื่องจากใกล้ช่วงวันหยุดยาวการซื้อ-ขายของนักลงทุนต่างชาติเริ่มเบาบางลง สำหรับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ เพราะการตัดสินใจลงทุนในช่วงก่อนเทศกาลหยุดยาวมีหลายปัจจัยประกอบกัน
โดยหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมทั้ง AAV, BA, MINT, CENTEL, ERW, AOT, CRC, CPN, MAJOR, และ SPA ได้รับปัจจัยกดดันทางด้านจิตวิทยาการลงทุน ประกอบกับราคาหุ้นเร่งตัวขึ้นมาในระดับที่นักลงทุนมีกำไร จึงคาดว่าจะมีแรงขายทำกำไรออกมา ก่อนจะกลับเข้าทยอยลงทุนช่วงครึ่งหลังของไตรมาส 1/2564 เพื่อรับการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
ขณะที่ บล.ทิสโก้ คาดว่าหุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรงมากที่สุด คือ หุ้นที่มีที่ตั้งและธุรกิจอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร จากการตรวจสอบมีทั้งหมด 13 บริษัท เช่น ASIAN, EKH, M-CHAI, VIH เป็นต้น คิดเป็นประมาณ 2% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้ง SET และ mai ทั้งหมดที่มีจำนวน 808 ขณะที่รายได้และยอดขาย คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% และ 0.4% ของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 9 เดือนของปี 2563
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้า ได้แก่ CPN, CRC, HMPRO, GLOBAL, BJC, MAKRO และ DOHOME ในพื้นที่ถูกสั่งปิดชั่วคราว สำหรับร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ CPALL เปิดได้ แต่ให้ปิดในช่วงกลางคืน รวมทั้งกลุ่มร้านอาหาร เช่น M, ZEN, AU และ OISHI มีผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้โดยรวมเฉลี่ยราว 1-2% เท่านั้น แต่วัตถุดิบอาหารอาจเป็นบวกเล็กน้อย (RBF) จากการกักตุนอาหาร ส่วนกลุ่มเกี่ยวข้องการท่องเที่ยวและเดินทาง เช่น BDMS, BH, AOT, AAV, CENTEL, ERW และ MINT ได้รับผลกระทบเช่นกันจากความระมัดระวังของประชาชนในการเดินทาง ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดว่ารุนแรงยาวนานเพียงใด และกลุ่มแบงก์โดยรวมที่อ่อนไหวกับเศรษฐกิจอาจเผชิญแรงขายระยะสั้นด้วยจากความกังวลเกี่ยวกับ NPL
แต่สำหรับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย และหุ้นเทคโนโลยีตามกระแส New Normal จะได้ประโยชน์ อาจมีแรงเก็งกำไรในระยะสั้น เช่น STGT, STA, HANA, KCE, COM7, ILINK, JMT, SIS และ SYNEX รวมทั้งการขายประกัน เช่น TQM และ BLA
ดังนั้น การแพร่ระบาดระลอกใหม่จะกดดันบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเฝ้าระวังไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยคาด SET Index จะตอบสนองด้วยการปรับตัวลงราว 2-3% แต่คาดว่าจะเป็นจังหวะดีในการทยอยสะสม/ซื้อคืน หลังจากที่แนะนำให้นักลงทุนระยะสั้นทยอยขายช่วง SET Index ขึ้นเข้าใกล้บริเวณ 1,500 จุด