"ฟีนิกซ์ 1010 โฮลดิ้งฯ" คาดธุรกิจโรงแรมยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว หลังเจอโควิด-19 แข่งขันด้านราคาห้องพัก เผยมีดีลขายโรงแรมกว่า 10 แห่ง ในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย มูลค่าตั้งแต่ 100-1,000 ล้านบาท ล่าสุด ได้ดีลเปิดประมูลโรงแรม “สมุยบุรี บีช รีสอร์ท” จับตาเทรนด์การลงทุนเริ่มเปลี่ยน กลุ่ม Gen Z ไฟแรง ระดมทุนเพื่อเข้าซื้อโรงแรม หวังตั้งตัวเป็นเจ้าของธุรกิจ
ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ประธานกรรมการ บริษัท ฟีนิกซ์ 1010 โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยว่า ยังคงต้องใช้เวลาในการพลิกฟื้นอีกหลายปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 และถูกกระทบอย่างหนักเมื่อโควิด-19 ระบาด ได้ส่งผลกระทบในหลายภาคอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจโรงแรม ที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหายไป ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยระมัดระวังในการเดินทาง ส่งผลให้รายได้จากการเข้าพักลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย ทำให้โรงแรมจำนวนมากเริ่มประกาศขายผ่านตัวแทนขายเป็นจำนวนมาก
สำหรับโรงแรมที่เจรจา (ดีล) ผ่านเฉพาะบริษัทฟีนิกซ์ฯ ในปัจจุบันมีมากกว่า 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ มูลค่าตั้งแต่หลัก 100-1,000 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่เน้นลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก โรงแรมระดับ 3-5 ดาว รวม 1,000-1,500 ห้อง ในจำนวนดังกล่าวเป็นโรงแรมที่เพิ่งเปิดให้บริการสัดส่วนประมาณ 30%
ขณะนี้ได้มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ต่างๆให้ความสนใจที่จะซื้อธุรกิจโรงแรมในราคาไม่แพง แล้วนำมาปรับปรุงให้โรงแรมมีสภาพที่ดี และถือครองโรงแรมไปอย่างน้อย 4-5 ปีแล้วค่อยจำหน่ายออกไป โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4/2563 นี้ เจ้าของโรงแรมต่างๆ ที่ประกาศขายในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อหวังผลกำไรก่อนหน้านี้ เช่น เดิมตั้งราคาขายไว้ที่ 900 ล้านบาท แต่ไม่มีผู้ใดซื้อ จึงมีการปรับลดราคาลงมาเหลือเพียง 200 ล้านบาท ก็ยังไม่มีผู้ซื้อกิจการอีก โดยกองทุนเหล่านี้เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะมีโรงแรมต่างๆ ยอมลดราคาขายที่ถูกลงกว่านี้อย่างแน่นอน
“ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด โรงแรมแต่ละแห่ง ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล แต่เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจโรงแรมยังต้องมาเผชิญกับการแข่งขันในเรื่องการลดราคาลงมาไม่ต่ำกว่า 40-50% เพื่อดึงลูกค้าในประเทศให้เข้าพักมากที่สุด แต่ก็มีหลายแห่งที่ไปไม่รอด ต้องประกาศขายกิจการ”
ล่าสุด โรงแรม “สมุยบุรี บีช รีสอร์ท” (Samui Buri Beach Resort) ซึ่งถือกรรมสิทธิ์โดย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สมุยบุรี (SBPF) มีธนาคารออมสิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 24.15% ตั้งอยู่บนพื้นที่ 13 ไร่เศษ โดยมีสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วย อาคาร 2 ชั้น 1 อาคาร (ส่วนต้อนรับ) อาคาร 4 ชั้น 2 อาคาร มีห้องพักทั้งหมด 60 ห้อง และพูลวิลล่า 28 หลัง รวม 88 ห้อง ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด มอบหมายให้บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนศัลแทนซี่ จำกัด เป็นผู้จัดการประมูลครั้งนี้ กำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่ 400 ล้านบาท และเปิดซองประมูลวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกกลุ่มเข้าร่วมประมูล
"กลุ่มคนไทยที่ไม่เคยอยู่ในสายธุรกิจโรงแรม แต่มีฐานะการเงินที่แข็แกร่ง หรือเป็นผู้บริหารองค์กร มีเงินเก็บเยอะ สนใจที่จะขยายไลน์มาดำเนินธุรกิจโรงแรม โดยให้ความสนใจในพื้นที่สมุย และภูเก็ต เป็นต้น อีกทั้งหลังจากเกิดโควิด-19 ทุกอย่างกลับมาเริ่มต้นใหม่ ทำให้มีกลุ่ม Gen Z ที่เพิ่งจบการศึกษามา ได้รวมกลุ่มระดมเงินเพื่อไปกิจการโรงแรม แล้วบริหารเองก็มีให้เห็น เพื่อต้องการเรียนรู้ในธุรกิจอย่างจริงจัง และเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งต่างจากกองทุนรวมฯ ต่างๆ ที่ซื้อกิจการโรงแรม และนำมารีโนเวตใหม่ เมื่อมีโอกาสก็จะขายกิจการต่อเพื่อหวังผลกำไร
อนึ่ง ก่อนนหน้านี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สมุยบุรี (SBPF) รายงานผลการดำเนินงานงวด 3 เดือน สิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,671,089 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีผลกำไรสุทธิจำนวน 326,531 บาท คิดเป็นการเปลี่ยนแปลงลดลงในสิทรัพย์สุทธิจากการดำเนินงาน 611.77% เนื่องจากกองทุนฯ ได้ตั้งค่าเผื่อขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้ค่าเช่าค้างรับ จำนวน 2 ล้านบาท และบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนฯ สำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.63 ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ภาคการท่อเที่ยวในปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะหายไปเป็นจำนวนมาก คาดจะมีประมาณ 6-7 ล้านคน จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวประมาณเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งในภาวะปกติแล้ว ธุรกิจโรงแรมหากจะมีรายได้ที่พอกับค่าใช้จ่ายแล้ว ต้องมีอัตราการเข้าพักประมาณ 30-40%
ขณะที่ในปัจจุบัน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เริ่มไม่ได้รับความสนใจจากทั้งผู้ออกกองทุน หรือผู้ลงทุน เนื่องจากมีข้อจำกัดในกลุ่มผู้ซื้อภายในประเทศ ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ได้ส่งเสริมตลาดกองทุนรวมอสังหาฯ มากนัก แต่ให้น้ำหนักกับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นกว่า