หอการค้าไทยฯ - CPAC และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมส่งมอบ “ห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ พัฒนาและออกแบบโดย ม.สงขลาฯ และ CPAC Construction Solution ให้แก่ 10 โรงพยาบาล ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ หวังช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการแยกพื้นที่ทีมแพทย์-คนไข้ออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศ พร้อมระบบฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชน ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 และพร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่กำลังเผชิญวิกฤตกันอยู่ในขณะนี้ จึงได้เชิญชวนเครือข่ายของหอการค้าทั่วประเทศ ทั้งหอการจังหวัด สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สมาชิก ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงิน เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและเร่งด่วน สำหรับช่วยเหลือทีมแพทย์ พยาบาล ซึ่งเป็นบุคคลด่านหน้าที่ต้องเผชิญต่อผู้ป่วยและเชื้อโควิด-19 โดยในระยะแรกนี้ หอการค้าฯ ได้สนับสนุน ‘นวัตกรรมห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure SWAB Unit)’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ CPAC Construction Solution จำนวน 10 ยูนิต ให้แก่ 10 โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมากในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ โดยให้นายวัฒนา ธนศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เป็นผู้แทนส่งมอบ เพื่อช่วยยกระดับความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกันของภาคธุรกิจในครั้งนี้จะเป็นพลังให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านภัยครั้งนี้ได้
ด้าน นายวิเชษฐ์ ชูเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด กล่าวเสริมว่า ‘นวัตกรรมห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure SWAB Unit)’ เป็นการออกแบบร่วม 3 ภาคี โดยมี 1.) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2.) แพทย์ชำนาญการ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลตรัง 3.) CPAC Construction Solution โดยมี CPAC Construction Solution เป็นผู้ผลิต เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานจริงของแพทย์มากที่สุด โดย ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจภายในห้องตรวจหาเชื้อ ที่มีการปรับความดันอากาศเป็นลบ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย ในขณะที่แพทย์จะอยู่บริเวณด้านนอก
ภายหลังการใช้งานห้องทุกครั้งจะใช้แสงยูวีเข้มข้นสูงจากหลอด UV ชนิด UVC เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกเพื่อเก็บตัวอย่าง จึงลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ มีโครงสร้างหลักประกอบขึ้นจากแผ่น Smart Board และกระจกอะคริลิก ติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว และมีล้อสำหรับการเคลื่อนย้าย โดยนวัตกรรมนี้ผ่านการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของโรงพยาบาลตรัง ด้วยมาตรฐาน U.S. Department of Health and Human Services Centers for Disease Control and Prevention (CDC)
ขณะที่ แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลตรังถือเป็นโรงพยาบาลหลักที่ให้บริการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของจังหวัดตรัง ที่ผ่านมา โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มารับการตรวจคัดกรองได้เฉลี่ยวันละ 5-10 คน ซึ่งสิ่งที่โรงพยาบาลให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การปกป้องประชาชนที่มารับบริการไม่ให้รับเชื้อโควิด-19 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสี่ยงในการตัวอย่าง (Swab) ของผู้ป่วยเพื่อไปส่งตรวจ
โดยวิธีที่ปลอดภัยต่อการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาลที่สุดคือ การเก็บเชื้อในห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อ สำหรับโรงพยาบาลมีห้องความดันลบเพียงห้องเดียวซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนของผู้ป่วยที่มารับบริการ โรงพยาบาลจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุน ‘นวัตกรรมห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure SWAB Unit)’ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มาตรวจคัดกรองได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20 คนต่อวัน อีกทั้งยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง และมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความปลอดภัยกับผู้ป่วยอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและขอขอบคุณหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย CPAC Construction Solution และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ส่งมอบนวัตกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมาให้โรงพยาบาลใช้งานในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้”
อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ต้องการห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบและห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเปิดรับบริจาคเงินเพื่อจัดหานวัตกรรมดังกล่าว เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลที่มีความจำเป็น