แบงก์ชาติเปิด “ทางด่วนแก้หนี้” เชื่อมเจ้าหนี้-ลูกหนี้ให้ปรับหนี้ร่วมกัน โทร.1213 หวังเป็นช่องทางเสริมสำหรับประชาชนและธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือต้องการความช่วยเหลือให้สามารถแจ้งความต้องการไปที่สถาบันการเงิน โดยเป็นช่องทางเสริมในช่วงที่มาตรการเว้นระยะทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางเงิน (ศคง.) แบงก์ชาติ ได้เปิดช่องทาง "ทางด่วนแก้หนี้" ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางเสริมสำหรับประชาชนและธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือต้องการความช่วยเหลือให้สามารถแจ้งความต้องการไปที่สถาบันการเงิน (สง.) ช่องทางนี้เป็น “ช่องทางเสริม” ในช่วงที่มาตรการเว้นระยะทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ลูกหนี้ (1) ไม่สามารถติดต่อ สง. เนื่องจากมีคนติดต่อเข้าไปจำนวนมาก หรือ (2) กรณีที่ลูกหนี้ติดต่อ สง. แล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกัน เช่น คุณสมบัติไม่ผ่าน หรือแม้มีมาตรการผ่อนปรนของ สง. ลูกหนี้ก็ยังจ่ายชำระหนี้ไม่ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับผ่านช่องทางนี้จะถูกส่งต่อไปยังสถาบันการเงินซึ่งการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี กรณีที่สถาบันการเงินไม่สามารถรับข้อเสนอของลูกหนี้ ขอให้สถาบันการเงินระบุเหตุผลเพื่อแบงก์ชาติจะเข้าไปดูว่ามีอะไรที่พอจะทำได้บ้างที่จะไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติร่วมกัน และเดินต่อไปด้วยกันได้ ช่วงนี้ ธปท. ติดตามสถานการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะตระหนักดีว่าประชาชนโดยเฉพาะรายย่อย รวมทั้งธุรกิจ SME จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากรายได้ลดลงจากผลของมาตรการล็อกดาวน์
“แบงก์ชาติจับชีพจรความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจภายใต้วิกฤตโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยให้ Call center ของ ศคง. หรือ โทร.1213 ทั้ง 4 ภาค เป็นกองหน้ารับปัญหา เพื่อประเมินว่าสถาบันการเงินกับลูกหนี้คุยกันได้หรือไม่ มีปัญหาจุดใดบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งถ้าเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่ ธปท.กำกับดูแลโดยตรง การแก้ไขจะง่ายและเร็ว และถึงแม้เรื่องนั้นไม่อยู่ในกำกับ แบงก์ชาติยินดีเป็นตัวกลางประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขต่อไป ตรงนี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการในปัจจุบันยังมีช่องว่าง (gap) ทั้งในส่วนที่ประชาชนติดต่อสถาบันการเงินไม่ได้ หรือกรณีที่สถาบันการเงิน และลูกหนี้ยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ จึงเป็นที่มาของ “ทางด่วนแก้หนี้” ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น และช่วยลูกหนี้ในการเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางการเงินในช่วงวิกฤตนี้” นางธัญญนิตย์ กล่าว