xs
xsm
sm
md
lg

เน็คซ์ แคปปิตอล ปิดจองซื้อ IPO เกลี้ยง มั่นใจนักลงทุนตอบรับเข้าเทรด 9 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.พันทิตา แซ่เอ็ง รองกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) เปิดเผยว่า การเปิดจองซื้อหุ้น IPO ของ NCAP ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. และวันที่ 2-3 พ.ย.ที่ผ่านมา มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาจองซื้อเต็มจำนวน สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ NCAP ทั้งศักยภาพการเติบโตในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และโอกาสในการขยายธุรกิจด้านการเงินในอนาคต และมั่นใจว่า NCAP จะได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่องในวันเข้าซื้อขายเป็นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มธุรกิจการเงิน/เงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) ในวันที่ 9 พ.ย.63

ทั้งนี้ NCAP เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท กำหนดราคา IPO หุ้นละ 2.20 บาท โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 3 แห่ง ประกอบด้วย บล.เอเอสแอล บล.ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.ไอร่า

NCAP มี บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) ป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีที่ให้การสนับสนุนในการนำระบบที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการอนุมัติสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

COM7 และ SYNEX ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่มีจำนวนหุ้นที่ติด Silent Period ในครั้งนี้สัดส่วน 55% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ประกอบด้วย COM7 สัดส่วน 26.67% SYNEX สัดส่วน 26.67% และวิสต้า อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด สัดส่วน 1.67% สะท้อนความมั่นใจของกลุ่มผู้ถือหุ้นในการลงทุนใน NCAP ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง

นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า NCAP จะเป็นอีกหุ้นเด่นที่ได้รับการจับตามอง ด้วยโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจที่แข็งแกร่งทั้งด้านการเงินและผู้ถือหุ้น ผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีสาขาและตัวแทนจำหน่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ สนับสนุนให้ NCAP มีมาร์เกตแชร์ในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบรนด์ HONDA ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีมาร์เกตแชร์อันดับ1 ในตลาดรถจักรยานยนต์ จากก่อนหน้านี้ บริษัทประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์สำหรับยี่ห้อ YAMAHA เพียงยี่ห้อเดียว (Captive Finance) สะท้อนความสำเร็จในการขยายพอร์ต

นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 30% ต่อปี (CAGR) ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายพอร์ตในกลุ่มรถจักรยานยนต์แบรนด์ชั้นนำที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการติดตามและทวงถามหนี้ที่รัดกุม สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ซึ่งมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจด้านไฟแนนซ์ของ NCAP ในอนาคต

ด้าน นายสมชัย ลิมป์พัฒนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ NCAP เปิดเผยว่า จำนวนเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนหักค่าใช้จ่ายในครั้งนี้ประมาณ 660 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายพอร์ตสินเชื่อ 80% ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 15% และลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อและระบบสนับสนุนการทำงาน 5% ระยะเวลาที่ใช้โดยประมาณภายในปี 64 เพื่อรองรับแผนขยายสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ลดต้นทุนทางการเงิน และการพัฒนาระบบการปล่อยสินเชื่อให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น จากปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อรวม 4,000 ล้านบาท

ผลประกอบการงวดครึ่งแรกปี 63 เติบโตทั้งรายได้และกำไร โดยกำไรสุทธิเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 30% เป็นธุรกิจที่ยังเติบโตแม้ในสถานการณ์โควิด-19 และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพียงประมาณ 2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในอุตสาหกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น