การประกาศเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 7 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทย่อยของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ถือหุ้นอยู่ เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้หุ้น BANPU กลับสู่ความร้อนแรง
ราคาหุ้น BANPU วันพุธที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ทะยานขึ้นรับข่าว ก่อนปิดการซื้อขายที่ 10.10 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10.99% มูลค่าซื้อขาย 4,455.74 ล้านบาท และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดอันดับ 1
ตั้งแต่ต้นปี BANPU เป็นหุ้นที่ถูกลืม ใครลงทุนไว้ต้องกลุ้มใจ เพราะราคาย่ำฐานอยู่แถว 6 บาท และทรุดลงหนักในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยราคาลงไปต่ำสุดที่ 4.20 บาท
ผลประกอบการที่ตกต่ำทำให้นักลงทุนมองข้ามหุ้น BANPU โดยปี 2562 ผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 552.86. ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 6,693.73 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนไปแล้ว 1,318.21 ล้านบาท
หลังผ่านพ้นไตรมาสแรกมาแล้ว สถานการณ์ “โควิด-19” ภายในประเทศคลี่คลาย หุ้นส่วนใหญ่เริ่มฟื้นตัว แต่หุ้น BANPU กลับฟุบอยู่เหมือนเดิม ราคาขยับขึ้นลงแถว 6 บาท จนจัดเป็นหุ้นยอดแย่ นักลงทุนที่ถือไว้มีแต่ความซึมเศร้า
ในอดีต BANPU ถูกจัดเป็นหุ้นชั้นดี อยู่ในความสนใจของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบัน ยังมีนักลงทุนสถาบันถือหุ้นอยู่ เพียงแต่ในช่วงหลังเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นเก็งกำไรยอดนิยม โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 61,624 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 87.79% ของทุนจดทะเบียน ขณะที่กลุ่มว่องกุศลกิจ ถือหุ้นรวมกันประมาณ 10%
แม้เข้าข่ายหุ้นเก็งกำไรยอดนิยม แต่ BANPU ยังเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐาน และจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง แม้ปี 2562 ผลประกอบการจะขาดทุน แต่ยังจ่ายเงินปันผลอยู่ โดยอัตราเงินปันผลตอบแทน 6.66% จึงทำให้หุ้นไม่เกิดความผันผวนรุนแรงมากนัก
เพราะถ้าราคาลงมาลึกๆ จะมีแรงซื้อเข้ามาพยุงไว้ ทำให้สามารถรักษาฐานราคาระดับ 6 บาทได้หลายเดือน แม้ผลประกอบการจะออกมาย่ำแย่ต่อเนื่องก็ตาม
จุดพลิกฟื้นของราคาหุ้น BANPU เริ่มต้นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นแกว่งตัวขึ้นจนยืนเหนือ 7 บาท และแกว่งตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่ขึ้นได้ต่อเนื่องจนทะลุ 10 บาทขึ้นมาได้
การเปิดดำเนินงานในเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ ประเทศญี่ปุ่น ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้หุ้น BANPU พุ่งทะยาน เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลงผลิตเพียง 7 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่น่าจะมีปัจจัยอื่นสนับสนุนมากกว่า โดยอาจเป็นเรื่องผลประกอบการที่กระเตื้องขึ้น
ราคาหุ้น BANPU ในรอบ 12 เดือน เคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 12.30 บาท แม้การฟื้นตัวรอบนี้ยังไม่แตะจุดสูงสุดเดิม แต่ถ้าเทียบกับจุดต่ำสุดช่วงวิกฤต “โควิด-19” ที่ 4.20 บาท ถือว่าทะยานขึ้นมาแล้วประมาณ 140% และเป็นหุ้นอีกตัวที่เด้งแรง
เพียงแต่ไม่อาจคาดหมายว่าจะมีแรงวิ่งไปได้อีกไกลหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นข่าวดีที่ชัดเจนของหุ้นตัวนี้ นอกจากคาดเดากันไปว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 น่าจะอออกมาดี และมีนักลงทุนประเภทนกรู้ เข้ามาไล่เก็บหุ้นตุนไว้ล่วงหน้า
BANPU กลับเข้าสู่บรรยากาศเก็งกำไรอีกครั้ง นักลงทุนที่ติดดอยไว้คงมีกำลังใจบ้างละ รอคอยมาเกือบทั้งปี เพิ่งจะวิ่งนี่แหละ