xs
xsm
sm
md
lg

"ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต" คัมแบ็กวงการอสังหาฯ ฟื้นอาณาจักรหมื่นล้าน (ชานนท์) อนันดาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต
หลังจากที่ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ได้โบกมือลาจากบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PSH โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ไปแล้วนั้น ล่าสุด วงในอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ได้เข้าไปรับตำแหน่งใหม่ในบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ในตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติ (Chief Operating Officer) โดยเริ่มงานตั้งแต่วันนี้ (10 มิ.ย.63)

ปัจจุบัน บริษัทอนันดาฯ ภายใต้การนำของ นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทอนันดาฯ ผู้นำแห่งวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง ครองตำแหน่งผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้ามุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองได้อย่างลงตัวที่สุด กับการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวให้เติบโต เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทมีการลงทุนโครงการคอนโดมิเนียมระดับคุณภาพในหลากหลายทำเล แต่จะเน้นอยู่ในเส้นของโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการและอยู่ระหว่างดำเนินการที่เป็นทำเลศักยภาพ

"มองว่า การที่จบที่อนันดา สมส่วนกับคุณประเสริฐ ขณะที่กลุ่มลูกค้าของอนันดาฯ ก็มีลูกค้าต่างชาติค่อนข้างมาก สิ่งที่เราจะเห็น บทบาทของคุณประเสริฐในบริษัทอนันดาฯ และตำแหน่งกรรมการ จะมีส่วนผลักดันธุรกิจให้เติบโตขึ้น ซึ่งเรื่องสต๊อก และการเงิน เป็นหัวใจสำคัญของบริษัทอนันดาฯ" แหล่งข่าวในวงการระบุว่า

สำหรับ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต (คุณเล็ก) มีประสบการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์มา 27 ปี โดยเข้ามาเริ่มงานในบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทฯ เมื่อปี 2548 (ก่อนหน้านี้อยู่บริษัทลลิลฯ) ในตำแหน่งกรรมการ-ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจของบริษัทฯ จนสามารถสร้างให้พฤกษาขึ้นมาสู่บริษัทอสังหาฯ อันดับ 1 ของเมืองไทย และล่าสุด เดือน มิ.ย.63 ได้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ในบริษัทอนันดาฯ

นายชานนท์ เรืองกฤตยา
จับตา "อนันดาฯ" กลับมายิ่งใหญ่!

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ฯ ได้อยู่ในช่วงของการปรับฐานธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานธุรกิจให้มั่นคง เนื่องจากนโยบายการลงทุนในแต่ละโครงการโดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมระดับพรีเมียม ที่อยู่ทำเลเด่นและมีศักยภาพส่งผลให้แต่ละโครงการมีมูลค่าสูง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงปัญหาเรื่องเทรดวอร์ นโยบายมาตรการ LTV ตลาดกลุ่มลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่ลดหายไป ได้ก่อผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่วิกฤตล่าสุด การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทอนันดาฯ เป็นอีกบริษัทอสังหาฯ ที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรับกับแรงกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารยอดขายบริหารสินค้าคงค้าง บริหารสภาพคล่อง และรวมถึงโครงการร่วมลงทุนกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น

"เป็นจังหวะดีการเข้ามารับตำแหน่งใหม่ของนายประเสริฐ (อดีตผู้บริหารจากบริษัทพฤกษา) จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงการทำธุรกิจของอนันดาฯ เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า บริษัทอนันดาฯ ต้องปรับตัวในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่อง และสต๊อกที่มีอยู่ แต่ก็มีสัญญาณเชิงบวกต่อความสดใสอนันดาฯ จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวถึงกลยุทธ์หลัก ที่จะผลักดันให้บริษัทขับเคลื่อนในสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

กลยุทธ์เรื่องที่ 1 เป็นเรื่องของแผนธุรกิจโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือโครงการพร้อมเข้าอยู่ซึ่งมีกว่า 38 โครงการทั้งคอนโดติดรถไฟฟ้าบ้านเดี่ยวบนทำเลศักยภาพ และทาวน์เฮาส์ในราคาสุดคุ้มซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับลูกค้าที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยใหม่เนื่องจากทางบริษัทได้มอบข้อเสนอสุดพิเศษและราคาพิเศษในแต่ละโครงการ

ส่วนที่สองคือ กลยุทธ์การเปิดโครงการใหม่เนื่องด้วยสถานการณ์ตลาดและสภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันทางบริษัทได้มีการปรับแผนการเปิดโครงการใหม่ โดยเลือกเปิดโครงการที่มั่นใจว่าจะสามารถตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ ในทุกมิติ ทั้งเรื่องทำเล สินค้าและราคา โดยปีนี้ทางบริษัทได้วางแผนการเปิดโครงการใหม่ไว้ที่ 1 โครงการ คือ ไอดีโอ พหลฯ-สะพานควาย (ซึ่งเป็นโครงการที่มีการปรับเปลี่ยนจากโครงการไอดีโอ คิว พหลฯ-สะพานควาย เดิม) โดยบริษัทมั่นใจว่า โครงการนี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างดีบนทำเล 0 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย และราคาเริ่มต้นเพียง 139,000 บาท/ตร.ม.

กลยุทธ์เรื่องที่ 2 ในเรื่องของการวางกลยุทธ์และแนวทางการสื่อสารแบรนด์ขององค์กร โดยยังคงเน้นจุดยืนที่เป็น Urban Living Solutions ผ่านแนวคิด URBAN HACK ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตเมืองของคนเมืองให้ดียิ่งขึ้นด้วยการนำเสนอวิธีคิด และการจัดกิจกรรมขององค์กร ทั้งเพื่อกลุ่มลูกค้าของอนันดา และกลุ่ม GEN-C ที่ใช้ชีวิตในเมือง รวมถึงการมองหา Solutions ที่จะสามารถช่วยพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น

และกลยุทธ์เรื่องที่ 3 ที่บริษัทให้ความสำคัญ คือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในทุกขั้นตอนระหว่างลูกค้าและบริษัทโดยมีทีมงานที่ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด มีแนวทางนโยบายพร้อมการวัดผลความพึงพอใจของลูกค้าในทุกมิติ ซึ่งแนวทางกลยุทธ์ทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวบริษัทเชื่อมั่นว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนบริษัทให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายแหล่งรายได้ใหม่ และสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลักด้วยการลงทุนในโครงการมิกซ์ยูสครั้งแรกร่วมกับพันธมิตรอย่างกลุ่ม บีทีเอส บนที่ดินกว่า 200 ไร่ บริเวณหน้าโครงการ ธนาซิตี้ ติดถนนบางนา-ตราด โดยตั้งเป้าให้เป็น SmartCity และ Technology & Innovation Hub เพื่อพลิกโฉมวงการที่อยู่อาศัยให้สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง สำหรับกลุ่มดุสิต ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและพัฒนาร่วมกัน

บริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 31,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการโอนในระยะ 3 ปีข้างหน้า และในส่วนของกระแสเงินสดของบริษัทก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นสุดไตรมาสยังคงรักษาเงินสดที่มีมากกว่า 14,800 ล้านบาท

อนึ่ง ในด้านผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 63 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 1,857.9 ล้านบาท โดยเป็นการบันทึกกำไรจากการลงทุนในบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท พีระ เซอร์กิต วัน จำกัด และบริษัท พีระ คาร์ท จำกัด จำนวน 356.5 ล้านบาท สอดคล้องต่อเป้าหมายในการลดสัดส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักและเน้นการบริหารเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจหลักของบริษัท ขณะที่รายได้จากการขายอสังหาฯ จำนวน 600.5 ล้านบาท ลดลง 170.4 ล้านบาท พร้อมเร่งบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยตัวเลขกำไรสุทธิจำนวน 150.2 ล้านบาทในไตรมาส 1 ลดลง 35.3% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าซึ่งยอดโอนของโครงการร่วมทุนที่โอนต่อเนื่องในไตรมาส 1 ปี 63 อยู่ในช่วงท้ายของการโอนโครงการร่วมทุน ได้แก่ โครงการแอชตัน จุฬา-สีลม โครงการไอดีโอ สุขุมวิท 93 โครงการไอดีโอโมบิอโศก และโครงการไอดีโอ พหลโยธิน-จตุจักร

ตัวเลข ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 63 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 48,744.96 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 30,379.27 ล้านบาท ROA อยู่ที่ 3.87 และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 5,932.74 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น