กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยผลกระทบโควิด-19 ทำไตรมาสแรกยอดใช้จ่ายผ่านบัตรลด 20% สินเชื่อบุคคลลด 17% ขณะที่เอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมขานรับนโยบายแบงก์ชาติออก 3 มาตรการพิเศษบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเคตดิตลดลงประมาณ 20% สินเชื่อบัตรเครดิตลดลง 17% และสินเชื่อบุคคลลดลง 30% และคาดว่าทั้งปียอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะลดลง 35-40% หรือในกรณีเลวร้ายก็จะอยู่ที่ 50% ขณะที่ยอดลูกค้าใหม่ในช่วง 10 วันแรกของเดือนเมษายนหายไป 90% ส่วนที่เหลือจะมาจากแอปพลิเคชัน UCHOOSE หรือช่องทางออนไลน์
ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 0.70% เป็น 1.6-1.7% จากสิ้นปีที่ 1.05% และเอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 0.70-0.80% เป็น 3.4% จาก 2.5% อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทคงจะไม่ได้มุ่งเน้นในการหาลูกค้าใหม่ แต่จะเน้นการช่วยเหลือลูกค้ามากกว่า ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
โดยบริษัทพร้อมให้ความร่วมมือตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และได้ริเริ่มโครงการ "เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์" ด้วย 3 มาตรการพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้า ทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในวงกว้าง ด้วยการลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือนและการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน สำหรับลูกค้าทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม การบิน และบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต และ 22% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ซึ่งจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีรายละเอียดดังนี้
มาตรการที่ 1 : ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน โดยผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง ส่วนผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
มาตรการที่ 2 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือนให้แก่ลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนงเป็นระยะเวลา 2 รอบบัญชี สำหรับลูกค้าทุกรายที่มีวันครบกำหนดชำระตั้งแต่ 14 เมษายน 2563 ถึง 12 มิถุนายน 2563 โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง
มาตรการที่ 3 : ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้นเพียง 12% สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนง และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี โดยผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายการเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน ส่วนผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 22% และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3% โดยคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาลงทะเบียนโครงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลประมาณเดือนละ 800,000-1.2 ล้านรายต่อเดือน
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการโดยลูกค้าต้องมีบัญชีสินเชื่อกับบริษัทก่อนเดือนมีนาคม 2563 และลูกค้าจะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อให้คงเหลือเท่ากับยอดสินเชื่อคงค้างที่เข้าร่วมโครงการ โดยลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563-30 มิถุนายน 2563 นี้ โดยบริษัทจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
นายฐากร กล่าวอีกว่า เรามีความตั้งใจที่เข้ามาช่วยเหลือลูกค้าให้เร็วกว่านี้ แต่ก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านระบบไอที และการสำรองสภาพคล่องของบริษัทเอง ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็จะทำให้เราเสียสภาพคล่องไปประมาณ 3-4 หมื่นล้าน ตรงนี้ต้องมีการสำรองซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากบริษัทแม่ รวมถึงบริษัทเองได้มีการออกหุ้นกู้สำรองไว้บ้างแล้ว แต่หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อเกินกว่า 2 เดือนที่คาดไว้ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง