กนง.ประชุมนัดพิเศษ (20 มี.ค.) ครั้งที่ 3 ประเมินสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ตลาดเงินตลาดทุน จึงมีมติเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 0.75% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิม 1% มีผล 23 มี.ค.นี้
ในวันที่ 20 มีนาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและกลไกการทำงานของตลาดการเงินของประเทศ
คณะกรรมการฯ เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ
คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้ว และจะออกมาเพิ่มเติม
คณะกรรมการฯ เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งที่ผ่านมาและในครั้งนี้จะเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินจะต้องมีบทบาทเชิงรุกในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และประชาชน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินเพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
**CIMB THAI คาด ธปท.อัดฉีดเงินเข้าระบบอีก
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กนง. กำลังยอมรับสภาพที่เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยตามเศรษฐกิจโลก ส่วนจะลงดิ่งเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินและการคลังที่จะรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่กระทบภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ขอชื่นชม กนง.ที่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยโดยไม่รอวาระการประชุมปกติและมองไปข้างหน้า ธปท.น่าจะมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพิ่มเติม เพราะวันนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง แม้ธนาคารกลางสำคัญอัดฉีดเงินมหาศาล รอลุ้น กนง. หั่นดอกเบี้ยอีกรอบวันที่ 25 มีนาคมนี้ และอาจเผยมาตรการกึ่งๆ QE หรืออัดฉีดเงินที่ไทยจะใช้เสริมสภาพคล่องให้ธนาคารและภาคเอกชน