xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวสู่นวัตกรรมการรังวัดของกรมที่ดิน ด้วยระบบดาวเทียมแบบจลน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การรังวัดและทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2497) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 49 (พ.ศ.2544) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 สามารถกระทำได้ 2 วิธี ได้แก่ วิธีแผนที่ชั้นหนึ่งและวิธีแผนที่ชั้นสอง

#การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นหนึ่ง : เป็นวิธีการรังวัดและคำนวณค่าพิกัดฉากสืบเนื่องจากหมุดหลักฐานแผนที่ ทำให้รูปแปลงที่ดินมีค่าพิกัดที่อ้างอิงกับพื้นผิวโลกและสามารถระบุตำแหน่งในพื้นที่จริงได้อย่างชัดเจน

#การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นสอง : เป็นวิธีการรังวัดที่ใช้แผนที่ระวางเป็นหลัก หรืออาจใช้ระบบพิกัดแบบศูนย์ลอยที่กำหนดขึ้นเองในการขึ้นรูปแผนที่และคำนวณเนื้อที่ ทำให้ผลลัพธ์ของรูปแปลงที่ดินแม้ว่าจะมีรูปแผนที่และเนื้อที่ถูกต้อง แต่ไม่มีค่าพิกัดที่สามารถอ้างอิงกับพื้นผิวโลก จึงไม่สามารถระบุตำแหน่งในพื้นที่จริงได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นหนึ่ง จึงเป็นวิธีการรังวัดที่มีความละเอียดถูกต้องสูงและสามารถนำค่าพิกัดฉากของหลักเขตที่ดินไปใช้ในการตรวจสอบเชิงตำแหน่งในพื้นที่จริงได้

อย่างไรก็ตาม การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นหนึ่งมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ต้องมีการสร้างหมุดหลักฐานแผนที่ในพื้นที่ให้ครอบคลุมเพียงพอ จึงจะสามารถดำเนินการรังวัดในพื้นที่นั้นได้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ ทำให้การรังวัดที่ดินในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกว่าร้อยละ 90 ต้องดำเนินการรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นสอง ซึ่งแม้จะมีความละเอียดถูกต้องในเชิงรูปร่างและเนื้อที่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตในเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจนเนื่องจากไม่มีค่าพิกัดที่สามารถอ้างอิงตำแหน่งได้อย่างถูกต้อง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับที่ดินตามมาอย่างมากมาย เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับแนวเขตที่ดิน การออกเอกสารสิทธิในที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อน การขาดความเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิ และการบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นต้น

กรมที่ดิน จึงได้นำเทคโนโลยี “โครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network)” มาใช้ในการรังวัดรูปแปลงที่ดิน ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดของการสร้างหมุดหลักฐานแผนที่ในอดีตที่ต้องใช้การวางโครงหมุดหลักฐานแผนที่หรือการรับสัญญาณดาวเทียมเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันช่างรังวัดสามารถสร้างหมุดดาวเทียมหรือรับสัญญาณดาวเทียมโดยตรงที่หลักเขตที่ดิน เพื่อให้บริการรังวัดที่ดินโดยวิธีแผนที่ขั้นหนึ่งด้วยระบบดาวเทียมแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และสะดวกรวดเร็ว

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมที่ดิน ได้ยกระดับการรังวัดที่ดินด้วยระบบด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) แล้วทั้งสิ้น 49 จังหวัด ได้แก่ #ภาคกลาง ลพบุรี ชัยนาท นครปฐม สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครนายก ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร #ภาคเหนือ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก #ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น หนองคาย บึงกาฬ มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สระแก้ว นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุบลราชธานี #ภาคใต้ สตูล ภูเก็ต พัทลุง สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา #ภาคตะวันออก จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด

จากข้อมูลผู้ใช้บริการในปัจจุบัน (ปีงบประมาณ พ.ศ.2563) มียอดให้บริการรังวัดออกโฉนดที่ดินด้วยระบบ RTK GNSS Network เฉลี่ยรวม 505,000 แปลง แบ่งเป็น

1.การรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย (มาตรา 59) จำนวน 420,000 แปลง

2.โครงการเดินสำรวจรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินและเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินด้วยระบบ RTK GNSS Network จำนวน 70,000 แปลง

3.โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 15,000 แปลง

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรมที่ดินกำหนดพื้นที่ในการยกระดับการรังวัดด้วยระบบด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี มุกดาหาร สกลนคร ยโสธร กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ โดยในปีงบประมาณถัดไป จะได้ยกระดับอีก 18 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ นี่คือ นวัตกรรมการรังวัดของกรมที่ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กรมที่ดินยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง




กำลังโหลดความคิดเห็น