ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน ก.ย.63 ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 38.1 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ที่ 36.4 บ่งชี้ว่าครัวเรือนไทยมีมุมมองดีขึ้นเกี่ยวกับภาวะการครองชีพ ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ อีก 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39.7 เมื่อเทียบกับที่ระดับ 38.4 ในการสำรวจเดือนสิงหาคม 2563 สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนีเดือนกันยายนและอีก 3 เดือนข้างหน้าโดยรวมยังต่ำกว่า 50 และต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 สะท้อนว่ามุมมองของครัวเรือนไทยต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ของดัชนี พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากแนวโน้มรายได้และการจ้างงานยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ ครัวเรือนไทยยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชำระหนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติม พบว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ยังต้องการเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดระลอก 2 หลายประเทศยังสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันการจ้างงาน กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ให้ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนภาพการใช้จ่ายครัวเรือนไตรมาส 4 ปีนี้