xs
xsm
sm
md
lg

ประธานขับเคลื่อน ศบศ.ชี้ "คนละครึ่ง" ช่วยแก้ ศก.รากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานขับเคลื่อน ศบศ.ชี้ "คนละครึ่ง" ช่วยแก้ ศก.รากหญ้า แม้เม็ดเงินไม่ได้มาก แต่ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายทุกวันรวมเสาร์-อาทิตย์ ทำให้เฟืองตัวเล็กที่สุดในระบบเริ่มหมุน พร้อมดันลงทุนแลนด์บริดจ์

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยถึงความสำเร็จโครงการคนละครึ่งว่า เป็นโครงการที่สามารถกระจายเงินลงไปสู่ระดับรากหญ้าโดยตรงเป็นครั้งแรก แม้เม็ดเงินไม่ได้มาก แต่ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายทุกวันรวมเสาร์-อาทิตย์ ทำให้เฟืองตัวเล็กที่สุดในระบบเริ่มหมุน ดังนั้น หากเดินหน้าแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในระดับหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นชั้นเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างบุคคลและเอสเอ็มอีเริ่มขยับตัว ต่อไปก็จะเห็นเอสเอ็มอีดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ที่ใหญ่กว่านั้นอีก 2-3 เรื่อง คือ ทำให้ธุรกิจระดับล่างสุด คือ หาบเร่ แผงลอย เข้าสู่ระบบดิจิทัล โดยได้รับการพิสูจน์ว่ามีสมาร์ทโฟนเพียง 1 เครื่องก็สามารถทำธุรกิจได้แล้ว

"เรื่องนี้เกิดขึ้นในเมืองจีน เมื่อมี Sars ระบาด ตอนนั้นเราไม่มี Sars ระบาดเลยไม่มีการพัฒนาระบบนี้ ต่อไปนี้พ่อค้าแม่ค้า 5 แสนราย จะรู้ว่าจะเข้าสู่ระบบ e-trading หรือระบบที่ซับซ้อนกว่านี้ได้" นายไพรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดไปอีก โดยให้หน่วยงานรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ไปติดต่อกลุ่มเหล่านี้ที่ไม่สามารถกู้เงินในระบบปกติได้ และแทนที่ด้วยไมโครเครดิตที่เป็นระบบที่ไม่ได้เอาเปรียบ เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ 5 แสนราย และในเฟส 2 อาจขึ้นถึง 1 ล้านราย เข้าสู่ระบบการค้าที่ใหญ่กว่านั้นได้ และพัฒนาเป็นเอสเอ็มอีด้วยตัวเอง เป็นการยกระดับและเป็นการแก้ปัญหาที่รากหญ้าอย่างแท้จริง

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจมี 4 เครื่องด้วยกัน คือ การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การนำเข้าและส่งออก และการใช้จ่ายภาคเอกชน ทุกวันนี้จะเห็นว่าเครื่องยนต์ที่ยังติดอยู่ดีอยู่มีเครื่องเดียว คือ การลงทุนภาครัฐ ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ คือ สร้างความเชื่อมั่นและให้เอกชนเริ่มมาลงทุน ส่วนการใช้จ่ายต่างๆ ก็อยู่ที่โครงการ มาตรการต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

หากดูจากการระบาดรอบ 2 ของเชื้อโควิด-19 ในต่างประเทศขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังไม่เบาลง โดยมองว่า มี 2 เหตุผลสำคัญที่จะทำให้โควิด-19 เริ่มเบาบางลง คืออากาศเริ่มอุ่นขึ้น เข้าสู่หน้าร้อน เหมือนปีที่แล้ว พอเดือน เม.ย.-พ.ค.อากาศเริ่มร้อน ทำให้สามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ และอีกเรื่องคือ วัคซีน ที่ต้องรอหลังกลางปีหน้า หมายความว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ ต้องเดินหน้าต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติเฟส 2 ไปแล้วว่าจากวันที่ 1 ม.ค.64 จะเริ่มคนละครึ่งเฟส 2 ไปอีก 3 เดือน ตอนนั้นก็ค่อยมาดูว่าจะมีความจำเป็นจะต้องต่อไปอีกแค่ไหน

ขณะที่ในเรื่องนำเข้าและส่งออกติดปัญหาในเรื่องค่าเงินบาท โดยต้องยอมรับว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจค่อนข้างจะมีความเข้มแข็ง ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก

"เรามีทุนสำรองอยู่เยอะ ปัจจุบันหนี้สาธารระต่อจีดีพีอยู่ต่ำกว่า 60% ถ้าเทียบประเทศอื่นที่เกิน 100% ไปแล้ว ก็อยู่ในฐานะที่ดี ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่ดูแลเรื่องของค่าเงิน" นายไพรินทร์ กล่าว

ในเรื่องการลงทุนภาคเอกชน ปัจจุบันหลายโครงการมีการเดินหน้า เช่น รถไฟรางคู่หลายสัญญามีการลงนามไปแล้ว รถไฟความเร็วสูงก็เซ็นสัญญา รถไฟที่กำลังรอเดินรถ อย่างสายสีแดง ทราบข่าวดีจากทางคมนาคมว่าจะพยายามให้ทดลองเดินรถในวันที่ 1 มี.ค. หรือเม.ย.นี้

"จะเห็นว่าถ้าระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อน การใช้จ่ายก็มี การลงทุนก็จะมี แล้วเรายังได้เสนอเมกะโปรเจกต์โครงการระยะยาว เช่น สะพานไทยเชื่อมอ่าวไทย ทั้ง 2 ฝั่ง จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมาก"

นายไพรินทร์ กล่าวว่า โครงการสะพาน ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงโครงการคลองไทย หรือแลนดบริดจ์ ทางภาคใต้ ซึ่งเป็นการเชื่อมฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย แต่ว่าหากเราถอยมาจะเห็นว่าในอ่าวไทย มีความไม่เท่าเทียมกันทางฝั่งพัทยากับหัวหินค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 คนที่มาเมืองไทย 9 คนจะไปเที่ยวฝั่งพัทยา มีเพียง 1 คนไปเที่ยวฝั่งหัวหิน เพราะพัทยามีความพร้อม การละเล่นต่างๆ หากมาเที่ยวครั้งเดียวจะเลือกที่ไหนคงจะเลือกพัทยา แต่จะไปหัวหินต้องขับรถอ้อม กทม.ก็ยาวไกล

ดังนั้น แนวคิดคือว่า เนื่องจากจะมีการลงทุนมากมายในอุตสาหกรรม 4.0 ทางฝั่งอีสเทิร์นซีบอร์ด ถ้าเราสามารถกระจายความเจริญ โดยสะพานยาวประมาณ 80-100 กม. จากทางฝั่งชลบุรีไปเพชรบุรี หรือไปประจวบคีรีขันธ์ อีกฝั่งหนึ่งได้ เราจะสามารถส่งนักท่องเที่ยว ส่งความเจริญ แม้กระทั่งส่งไฟฟ้าไปช่วยภาคใต้ โดยไม่ไต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้เลย

"การสร้างสะพาน ทำให้ความเจริญจากฝั่งตะวันออกไปสู่ภาคใต้ได้ ทำให้เมกะโปรเจกต์ทาง EEC มีผลตอบแทนดีขึ้นด้วย คือ มีแต่ได้กับได้" นาไพรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ โครงการสะพานไทยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงมาก อีกทั้งพื้นที่อ่าวไทยตอนบนน้ำตื้นและไม่ได้อยู่ในเขตทะเลเปิด ไม่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว และถ้าสร้างคงใช้เวลาหลายปี อาจ 8-9 ปี วงเงินอาจจะสูงถึง 8-9 แสนล้าน แต่ทั้งหมดจะเป็นการซื้อวัสดุก่อสร้าง ทั้งเหล็ก หิน ปูน และแรงงาน เป็นทางทำให้ภาคใต้และภาคตะวันออกเชื่อมกันโดยสมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น