xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจปี 64 ฟื้นตัวช้า หลายปัจจัยรุมเร้า คาดชัดเจนครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิจัยมองการฟื้นตัวของจีดีพีปี 2564 ส่วนหนึ่งมาจากฐานต่ำในปีก่อน ขณะการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งออก การบริโภคภาคเอกชนยังมีความเปราะบาง เชื่อการใช้จ่าย-มาตรการต่างๆ ของรัฐยังจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นตัวแปรหลัก คาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยช่วงครึ่งปีหลัง และไตรมาส 2 จีดีพีเริ่มเป็นบวก ส่งผลให้ภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน แม้มีปัจจัยเสี่ยงอย่างปัญหาการเมือง เงินบาทแข็งค่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบสอง และสงครามการค้า แนะติดตามการท่องเที่ยว อสังหาฯ และรถยนต์

หลังจากที่เศรษฐกิจไทยโดนถล่มจากพิษโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในประเทศนานกว่าไตรมาส ขณะที่มาตรการปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกอันเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย แม้จะมีมาตรการต่างๆ ของภาครัฐออกมาพยุงในหลายๆ จุด แต่ในท้ายที่สุดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจก็ยังเป็นตัวเลขติดลบ ส่วนในปี 2564 นี้ที่ยังมีกลิ่นอายของโควิด-19 คุกคามอยู่จะเป็นอย่างไรนั้น มาดูมุมมองของแบงก์พาณิชย์ในประเด็นทิศทาง-แนวโน้มเศรษฐกิจกัน

วัคซีนตัวแปรหลักพลิก เศรษฐกิจฟื้น-ฟุบ

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวที่ 3.8% มีปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเม็ดเงินอัดฉีดจากภาครัฐทั้งในส่วนของงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาในสมมติฐานที่มีการกระจายวัคซีนในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งมองว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่ในกรณีประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มต้นได้รับวัคซีนที่จองซื้อไว้ในช่วงกลางปีและจะมีการฉีดอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งหลังของปี จึงทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขปี 2562 ที่เกือบ 40 ล้านคนอยู่มาก

ขณะที่ภาคส่งออกของไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนและต้นทุนที่สูงขึ้นของตู้คอนเทนเนอร์โดยเฉพาะในช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีนี้ และแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปีหน้า ทั้งนี้ คาดการณ์เงินบาทปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระดับ 29.50-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากสิ้นปีก่อนที่ 30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"การฟื้นตัวมาเป็นบวกของจีดีพีในปี 2564 ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งออก การบริโภคภาคเอกชนยังมีความเปราะบาง ดังนั้น การใช้จ่าย-มาตรการต่างๆ ของรัฐยังมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็นคือในระยะต่อไปเม็ดเงินที่ลงไปควรแบ่งสัดส่วนใช้ในการฟื้นฟูเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการกลับมาทำธุรกิจหรือประกอบอาชีพ มากกว่าการเยียวยาเป็นหลัก"

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเป็นผลกดดันจากแผลเป็นเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย หนึ่ง ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ได้แก่ การว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้นมาก และการที่แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง สอง การเปิด-ปิดกิจการที่ยังซบเซาต่อเนื่อง และสาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยแผลเป็นทั้ง 3 ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ทำให้แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในปีหน้า แต่ยังต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐค่อนข้างมาก ซึ่งคาดว่า GDP จะเข้าสู่ระดับปกติหรือเทียบเท่าปี 2562 ได้ในปี 2565

เผย 3 อุตฯ ยังต้องตามติด

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ปี 2564 จีดีพีเติบโต 2.6% (มีกรอบที่ 0.0-4.5%) โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ไม่สูงนักดังกล่าว สะท้อนภาพความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 รวมถึงประเด็นเรื่องความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวคงจะทยอยทำได้อย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ 3% หลังจากที่คาดว่าจะ -7% ในปีก่อน โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าในประมาณการที่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง

"ปัจจัยความไม่แน่นอนหลักขึ้นอยู่กับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งแม้มีความคืบหน้าแต่การนำมาใช้จนมีผลบวกต่อเศรษฐกิจยังไม่เร็ว น่าจะปลายปีนี้หรือปีหน้า โดยสรุปปี 2564 มีปัจจัยบวกดีกว่าปีนี้ แต่ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนทำให้การฟื้นตัวเป็นอย่างช้าๆ ขณะที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังมีอยู่ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากแนวนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเฟดที่พร้อมจะผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย"

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ด้านนโยบายการเงิน คาดการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะ และหากมีสัญญาณลบของการฟื้นตัว กนง.ก็ยังมีพื้นที่ลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ คงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายอื่นๆ ที่น่าจะมีประสิทธิผลตรงจุดกว่า

ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะเติบโตได้ประมาณ 4% (กรอบประมาณการที่ 3.0-4.5%) จากปี 2563 ที่ประมาณการไว้ 4.5% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 3.0% สินเชื่อรายย่อยขยายตัว 4.5% ซึ่งสถานการณ์ด้านสินเชื่อน่าจะอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับปีนี้ แต่โจทย์สำคัญในภาคการเงินคือ การดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวมให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง ขณะที่ Reported NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้ แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูง และยังไม่ใช่จุดสูงสุด

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางอุตสาหกรรมปี 2564 ว่า แม้อุตสาหกรรมหลักของไทยส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเป็นบวก แต่ก็เป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในปีก่อน และเนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีเงื่อนไขที่ต่างกัน เส้นทางการฟื้นตัวจึงไม่เท่ากัน โดยอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวช้าและมีประเด็นติดตามสำคัญ 3 อุตสาหกรรม คือประการแรก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะยังได้รับผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐคงต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนและการ Warehouse สถานประกอบการ เพื่อประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้

ประการที่สอง อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่อาจยังมีประเด็นด้านสภาพคล่อง ท่ามกลางหน่วยเหลือขายสะสมที่คาดว่าจะสูงราว 2.2 แสนหน่วย ณ สิ้นปี 2564 ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่ และสุดท้ายคือเรื่องของรถยนต์ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคงผ่านปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ถัดจากนี้อุตสาหกรรมจะเจอโจทย์ที่ต้องยกระดับการผลิตไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต มิเช่นนั้นจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกได้

คาดไตรมาส 2 เริ่มเป็นบวก

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดการณ์จีดีพีปี 2564 เติบโต 3.3% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 64 ด้วยปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวตามวัฏจักรของอุปสงค์ภายนอกประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็มองเห็นความท้าทายรออยู่ข้างหน้าท่ามกลางปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ ขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช้ากว่าปัจจัยขับเคลื่อนอื่น โดยคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมาที่ 4.0 ล้านคนในปี 2564 จาก 6.7 ล้านคน ในปี 2563 ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากในภาคบริการ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องภาวะการว่างงานยังคงส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังคงต้องตามในด้านพัฒนาการต่อไป ซึ่งหากมีความรุนแรงก็อาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความกังวลในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโต โดยการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตจากแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศในระยะปานกลาง

ห่วงเงินร้อนฉุดบาทแข็ง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.1% ดีขึ้นจากที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 2.8% แต่ภาพของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวน่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าคาดน่าจะมาจากการแจกจ่ายวัคซีนได้ทั่วถึงที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาได้เร็ว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังคงเหมือนปีนี้ นั่นคือปัญหาการเมือง เงินบาทที่แข็งค่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบสอง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจปีหน้ากำลังฟื้นตัวได้ดีขึ้นผ่านเครื่องจักรสำคัญคือภาคการส่งออกสินค้า แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบภาคการค้าคือ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ และอาจแข็งค่าเทียบประเทศคู่ค้าสำคัญรายอื่นๆ ของไทยด้วย โดยเงินบาทที่แข็งค่ามาจาก ปัจจัยแรก เกิดจากการเกินดุลการค้าที่มากขึ้นตามการส่งออก ขณะที่การนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอาจยังไม่เติบโตมากนักตามการลงทุนภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวช้า และปัจจัยที่สอง คือ กระแสเงินไหลเข้าในตลาดทุนที่มากขึ้น ทั้งจากการคลายความกังวลในวิกฤตเศรษฐกิจ จากสภาพคล่องที่ล้นระบบตลาดการเงินในประเทศสหรัฐฯ และอีกหลายอย่างจึงส่งผลให้เงินลงทุนเก็งกำไรจากต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยหรือที่เรียกว่าเงินร้อน น่าจะมีส่วนสำคัญให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็วในปีหน้า โดยมองว่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ถึง 6% จากปลายปีนี้หรือไปแตะระดับ 28.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปีหน้านี้ อาจมีผลให้การส่งออกสินค้าเติบโตได้ช้าลง

"เราคงต้องฝากความหวังกับทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท.ในการสกัดเงินร้อน หรือหามาตรการเร่งให้เกิดความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แต่ผมเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้คงยากที่จะต้านทานกระแสเงินร้อนได้ เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวในปีหน้าอาจเป็นในลักษณะที่ฟื้นเพียงภาคการส่งออกแต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอหรือฟื้นตัวช้าโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ยังมีปัญหายอดขายเติบโตช้า หนี้เสียที่สูงขึ้นในระบบอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงมีผลให้คนระมัดระวังการใช้จ่าย ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับขึ้นไปเป็นปกติส่งผลให้รายได้ยังไม่กลับไปในช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งในปีหน้านี้ แต่อาจเห็นเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่งชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ชัดเจนก่อนวิกฤตโควิด-19 ในปี 2565"




กำลังโหลดความคิดเห็น