xs
xsm
sm
md
lg

“เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” เข้าตลาด ขึ้นแท่นหุ้น Growth Stock ตัวใหม่?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นาย อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย)
“เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ขาใหญ่ขนส่งด่วนต่างประเทศ เปิดตัวประกาศเดินหน้าเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ราคาหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์ 2 อย่าง VGI (กลุ่มบีทีเอส) ขยับตัวขึ้น วงการคาดราคา IPO มาสูง เหตุหลายฝ่ายยกให้เป็น Growth Stock จากผลประกอบที่เติบโตต่อเนื่องกว่า 100% มาหลายปี จนถึงปี 2561

นอกเหนือจากข่าวสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีหลักทรัพย์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยก็มีข่าวที่ได้รับความสนใจอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ การยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของ “บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 17.24% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้

สำหรับ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” เป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนจากต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทยมายาวนาน จนมีแนวโน้มว่าในอนาคตอาจขยับขึ้นเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศแซงหน้า “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของภาครัฐ

นั่นเพราะวิถีชีวิตในปัจจุบันของผู้คนนั้นเปลี่ยนไป ทำให้หลากหลายบริการมีการอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะการชอปปิ้งออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง และสามารถส่งตรงให้ถึงบ้านได้ภายในเวลาที่รวดเร็วทันใจ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ นอกจากตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้นอย่างมาก ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง จากดีมานต์ที่มีล้นหลาม และ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ก็ถือเป็นรายใหญ่ของผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด่วนที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวอย่างมาก

“อเล็กซ์ อึ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ แสดงความเห็นถึงทิศทางธุรกิจของบริษัทว่า ปัจจุบันธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนนอกจากจะเป็นกลไกสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจต่างๆ และในชีวิตประจำวันของคนไทย ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมธุรกิจและการบริการให้แข็งแกร่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบุคลากร เพื่อให้บริษัทฯ สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจไทย และยังช่วยให้วิถีชีวิตของคนไทยสะดวกสบายและดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่ตัวเลขรายได้และกำไรในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า เติบโตต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2557 บริษัทมีรายได้ 536 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 19 ล้านบาท แต่พอเข้าสู่ปี 2558 รายได้ก้าวกระโดดขึ้นไปแตะ 1.51 พันล้านบาท ทำให้กำไรขยับขึ้นเป็น 134 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ตั้งแต่ปี 2559-2561 ผลประกอบการของ "เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ" ยังเติบโตก้าวกระโดดแบบเท่าตัวอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2559 มีรายได้ 3.2 พันล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิ 307 ล้านบาท พอปี 2560 บริษัทมีรายได้ 6.57 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 732 ล้านบาท ต่อมาปี 2561 มีรายได้ 1.35 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.18 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พอเข้าสู่ปี 2562 จากอัตราก้าวกระโดดของผลประกอบการที่ระดับกว่า 100% กลับมาลดลงเหลือ 45.82% โดยรายได้ขยับมาเป็น 1.97 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.82% และกำไรสุทธิขยับเป็น 1.32 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.06%

โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563  “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” มีจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีศูนย์คัดแยกพัสดุขนาดใหญ่จำนวน 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุย่อยกว่า 1,200 แห่ง และรถจัดส่งพัสดุภายใต้การบริหารของบริษัทฯ กว่า 25,000 คัน ทำให้ภาพลักษณ์ของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” จากข้อมูลที่บริษัทและที่ปรึกษาทางการเงินนำเสนอถือว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซซึ่งจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้บริการจัดส่งพัสดุด่วน โดยเมื่อบริษัทฯ นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและความแข็งแกร่งของฐานะการเงินยิ่งขึ้น

แต่ยังไม่ทันจะเคาะราคาขายหุ้น และกำหนดวันเข้าซื้อขาย “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ก็สร้างคลื่นผลักดันให้ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัทในสัดส่วน 23% อย่างหุ้นของบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านในเครือ "บีทีเอส กรุ๊ป" ได้รับอานิสงส์จากการประกาศแผนเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นแล้ว นั่นเพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น VGI ปรับตัวเพิ่มขึ้น

เพราะในวันถัดมาคือ 27 สิงหาคม หลังจากเคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ ยื่นไฟลิ่งแล้ว ราคาหุ้นของ VGI เปิดที่ 7.60 บาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 7.70 บาต่ำสุดที่ 7.15 บาท และเมื่อตลาดปิดราคาหุ้นอยู่ที่ 7.3 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือคิดเป็น 7.35% มูลค่าซื้อขาย 183.59 ล้านบาท

และเนื่องจากการขายหุ้น IPO ของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ทุกฝ่ายมองว่า นี่คืออีกหนึ่งหุ้นคุณภาพของตลาดหุ้นไทย จึงถูกยกให้เป็น Growth Stock ซึ่งจะทำให้การเคาะราคาหุ้นน่าจะอยู่บนเพดานระดับสูง นอกจากนี้ จะทำให้มูลค่าหุ้นเคอรี่ที่ VGI ถืออยู่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นั่นทำให้จากราคาหุ้น VGI ที่ปรับตัวลดลงมาเคลื่อนไหวบริเวณ 5.50 บาทต่อหุ้น หลังผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 ขาดทุน 103 ล้านบาท ขยับเพิ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 7.00 บาทต่อหุ้นในช่วงเวลานี้ ตอกย้ำความต้องการของ VGI ที่อยากได้หุ้น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” เพิ่มเติมจากที่เคยใช้เงินกว่า 5.9 พันล้านบาท ซื้อหุ้นในสัดส่วน 23% เมื่อปี 2561 นั่นเพราะ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ได้เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจโฆษณาของ VGI ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ผ่านการขายโฆษณาบนพื้นที่ใหม่ๆ เช่น หน้าร้านและจุดให้บริการของเคอรี่ฯ ขณะที่ เคอรี่ฯ ได้สิทธิเปิดจุดให้บริการรับส่งสินค้าบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสามารถใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสจัดส่งพัสดุด่วนส่งตรงถึงลูกค้าภายในเวลาไม่กี่นาที สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาหุ้น VGI จะปรับตัวขึ้น แม้หลังจาก “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” เข้าเทรดบนกระดานสัดส่วนในการถือหุ้นของบริษัทจะลดลงเหลือ 19% จาก 23% เพราะหากพิจารณาจากผลประกอบการของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ที่เติบโตต่อเนื่องทำให้นักลงทุนเชื่อว่าส่วนแบ่งรายได้จากกำไรของบริษัทที่ VGI จะได้รับยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

“จิตเกษม หมู่มิ่ง” ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท วี จี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI  ยอมรับว่า บริษัทสนใจเข้าลงทุนในของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” เพิ่มเติม หากบริษัทเคอรี่ยอมขายหุ้นให้ในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากพบว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับในอนาคตมีการนำบริษัทดังกล่าวเสนอขายหุ้นเพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ไอพีโอ) จะส่งผลให้การถือครองหุ้นของ VGI ถูกลดสัดส่วนลงไป

"ปัจจุบันเราถือหุ้นเคอรี่ฯอยู่สัดส่วน 23% ซึ่งหากเคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ ขายหุ้นเพิ่มให้แก่บริษัทในราคาที่เหมาะสม VGI ก็พร้อมเข้าลงทุน เพราะเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงมากในช่วงนี้ แต่หากเขาไม่เปิดขายเพิ่มหรืออนาคตมีแผนขายไอพีโอจะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของเราอาจถูกไดลูท ซึ่งตอนนั้นก็ขึ้นอยู่กับราคาและสิ่งที่เขาจะเสนอขายให้เราตรงนั้นอีกที จึงยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่าตอนนี้จะเพิ่มสัดส่วนได้หรือไม่"

ล่าสุด มีการอ้างอิงว่า ราคาหุ้น IPO ของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” อาจอยู่ที่ระดับ 20.00 บาทต่อหุ้น และอิงอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ 20 เท่า จากการอิงการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2564 ของบริษัทที่ 20% จากปีก่อน ทำให้ราคา IPO อาจอยู่ที่ 20.00 บาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือช่วยเพิ่มมูลค่าให้ VGI ที่ 0.78 บาทต่อหุ้น และราคาหุ้นของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.00 บาท จะทำให้ราคาหุ้น VGI เพิ่มขึ้น 0.03 บาท

ส่วนทิศทางการเติบโตของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” คาดว่าส่วนแบ่งกำไรที่ VGI จะรับรู้ในปี 2563 และ 2564 จะเพิ่มขึ้นไปอีก จากยอดส่งสินค้า 1.1 ล้านชิ้นต่อวันในช่วงก่อนหน้านี้ แต่พอช่วง COVID-19 ระบาดในประเทศยอดส่งสินค้าเพิ่มเป็น 2 ล้านชิ้นต่อวัน และปัจจุบันเฉลี่ยที่ 1.5-1.6 ล้านชิ้นต่อวัน

ข้อมูลของ Frost & Sullivan ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำ ระบุว่า “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” เป็นผู้นำการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนในประเทศไทยที่เติบโตรวดเร็วที่สุด เมื่อพิจารณาจากปริมาณพัสดุที่จัดส่งโดยเฉลี่ยต่อวัน โดยในปี 2557-2562 ปริมาณพัสดุรวมที่บริษัทฯ ดำเนินการจัดส่งมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 134.9% และยังเป็นผู้ให้บริการการเรียกเก็บเงินปลายทาง (Cash-on-Delivery) เป็นรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าธุรกรรม

ขณะเดียวกัน Frost & Sullivan ยังคาดการณ์ว่า การค้าปลีกผ่านออนไลน์ในปี 2562-2567 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ 17.3% ต่อปี จากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วน โดยบริษัทฯ ใช้โมเดลการกระจายพัสดุแบบ Hub-and-Spoke จากศูนย์คัดแยกไปยังศูนย์กระจายพัสดุย่อย เพื่อจัดส่งไปถึงจุดหมายปลายทาง และดำเนินธุรกิจแบบ Asset-Light ด้วยการเช่าทรัพย์สินต่างๆ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์คัดแยกพัสดุ รถรับส่งพัสดุ เป็นต้น จึงไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ

ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท เติบโตปีละ 8-10% โดยคาดว่าในปีนี้จะมีมูลค่าราว 3.6 -3.7 หมื่นล้านบาท และมีผู้เล่นรายใหญ่คือ ไปรษณีย์ไทย และ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีบริษัทแม่อยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงนั่นคือ Kerry Logistics Network Limited หรือ KLN ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของ Kuok Group ของ “โรเบิร์ต ก๊วก” มหาเศรษฐีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งมีธุรกิจหลากหลาย และที่โดดเด่นได้แก่ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ต ศูนย์ประชุม ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจเดินเรือและโลจิสติกส์ โดย “เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ” มีวัตถุประสงค์ ระดมทุนเพื่อการขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุด่วนเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ ได้แก่ การเช่าพื้นที่เพื่อเพิ่มจำนวนศูนย์คัดแยกพัสดุ จุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุแห่งใหม่ รวมถึงการซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการ เพื่อตอบสนองความต้องการของการบริการจัดส่งพัสดุด่วนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ใช้ชำระคืนหนี้ธนาคาร และเป็นทุนหมุนเวียน อีกทั้งมีนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 30%

นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวว่า เคอรี่ เอ็กซ์เพรสฯ ถือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้บริการจัดส่งพัสดุด่วน โดยเมื่อบริษัทฯ นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน






กำลังโหลดความคิดเห็น