โครงการซื้อหุ้นคืนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กำหนดเริ่มต้นวันที่ 20 เมษายน 2563 แต่ต้องล้มกลางคัน หลังจากคณะกรรมการธนาคารจัดประชุมเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา และ มีมติยกเลิกการซื้อหุ้นคืน
เหตุผลการล้มโครงการซื้อหุ้นคืน SCB แจ้งว่าเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารให้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น และเพื่อให้ธนาคารมีความพร้อมในการขยายธุรกิจเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม
SCB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวันที่ 11 มีนาคม 2563 ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน วงเงินสูงสุดไม่เกิน 16,000 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อไม่เกิน 135.96 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 4% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด โดยกำหนดระยะเวลาซื้อคืน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-19 ตุลาคม 2563
การล้มโครงการซื้อหุ้นคืนของ SCB ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะนักลงทุนอาจได้รับผลกระทบ
ในช่วงวิกฤตโควิดบริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่ง ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน โดยเมื่อเห็นว่า ราคาหุ้นปรับตัวลงจนต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น บริษัทจดทะเบียนที่มีสภาพคล่องจึงนำเงินมาซื้อหุ้นคืน
การประกาศซื้อหุ้นคืน มีผลในเชิงจิตวิทยา กระตุ้นราคาหุ้นให้ปรับตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่มีโครงการซื้อหุ้นคืน
แม้หุ้น SCB จะไม่ได้รับผลบวกและผลลบจากการซื้อหุ้นคืนหรือการยกเลิกโครงการ เพราะในช่วงประกาศโครงการ ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้น ส่วนในช่วงประกาศเลิกโครงการ ราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวลง
แต่ SCB จะเป็นแบบอย่างแก่บริษัทจดทะเบียนอื่น ซึ่งอาจใช้โครงการซื้อหุ้นคืนเป็นเครื่องมือสร้างราคาหุ้น
เพราะการประกาศซื้อหุ้นคืนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาหุ้น เป็นการส่งสัญญาณว่า ราคาหุ้นปรับตัวลงมาต่ำมากแล้ว จนบริษัทจดทะเบียนต้องจัดสรรเงินเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อพยุงราคา
SCB ประกาศโครงการรับซื้อหุ้นคืนเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ระยะเวลาเพิ่งผ่านไปเพียงเดือนเศษ แต่กลับมาประกาศยกเลิก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้น SCB เพราะข่าวการซื้อหุ้นคืน
เมื่อ SCB สามารถยกเลิกโครงการซื้อหุ้นคืนได้ บริษัทจดทะเบียนอื่นก็เลียนแบบ SCB ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อดันราคาหุ้น เมื่อบรรลุเป้าหมายในการกระตุ้นราคา ก็ อาจยกเลิกโครงการภายหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในวงกว้าง
แม้ SCB จะมีเหตุผลสนับสนุนการประกาศล้มโครงการซื้อหุ้นคืน แต่เนื่องจากการซื้อหุ้นคืนและการยกเลิกมีผลในด้านบวกและด้านลบต่อราคาหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องทบทวนหลักเกณฑ์โครงการซื้อหุ้นคืน
เมื่อประกาศโครงการแล้วจะล้มเลิกง่ายๆ ไม่ได้
กรณี SCB ไม่ได้สร้างความเสียหายให้นักลงทุนมากนัก เพราะวันที่มีข่าวโครงการซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นกลับปรับตัวลงแรง โดยวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากธนาคารประกาศซื้อหุ้นคืนเย็นวันที่ 11 มีนาคม ราคาหุ้นปิดที่ 66.25 บาท ลดลง 7.25 บาท หรือ 10.17%
ส่วนวันที่ 20 เมษายน หลังประกาศข่าวยกเลิกโครงการซื้อหุ้นคืนในช่วงเช้า ราคาหุ้นกลับดีดตัวขึ้น โดยปิดที่ 71.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 3.61%
แต่กรณีบริษัทจดทะเบียนอื่นที่อาจเลียนแบบ SCB โดยใช้โครงการซื้อหุ้นคืนเป็นกลไกสร้างราคาหุ้น ล่อแมลงเม่าให้แห่เข้าเก็งกำไร อาจทำให้นักลงทุนเสียหาย
ปัญหาการซื้อหุ้นคืนเกิดขึ้นแล้ว และตลาดหลักทรัพย์ไม่ควรเพิกเฉยต่อกรณีของ SCB แต่จะต้องคิดหาทางป้องกัน ไม่ให้โครงการซื้อหุ้นคืนล้มกันง่ายๆ
บริษัทจดทะเบียนไหนอยากประกาศก็ประกาศ อยากจะล้มก็ล้มดื้อๆ นักลงทุนอาจตกเป็นเหยื่อของเกมซื้อหุ้นคืนได้