หุ้น "เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ'' ยังคงบวกต่อเนื่อง หลังตัวเลขงบไตรมาส 2 และ 3 ออกกำไรพุ่ง 132.7% และ 327.25% ตามลำดับ นักลงทุนไล่เก็บเข้าพอร์ตตั้งแต่ยังไม่ประกาศงบ ดันราคาหุ้นวิ่งแบบฉูดไม่อยู่จนทะลุ 400 บาทได้ เหตุทุกประเทศยกเลิกล็อกดาวน์เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย อีกทั้งการทดลองวัคซีนคืบหน้าต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ขับเคลื่อนความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทะยาน แถม "เดลต้าไต้หวัน" คิดค้นอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 ยิ่งมีแรงเก็งกำไรเข้ามาในหุ้น DELTA โบรกฯ มอง DELTA ราคาแพงเกินปัจจัยพื้นฐาน และมีความเสี่ยง
หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มานั้น หลายประเทศรวมทั้งไทยเองก็ประกาศล็อกดาวน์ แม้จะผ่านพ้นไปเกือบหลายเดือน ทำให้ท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จึงเริ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าและขับเคลื่อนไปอาจไม่ปกตินักแต่ก็เริ่มส่งสัญญาณที่ดี เพราะพิษโควิด-19 ทำให้ระบบการทำงานและการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปสู่นิว นอร์มอล (new normal) ดังนั้น จากผลกระทบในช่วงการล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจด้าน Data Center และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้ผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เติบโต
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA คือหนึ่งในหุ้นกลุ่มดังกล่าว และราคาหุ้นของ DELTA ขยับขึ้นมาปรับขึ้นมาเทรดเหนือ 100 บาทเมื่อ 30 กรกฎาคม 63 ซึ่งวันดังกล่าวปิดที่ 113.50 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 15.50 บาท หรือ 14.98% หลังจากนั้นราคาหุ้น DELTA ก็ขยับขึ้นเรื่อยมาเทรดที่ 229 บาท เมื่อ 27 พฤศจิกายน เพิ่มจากวันก่อน 11 บาท ก่อนขึ้นแตะราคา 406 บาทไดั 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนจะปรับลงเมื่อปิดตลาดที่ราคา 350 บาท หรือเพิ่มจากวันก่อนหน้า 16 บาท และหลังจากนั้นราคาหุ้นก็แผ่วกลับลงมาเทรดที่ 300 บาทปลายๆ เกือบชน 400 บาทแล้ว
โดย ตัวแปรที่เป็นปัจจัยหนุนหุ้น DELTA คือความคาดหวังในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ทั่วโลกให้ความสนใจในขณะนี้ อันจะเป็นปัจจัยหนุนการสร้างรายได้ให้เติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งเดลต้าไต้หวันที่สามารถคิดค้นอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 ได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของ บริษัท เดลต้า ไต้หวันพุ่งขึ้น ส่งผลดีต่อหุ้น DELTA ด้วย ถือเป็นเชิงจิตวิทยา อีกทั้งการประเมินถึงพิจารณานำเข้าสู่ดัชนี SET50 อีกรอบ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดเพราะ DELTA ถูกเลือกเข้าดัชนี SET50 อีกครั้ง จากการประกาศรายชื่อของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 17 ธันวาคมที่เพิ่งผ่ามานี้
โดยราคาหุ้น DELTA เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมพบว่าปิดที่ 378 บาท เพิ่มขึ้น 17 บาท คิดเป็น 4.71% มูลค่าซื้อขาย 1,192.26 ล้านบาท
พลาดเก็บ DELTA เข้าพอร์ต ยากหาหุ้นใดเทียบ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า DELTA เป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดของปี 2563 เพราะราคาพุ่งทะยานนับ 10 เท่าตัว หรือกว่า 1,000% ภายในระยะเวลาเพียง 12 เดือนที่ผ่านมา กล่าวคือ จากราคาต่ำสุดที่ 27 บาท กระทั่งเมื่อ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ราคาพุ่งทะยานขึ้นถึง 406 บาท ในระหว่างชั่วโมงซื้อขาย ก่อนจะลงมาปิดการซื้อขายที่ราคา 343 บาท
ทั้งนี้ DELTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2538 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ผลิตชิ้นอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุด มีมาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 4.27 แสนล้านบาท จนคาดกันว่าจะถูกดึงนำเข้าคำนวณใน SET 50
อย่างไรก็ดี ราคาหุ้น DELTA เคยทรุดหนัก ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 เช่นเดียวกับหุ้นแทบทั้งกระดาน แต่หลังจากนั้นฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากราคาไม่กี่ 10 บาท พุ่งขึ้นมาจนทะลุ 400 บาท พร้อมกับมีผลการดำเนินงานมาการันตี เพราะงวด 9 เดือนแรกปีนี้ DELTA มีกำไรสุทธิ 5,520.09 ล้านบาท และเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ราคาหุ้นเด้งแรง ซึ่งผลประกอบการที่เติบโตก้าวกระโดดเพราะได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ซึ่งทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น จนผลิตไม่ทันต่อความต้องการ แต่ราคาหุ้นที่พุ่งทะยานขึ้นมากว่า 10 เท่าตัว ภายในรอบ 12 เดือน ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เริ่มส่งเสียงเตือนนักลงทุน
ดังนั้น จากเสียงเตือนของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทำให้ หุ้น DELTA แม้จะถูกลากขึ้นไปสูงทะลุ 400 บาท ก็กลับแผ่วลงมาปิดที่ 343 บาท เพราะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ ประเมินราคาเป้าหมาย DELTA อยู่ประมาณ 300 บาท เมื่อมีการลากทะลุเกิน 300 บาทขึ้นไป จึงถือเป็นราคาที่แพงเกินปัจจัยพื้นฐาน และมีความเสี่ยง จึงแนะให้นักลงทุนทยอยขายทำกำไร
หากพิจารณาจากค่าพี/อี เรโช DELTA ราคานี้ ถือว่าสูงจริงๆ และเป็นราคาที่ซื้ออนาคตค่อนข้างไกล เพราะค่าพี/อี เรโชพุ่งไป 72 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนเหลือเพียง 0.52% เท่านั้น แม้อนาคตผลประกอบการ DELTA ยังสดใส สินค้ายังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ราคาได้ขึ้นมาแซงหน้าปัจจัยพื้นฐานไปไกลมากแล้ว จึงไม่เหมาะที่จะเก็งกำไรระยะสั้น แต่จะต้องซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาวจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ปีนี้คงไม่มีหุ้นตัวไหนจะชิงความเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนดีที่สุดไปจาก DELTA ได้ เพราะภายใน 12 เดือน ทำกำไรได้กว่า 1,000% ใครช้อนไว้ตอนต้นปี และยังไม่ขาย รวยเหมือนถูกหวยรางวัลที่ 1 ไปแล้ว แต่ราคา DELTA ขณะนี้สูงเกินไปที่จะเข้าไปเสี่ยงเก็งกำไร
ทั้งนี้ แต่ละปีจะมีหุ้นที่สร้างผลตอบแทนโดดเด่น ราคาหุ้นพุ่งทะยานนั 100 เปอร์เซนต์หรือหลาย 100 เปอร์เซนต์ แต่ไม่บ่อยนักที่จะมีหุ้นที่ดีดตัวแรง 6-7 เด้ง หรือ 600-700% เหมือนหุ้น DELTA ในปีนี้ แม้ว่าช่วงโควิด-19 ระบาดหนักช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หุ้นถูกทุบไปที่ 27 บาท แต่เวลาไม่ถึงปี ราคาหุ้นทะยานสู่ 400 บาทได้อย่างไม่น่าเชื่อ และคนที่เก็บหุ้นไว้ในพอร์ตแบบเย็นๆ ใจ รอบนี้รวยไม่รู้เรื่อง
เพราะเมื่อปิดตลาดครึ่งปีแรกหุ้น DELTA ไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน และไม่อยู่ในสายตาของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีกำไรสุทธิ 2,021.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ยังผลให้มีนักลงทุนเริ่มเก็บหุ้น อีกทั้งผลงานไตรมาส 3 มาตอกย้ำอีกครั้งที่กำไรพุ่ง 327.25% หรือ 2,642.09 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นเทรดกันที่ 160-170 บาท
อย่างไรก็ดี DELTA ฟื้นสภาพเพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านปัจจัยพื้นฐาน โดย ผลกำไรที่กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นการพลิกฟื้นจากผลประกอบการที่ตกต่ำช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก มาสู่การฟื้นตัวจากผลประกอบการที่สดใส จึงเป็นหุ้นมีที่ไปที่มาของราคาหุ้นที่พุ่งขึ้น เพราะผลการดำเนินงานก้าวกระโดด 2 ไตรมาสติดต่อ อีกทั้งมีหลายปัจจัยจะมาหนุนให้ผลประกอบการสดใสได้อีกในระยะยาว แม้ว่าจะไม่เห็นผลทันตาแต่เวลาอีกไม่นานจะทำให้มองเห็นภาพของ DELTA อีกวาระหนึ่ง
โบรกฯ มองราคาหุ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน
นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เผยว่าราคาหุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้นรับ 2 ปัจจัยเชิงบวกคือ ราคาหุ้นเดลต้าไต้หวันปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง และรับข่าวเชิงจิตวิทยาเมื่อต้นเดือน ธ.ค.เกี่ยวกับเดลต้าไต้หวันที่สามารถคิดค้นอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 ทำให้มีแรงเก็งกำไรเข้ามาในหุ้น DELTA ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยพื้นฐานพอจะยืนยันว่าอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 ดังกล่าวใช้ได้ผลจริงแค่ไหน และจะมีโอกาสสร้างรายได้มากน้อยอย่างไร
สำหรับ ราคาหุ้นปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงซึ่งปัจจุบันราคาทะลุ 300 บาทแล้ว ถือว่าสูงเกินปัจจัยพื้นฐานที่นักวิเคราะห์ต่างๆ ประเมินไว้ที่ 200-250 บาทต่อหุ้น นักลงทุนควรระมัดระวังในการลงทุนในหุ้น DELTA โดยเชิงปัจจัยพื้นฐาน แนะนำว่าไม่ควรไล่ซื้อเก็งกำไร และควรจะขายทำกำไรบางส่วนออกมาเพราะราคาหุ้นรับปัจจัยบวกไปมากแล้ว ส่วนกลยุทธ์การลงทุนหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังให้มุมมองเชิงบวกและให้น้ำหนักการลงทุนที่มากกว่าตลาด แต่ต้องเลือกหุ้นรายตัว
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นเดลต้าปรับขึ้นร้อนแรงกว่าปัจจัยพื้นฐานไปไกลมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยใหม่ คือ หุ้นเดลต้าไต้หวันปรับตัวขึ้นเร็ว และอาจจะพิจารณานำเข้าสู่ดัชนี SET50 อีกรอบ รวมถึงปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น ความคาดหวัง 5จี และดาต้าเซ็นเตอร์ที่กำลังเป็นเทรนด์ในปีหน้า ทั้งนี้ ราคาหุ้น DELTA ที่ปรับตัวแรงน่าจะมาจากแรงเก็งกำไรของกองทุนไทย
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯ ว่า หลักทรัพย์เข้าคำนวณ FTSE ประกาศและมีผล 21 ธ.ค.63 โดย FTSE SET Large-Cap Index ได้เพิ่มหุ้น DELTA เข้าไปด้วย กอปรกับผลงานไตรมาส 2 ที่ประกาศออกมานั้นมีกำไร 2,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำไว้ 872 ล้านบาท และล่าสุดไตรมาส 3 มีกำไร 2,642 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 618 ล้านบาท จะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีตัวแปรที่เป็นปัจจัยหนุน คือ ความคาดหวังในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นกระแสความสนใจทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งเป็นสตอรีที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตต่อเนื่องในอนาคตได้อย่างมหาศาลทีเดียว
อย่างไรก็ตาม จากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในขณะนี้ ได้สะท้อนมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานในอนาคตไปมากแล้วหรือยัง ต้องบอกว่าเกินไปมากแล้ว แถมยังเต็มมูลค่าเกินกว่าราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ไปมากโข ความเสี่ยงจากโอกาสของการถูกขายทำกำไรจากผู้ที่มีต้นทุนที่ต่ำจึงสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น แนะนำ "Fully Valued" ราคาเป้าหมาย 200 บาท/หุ้น (เดิมถือ) หลังจากราคาหุ้นปรับขึ้นแรง (+29% นับตั้งแต่สิ้น ต.ค.63 เพราะมีประกาศว่าจะถูกนำเข้าไปคำนวณใน MSCI Global Standard Index และ +331%YTD) และราคาหุ้นปัจจุบันมี P/E ปี 64F สูงถึง 36 เท่า หรือ +3SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีและค่าเงินบาทแข็งทำให้การเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นในปี 64F จำกัด
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าปี 64 บริษัทจะมียอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับรถยนต์ EV เพิ่มขึ้น และอัตรากำไรส่วนนี้จะสูงขึ้นเพราะมี Economy of scale แต่จะถูกชดเชยไปด้วยเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นจำกัด ส่วนในระยะยาวคาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการ DELTA Smart Manufacturing ซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น พร้อมปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 63F-64F ขึ้น 4% และ 3% สะท้อนยอดขายรูปดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่าย SGA/ยอดขายลดลง แต่คงสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นไว้เท่าเดิม และให้ราคาพื้นฐานใหม่ 200 บาท อิงกับ P/E ปี 64F ที่ 31 เท่า ซึ่งมี Downside 13% จากราคาปัจจุบัน จึงแนะนำเต็มมูลค่า (Fully Valued)
บล.ทิสโก้ แนะนำ "ขาย" ราคาเป้าหมาย 213 บาทต่อหุ้น เพราะจากการคุยกับผู้บริหาร DELTA ในประเด็นผลประกอบการ 4Q20F และแนวโน้มปี 2564 บล.ทิสโก้ คาดว่าผลประกอบการ 4Q20F จะอ่อนแอลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก R&D ในยุโรป และค่าขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้นกดดัน นอกจากนี้ DELTA ตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้นมากกว่า 10% จากเดิมที่ 5-10% จากอุปสงค์ของ EV สื่อสาร และการย้ายธุรกิจบางส่วนมาจากจีน แต่ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 547% YTD และการประเมินมูลค่าที่ค่อนข้างแพง 47-52 เท่า PER สำหรับปี 2021-22F เทียบกับคู่แข่งที่ 25-35 เท่า ทำให้ บล.ทิสโก้ แนะนำ “ขาย”
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้ คาดผลประกอบการ 4Q20F ที่ 1.79 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 367% จากปีก่อน แต่ลดลง 32% จากไตรมาสก่อน ด้านยอดขายคาดอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท หรือ 528 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน แต่ลดลง 6% จากไตรมาสก่อน จากผลกระทบทางฤดูกาล ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 5.5% QTD และปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 26.1% ในช่วงไตรมาส 3 ปี 63 เป็น 25.5% ด้านสัดส่วนยอดขายสัดส่วนของสินค้า EV ที่มีอัตรากำไรต่ำเพิ่มขึ้นเทียบกับกลุ่มสื่อสาร เช่น Data Center นอกจากนี้ คาดว่าค่าใช้จ่ายต่อยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 15.4% เทียบกับ 12.6% ในช่วงไตรมาส 3
เนื่องมาจากต้นทุนการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้าน R&D ที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มโครงการใหม่ที่เวียดนาม ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงจาก 13.6% เป็น 10.1% ปรับประมาณการขึ้น 4-6% สำหรับปี 2020-2021F เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น จึงคาดยอดขายในสกุล USD เพิ่มขึ้น 5-8% สำหรับปี 2020-2021F คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้น 18-15% จากการเติบโตของธุรกิจ EV และการย้ายธุรกิจไต้หวันเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ปรับค่าเงินจาก 30.9 บาท เป็น 30.2 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้น 3.6-5.6% ตามลำดับ พร้อมปรับมูลค่าที่เหมาะสมขึ้นเป็น 213 บาท แนะนำให้ "ขาย" โดยอิง PER ที่ 32.5 เท่าสำหรับปี 2021F โดยที่มีความเสี่ยงคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่วนแบ่งกำไรของ Delta Taiwan และการขยายการดำเนินงานที่อินเดีย
โดยสรุป DELTA ยังคงเป็นหุ้นที่น่าสนใจของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ก่อนหน้าราคาจะทรุดอย่างสาหัส ซึ่งนั่นก็ล้วนเป็นไปตามภาวะตลาดที่แทบทุกบริษัทได้รับจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อทุกอย่างคลี่คลายหลายอุตสาหกรรมจึงสดใสขึ้นมาอย่างทันตาเห็น