xs
xsm
sm
md
lg

“โลกหลังวิกฤต Covid-19 (ตอนที่ 7)”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกฤษฎา เสกตระกูล  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โลกหลังวิกฤต Covid-19 (ตอนที่ 7) มหาวิทยาลัยกับวิธีบริหารจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปหลัง Covid-19 สรุปจากบทความของ Joshua Kim เรื่อง Teaching and Learning After Covid-19

นายกฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในตอนที่ 7 นี้ จะยังขอกล่าวถึงอุตสาหกรรมการศึกษาต่ออีก แต่เป็นการดูผลกระทบของ Covid-19 ที่มีต่อสถาบันอุดมศึกษา (Higher education) หรือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนที่จะเกิดวิกฤต Covid-19 นั้น การศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ถูกคุกคาม (Disruption) อยู่แล้วจากหลายสาเหตุ เช่น องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยสั่งสมมาแต่เดิม เป็นการนำไปตอบโจทย์โลกอุตสาหกรรม 3.0 ซึ่งหลายอย่างเริ่มล้าสมัยที่จะนำไปตอบโจทย์โลกในยุค 4.0 รวมทั้งลูกค้าเป้าหมายซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ มีสัดส่วนลดลงจากอัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำลงในหลายประเทศตั้งแต่ 2 ทศวรรษก่อนเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยจำนวนมากในประเทศต่างๆ อยู่ระหว่างการปรับตัวทั้งในเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ การทำการตลาดรูปแบบการแสวงหารายได้แบบใหม่ รวมทั้งการลดต้นทุน ซึ่งหลายๆ มหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็เริ่มทยอยปิดตัวกันไป ในขณะที่เหตุการณ์วิกฤต Covid-19 ที่กำลังเกิดขึ้นเหมือนเข้ามาเร่งให้ Disruption ดังกล่าวเกิดเร็วขึ้น เพราะการหยุดชะงักการเรียนการสอนทำให้การลงทะเบียนของนิสิตนักศึกษาทั้งเก่าและใหม่มีการชะลอตัวไปซึ่งกระทบต่อกระแสเงินสดของมหาวิทยาลัย หรือการโดนบีบให้ต้องสอน Online ขณะที่การเตรียมตัวมีน้อยทั้งในด้านสื่อการสอนและอุปกรณ์ ทำให้คุณภาพการให้ความรู้ตกต่ำลง เป็นต้น

บทความของ Joshua Kim เรื่อง Teaching and Learning After Covid-19 ที่ลงใน insidehighered.com ได้ทำนายการเปลี่ยนแปลงไว้ดังนี้

การจัดการเรียนแบบผสมผสานจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก (Blended learning will dramatically increase)

การเรียนในรูปแบบเดิมที่ห้องเรียน (Physical classroom learning) จะถูกปรับให้มีรูปแบบ Online หรือเรียกว่า Remote classroom เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนต้องเริ่มมีการปรับตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาก็คือ การเรียนแบบ Online ต้องการคุณภาพของเนื้อหาและโปรแกรมที่ดี รวมทั้งมีลักษณะกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนไปและต้องดูแลมาก (High-Input operations) แบบที่มหาวิทยาลัยไม่คุ้นเคยมาก่อน จึงต้องมีการลงทุนและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากในช่วงแรก รวมถึงอาจมีโอกาสสูงที่ลงทุนไปแล้วไม่เกิดความคุ้มค่า นอกจากนี้ ในการเผยแพร่หรือถ่ายทอดความรู้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าวิธีใด หรือ platform ใดที่ควรเลือกใช้ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง Canvas, Blackboard, D2L, MS team และ Zoom เป็นต้น ซึ่งจะต้องหาวิธีใช้ร่วมกับการเรียนแบบ Face-to-face ใน Physical classroom ซึ่งแต่ละศาสตร์อาจใช้น้ำหนักไม่เท่ากัน เช่น การเรียนด้านวิทยาศาสตร์ที่ยังต้องใช้ Labs เพื่อฝึกปฏิบัติภายใต้การดูแลของอาจารย์ อาจต้องการสัดส่วนการเรียนแบบ Face-to-face ในสัดส่วนที่มากกว่าบางสาขา เป็นต้น

การเรียนแบบ Online จะกลายเป็นกลยุทธ์เร่งด่วนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เร่งพัฒนาการให้บริการ (Online education will be a strategic priority at every institution)

อาจกล่าวได้ว่า แทบทุกมหาวิทยาลัยในตอนนี้ไม่มีใครไม่เล่นกลยุทธ์ Online education บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยรู้ดีว่า ถ้าทำ Online education ได้ดีจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของมหาวิทยาลัยเพราะนอกจากใช้ประกอบการเรียนให้นักศึกษาปัจจุบัน และดึงดูดนักศึกษาใหม่แล้วยังอาจดึงประชาชนอีกมหาศาลที่ต้องการปรับทักษะใหม่เข้ามาเรียนแบบทางไกลได้ด้วย หลัง Covid-19 เราจะได้เห็นวิธีจัดงบประมาณแบบใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยทุ่มงบไปพัฒนาและส่งเสริมการทำ Online education มากขึ้น แต่เนื่องจากเนื้อหาในบริบทเดิมบางอย่างอาจมีประโยชน์บางอย่างไม่มีคนสนใจ ส่วนเนื้อหาใหม่ที่ไปกับโลกยุคใหม่ก็อาจจะยังไม่ตกผลึกดี การผลิตและนำออกมาใช้ก็จะเป็นลักษณะทำไปทิ้งไป ทำไปไม่มีคนใช้ ไม่มีคนสนใจ ทำแล้วไม่เกิดรายได้ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ ทำไปพอให้รอดตัวว่าได้ทำตาม KPI มหาวิทยาลัยจึงต้องดูให้ดีระหว่างงบประมาณที่ใช้กับของที่มีคุณค่า ที่จะได้จากการลงทุนใน Online education

การร่วมมือกับบุคคลภายนอกในการพัฒนาเนื้อหาและการเรียนการสอนอาจมีหลายรูปแบบ (Existing and potential partnerships will be rethought)

โดยปกติมหาวิทยาลัยจะถือตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางพัฒนาเนื้อหา การวิจัย และการเรียนการสอนเพื่อผลิตคนออกสู่อุตสาหกรรมต่างๆ โดยจ้างคณาจารย์มาทำงานเรื่องการศึกษา มหาวิทยาลัยจึงถูกยอมรับว่าควรจะทำงานนี้ได้ดีที่สุด (Teaching and learning are core capabilities) แต่อย่างที่เราทราบศาสตร์ด้านใหม่ๆ ทางอุตสาหกรรมอาจพัฒนาได้เร็วและใหม่กว่า ซึ่งถ้ามาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีจุดแข็งด้านการเรียบเรียงให้เป็นระบบเป็นลำดับในการเรียนรู้ ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อเตรียมคนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ของโลก

สำหรับภาพรวมของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ในอดีตหลายทศวรรษที่ผ่านมาถือได้ว่าบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับใช้ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุคอุตสาหกรรม 3.0 มาได้ดีอย่างน่าภาคภูมิใจ แต่มหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิมได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดของแบบจำลองนั้นแล้ว หลังวิกฤต Covid-19 หากมหาวิทยาลัยมุ่งแต่การกลับเข้าสู่สภาวะปกติ (Return-to-normal) ไปดำเนินงานตามรูปแบบเดิม ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยสำคัญที่จะต่อสู้กับ Disruption ดังกล่าวข้างต้น ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยควรเร่งจัดทำ Transformation plan ระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างแบบจำลองใหม่ให้ตนเองหลุดจากแบบจำลองเดิม โดยต้องรักษาของดีที่มีอยู่บนแบบจำลองเดิม และสร้างของดีอันใหม่เพิ่มเติม เพื่อนำมาขับเคลื่อนตามบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวที่ไม่สามารถจบในบทความเดียว แต่อยากทิ้งท้ายว่า เราน่าจะระดมสมองกันต่อไปว่า “ของดีอันเดิม” กับ “ของดีอันใหม่” ของมหาวิทยาลัยคืออะไร แล้วแบบจำลองอันใหม่ของมหาวิทยาลัย ควรเป็นแบบไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น