ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเกณฑ์ช่วยเหลือกองทุนรวมที่ขาดสภาพคล่อง รวมถึงกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนเปิดตราสารหนี้รวมทุกกองทุน ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบร้อยละ 0.50 ต่อปี
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการออกมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility : MFLF) ล่าสุดได้มีการปรับหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมตราสารจากทุกกองทุนที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund : MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily Fixed Income Fund : Daily FI) ทุกกองทุน
ซึ่งแนวทางการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องจะให้ผ่านสถาบันการเงินใน 2 รูปแบบ คือ สถาบันการเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน MMF และ Daily FI ที่มีสินทรัพย์คุณภาพตามเกณฑ์ ธปท. ไม่ต่ำกว่า 70% ของสินทรัพย์ที่ลงทุน และสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือกองทุนรวม MMF และ Daily FI ผ่านธุรกรรม repo โดยมีสัญญาว่าจะขายคืน (Repurchase Agreement) สามารถนำสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่องจาก ธปท. ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบร้อยละ 0.5 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยอาจ Rollover ต่อ หรือขอสิ้นสุดสัญญาก่อนครบกำหนด
ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมหลังสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ตึงตัวและกลไกตลาดการเงินทำงานต่างจากปกติ โดย ธปท. พร้อมพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้ตลาดการเงินกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร่วมตลาด
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้ออกประกาศให้บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถกู้ยืมเงินหรือทำธุรกรรม repo เพื่อการบริหารสภาพคล่องสำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยธุรกรรมดังกล่าวได้ขยายเป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ณ สิ้นวัน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ทั้งนี้ มีผลจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยให้บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถบริหารสินทรัพย์ของกองทุนได้คล่องตัวขึ้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19