"สศค." เผย 5 เดือนแรกของปี 63 รัฐบาลนำส่งรายได้คลัง 1 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินคงคลังเดือน ก.พ. จะมีทั้งสิ้น 3.4 แสนล้านบาท ส่วนผลจัดเก็บรายได้เกินเป้า 6.7 พันล้านบาท ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีงบฯ 62
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,015,148 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1,213,483 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 82,895 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 342,436 ล้านบาท
ส่วนผลจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในเดียวกันของปีงบฯ 63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 985,343 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,772 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและกรมสรรพากร สูงกว่าประมาณการ 6,655 5,178 และ 2,453 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.4 8.0 และ 0.4 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สศค. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงฐานะการคลังภาครัฐบาลตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาวิเคราะห์นโยบายการคลัง (GFS) ในไตรมาสแรกของปีงบฯ 63 (ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 62) ว่า รายได้ภาครัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วย รัฐบาล กองทุนนอกงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น จะมีทั้งสิ้น 805,545 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 44,795 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 โดยเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเป็นสำคัญ (ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีเบียร์ และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ)
ขณะที่รายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 903,615 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 100,169 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 ทั้งนี้ จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 98,070 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP และดุลการคลังเบื้องต้นของภาครัฐบาล (Primary Balance) ขาดดุล 32,157 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของ GDP