บอร์ด PPP เห็นชอบแผนจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนปี 63-70 มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นโครงการร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) จำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะให้แก่ประชาชน
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันพุธที่ 15 เมษายน 2563 ผ่านระบบ VDO Conference
ณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
สำหรับผลการประชุมฯ สามารถสรุปได้ดังนี้ 1.เห็นชอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2563-2570 (แผนการจัดทำโครงการ PPP) ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) ซึ่งได้นำหลักการสำคัญ รวมถึงนโยบายและทิศทางในการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินการ
ทั้งนี้ ในแผนการจัดทำโครงการ PPP มีรายการ โครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 92 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.09 ล้านล้านบาท โดยเป็นโครงการร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) จำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 472,049 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนการจัดทำโครงการ PPP ข้างต้นจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภายใต้แผนดังกล่าว เพื่อลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้จากภาครัฐ ตลอดจนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนจากความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนในการให้บริการสาธารณะ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเสนอโครงการและการคัดเลือกเอกชน จำนวนรวม 6 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. ... 2) เรื่อง รายละเอียดที่ต้องมีในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการและหลักเกณฑ์ และวิธีการในการนำความเห็นของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน มาประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. ...
3) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาในการเสนอโครงการ พ.ศ. ... 4) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. ... 5) เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. ... และ 6) เรื่อง เงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. ... ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางเพื่อรองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ PPP ได้มีการวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือ ได้แก่ 1) กรณีโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี และ 2) กรณีแนวทางการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี อีกด้วย