xs
xsm
sm
md
lg

กูรูชี้ทางรอด “ค้าขายออนไลน์” สู้วิกฤตโควิด-19 ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.ล.ต.จัดสัมมนา แชร์ประสบการณ์จากสมาคมอี-คอมเมิร์ซ และผู้ก่อตั้งกรุ๊ปมาร์เกตเพลซ เห็นตรงกันช่องทางค้าขายสินค้าออนไลน์เป็นทางรอดในวิกฤตโควิด-19

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จัดเสวนาหาคำตอบธุรกิจ SME จะปรับตัวให้รอดและรุ่งได้อย่างไรในยุค COVID-19 เรื่อง “พลิกโฉมธุรกิจ SME : โอกาสใหม่ในยุค COVID-19” โดยนายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (E-commerce) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กลุ่มแรกๆ คือธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพได้มีการช่วยเหลือกัน โดยการโยกย้ายพนักงานบางหน้าที่ไปช่วยทำงานในบริษัทที่ยังเดินหน้าได้ รวมถึงการรับงานร่วมกันระหว่างบริษัทเพื่อเลี่ยงการปลดพนักงาน ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีในภาวะวิกฤตตอนนี้ ซึ่งอีคอมเมิร์ซปัจจุบันไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของผู้ประกอบการธุรกิจ พร้อมกับแนะนำการขายออนไลน์ คือให้มองตัวเองว่ามีความถนัดหรือทักษะด้านไหนเป็นพิเศษ ที่สามารถนำมาเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้าง เช่น เล่นกีตาร์เก่งและเคยเล่นเป็นงานอดิเรก ก็สามารถนำทักษะมาใช้ในการสอนออนไลน์ได้ และให้มองภายนอกรอบๆ ตัวเอง โดยให้มองว่าคนบ่นอะไร และนำเสียงบ่นเหล่านั้นมาตั้งคำถามว่า เราสามารถสร้างสินค้าอะไรที่ตอบโจทย์คนเหล่านั้นได้บ้าง

ขณะที่คนที่จะเริ่มขายสินค้าในช่วงนี้ ให้เริ่มขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือโซเชียลคอมเมิร์ซ เพราะเป็นช่องทางที่คนไทยมีการซื้อสินค้าออนไลน์ในสัดส่วนสูงถึง 40% ของมูลค่าซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่ผู้ซื้อรู้สึกว่าได้ซื้อสินค้าโดยตรงกับผู้ค้า เพราะสามารถโต้ตอบกันได้ รองลงมาคือช่องทางอีมาร์เกตเพลซ เพราะจะมีการทำโปรโมชันดึงดูดผู้ซื้อ และช่องทางสุดท้าย คือการสร้างเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมคนไทยยังชอบการซื้อขายสินค้าผ่านทางหน้าร้าน หรือออฟไลน์ จึงจำเป็นต้องมีหน้าร้านเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ขณะที่ช่องทางออนไลน์ ลูกค้าส่วนใหญ่ 80-90% จะใช้เป็นช่องทางในการหาข้อมูลสินค้า เพี่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อผ่านทั้งทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์


นางสาวภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งกรุ๊ปธรรมศาสตร์มาร์เก็ตเพลส ระบุว่า กลุ่มธรรมศาสตร์มาร์เก็ตเพลสตั้งขึ้นมาได้ 1 เดือน ปัจจุบันมีสมาชิก 170,000 คน โดยกลุ่มเกิดจากการที่ผู้ค้าและผู้ซื้อไม่สามารถออกมาซื้อสินค้าได้ตามปกติ แต่ยังมีความต้องการซื้อขายกันอยู่ จึงตั้งเป็นกลุ่มซื้อขายสินค้าขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้ากัน ระหว่างผู้ที่เรียน เคยเรียน และบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ และเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต โดยกลุ่มจะเป็นแบบไพรเวตเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ซึ่งผู้ที่ต้องการเข้ากลุ่มทั้งบุคคลภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะถูกคัดเลือกเพื่อลดการซื้อขายสินค้าผิดกฎหมายและการฉ้อโกงกัน และยังกำหนดให้ผู้ค้ามีการแท็กผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และเพิ่มการมองเห็น

นายปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งกรุ๊ปจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ระบุว่า กลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการที่ได้เห็นเพื่อนขายสินค้าในกลุ่มไลน์หมู่บ้าน ซึ่งมียอดขายสูงพอๆ กับการขายหน้าร้าน ในขณะที่มีสมาชิกในกลุ่มเพียง 400 คน จึงตั้งเป็นกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสขึ้น ซึ่งปัจจุบันก่อตั้งได้เกือบ 1 เดือน มีสมาชิก 230,000 คน โดยจะมีการแชร์ประสบการณ์ระหว่างผู้ดูแลกรุ๊ปของธรรมศาสตร์กับจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส เพื่อให้สามารถดูแลกรุ๊ปให้มีความรัดกุมและลดการฉ้อโกงในการซื้อขายสินค้า สำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายจำนวนมาก จะเป็นพวกของกิน ขนม เบเกอรี และผลไม้


กำลังโหลดความคิดเห็น