xs
xsm
sm
md
lg

เอเซีย พลัสชี้เทรดวอร์กลับมากดดัน SET ผสมโรงคาดการณ์จีดีพีของไทย-กำไร บจ.ใน Q2/63 หดตัวแรง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ASPS ชี้เทรดวอร์กลับมากดดัน SET ผสมโรงคาดการณ์จีดีพีของไทย-กำไร บจ.ใน Q2/63 หดตัวแรง ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงนี้ทีมเศรษฐกิจขาดช่วงเพราะอยู่ระหว่างรอการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ขณะที่มาตรการเยียวยาส่วนใหญ่หมดลงแล้ว

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นจะได้รับแรงกดดันจากความกังวลความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งในสุดสัปดาห์นี้จะมีการเจรจากันอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการประชุมทบทวนข้อตกลงการค้า เฟส 1 หลังจากที่หยุดพักการเจรจาระหว่างกันมาในเดือน ม.ค. 63 แต่ในระหว่างทางมีเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างกันหลังจากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง และล่าสุดมีผลสำรวจการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รอบนี้เห็นว่าพรรคเดโมแครตมีคะแนนนำพรรครีพับลิกัน ซึ่งฝั่งรัฐบาลแพ้ในผลโพลก็อาจทำให้เห็นมาตรการที่ Aggressive มากขึ้นเพื่อดึงคะแนนเสียงกลับมา

ขณะที่ตลาดหุ้นก็รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นอยู่แล้ว โดยผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เริ่มขยายวงโดยเฉพาะในเอเชียที่อาจกลายเป็นศูนย์กลางระบาดรอบใหม่จากที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และล่าสุด เวียดนาม ขณะที่ตลาดหุ้นในอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ต่างปรับตัวลงเมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 รอบสอง ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดคาดว่าจะสามารถผลิตใช้ได้ในปลายปี 63 และจะเริ่มมีการกระจายในวงกว้างกลางปี 64

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ช่วงสุดสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้าประเด็นที่ต้องติดตามคือการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 2/63 ภาพรวมน่าจะเห็นปรับตัวลดลงรุนแรง และจากประมาณการกำไรของโบรกเกอร์ ต่างเห็นว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ของ บจ.ไทยถูกปรับตัวลดลงมากที่สุด คาดลดลงเฉลี่ย 40% เมื่อเทียบกับเมื่อต้นปีนี้ ทำให้เห็นภาพ downside ของผลประกอบการซึ่งเป็นเหตุให้เม็ดเงินยังไม่กลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

ประกอบกับในวันที่ 17 ส.ค.นี้ไทยประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/63 คาดว่าน่าจะเห็นตัวเลขติดลบ 15% ถือเป็นการหดตัวรุนแรง และคาดทั้งปี 63 จีดีพีติดลบ 8.4% ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ออกมาปรับลดประมาณการจีดีพีค่อนข้างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดติดลบ 8.1% กระทรวงการคลังคาดติดลบ 8.5% ม.หอการค้าไทยคาดติดลบ 9.4% และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ปรับลดจีดีพีอีก จึงกังวลงว่าจะมีการปรับลดประมาณการจีดีพีปี 63 ลงอีก

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงนี้ทีมเศรษฐกิจขาดช่วงเพราะอยู่ระหว่างรอการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ขณะที่มาตรการเยียวยาส่วนใหญ่หมดลงแล้ว เช่น เงินเยียวยา "เราไม่ทิ้งกัน" ที่หมดสิ้นมิ.ย. เงินเยียวยาเกษตร หมดสิ้น ก.ค. ฉะนั้นเม็ดเงินเยียวยาที่หมดลงในเดือน ก.ค. หากไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องก็อาจเห็นภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ต้องเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ใช้วงเงินที่เหลืออยู่จากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งเงินที่ใช้เยียวยาประชาชน 5.55 แสนล้านบาท ใช้ไปแล้ว 3.4-3.5 แสนล้านบาท เงินใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เพิ่งใช้ไป 4.2 หมื่นล้านบาท ยังเหลือราว 3.6 แสนล้านบาท และงบสำหรับสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ยังมีวงเงินเหลือเกินกว่า 6 แสนล้านบาท หรือราว 60% ที่จะนำมาใช้ได้

ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ภาครัฐกู้เงินเพิ่ม ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินกว่า 3.6 แสนล้านบาทเห็นว่าต้องใช้จ่ายส่วนนี้ก่อนไปกู้เพิ่มอีก รวมทั้งให้ภาครัฐออกแพกเกจชอปเพื่อชาติ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นคนที่มีกำลังซื้อ, ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เสนอให้ลดค่าธรรมเนียมการโอน 50 ล้านบาทเพราะกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้ออยู่เป็นกลุ่มกลางบนที่คาดจะมีกำลังซื้อเกินกว่า 5 ล้านบาท/ยูนิตขึ้นไป ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการและภาพรวมเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ตลาดยังรอแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่เป็นการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว รวมมูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เป็นต้น ที่ต้องเร่งการประมูลงาน และโครงการที่รอ ครม.อนุมัติ มูลค่า 7.52 แสนล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น