‘ซีวิลเอนจีเนียริง’ คว้า 3 สัญญาในโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 มูลค่ากว่า 2.51 พันล้านบาท เชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมภาคโลจิสติกส์และขนส่งให้สมบูรณ์ สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หวังมุ่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้น พร้อมก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 300 คน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐานฝ่าวิกฤตโควิด-19
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มุ่งสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการนำความชำนาญและความเชี่ยวชาญในวิศวกรรมโยธางานทาง รวมถึงหลักบริหารจัดการสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการดำเนินการโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงโครงข่ายให้มีความสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความแข็งแกร่งด้านโลจิสติกส์ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต
สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เป็นโครงการที่มีการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นจำนวนมากและช่วยสร้างเศรษฐกิจรากฐานของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ล่าสุด บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากกรมทางหลวง ให้เข้าไปพัฒนาก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก รวม 3 โครงการ มูลค่ากว่า 2.51 พันล้านบาท ที่มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์และเสริมสร้างระบบโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์ สอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย CIVIL เข้าไปรับงานก่อสร้างประกอบด้วย ได้แก่ 1.ก่อสร้างสายทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านซ้ายทางตอน 1 ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 930 วัน ที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2.โครงการด้านนอกของทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านซ้ายทาง ตอน 2 รวมระยะทาง 5.6 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 810 วัน
และ 3.โครงการก่อสร้างสายทางบริการด้านนอกของทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านซ้ายทาง ตอน 1 รวมระยะทาง 5.712 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 840 วัน โดยจะลงพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทั้ง 3 โครงการถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ CIVIL จะจ้างแรงงานซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 มากกว่า 100 คนต่อ 1 โครงการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จและสามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ทันตามกำหนด ช่วยให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในการเดินทางและขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“เราจะนำความเชี่ยวชาญวิศวกรรมโยธาและหลักการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโครงการก่อสร้าง พร้อมคำนึงถึงการมีส่วนช่วยเหลือสังคมและเศรษฐกิจ โดยจะจ้างแรงงานก่อสร้างจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาช่วยพัฒนาโครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ภาคขนส่งให้สมบูรณ์ เพื่อประชาชนได้ใช้ระบบการขนส่งที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว