ซี.พี.แลนด์ฯ ผนึกพันธมิตรจากจีน 'กว่างซี คอนสตรัคชั่นฯ' รัฐวิสาหกิจอันดับ 2 ของเขตปกครองตนเองกว่างซี ประเทศจีน เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย พัฒนาโครงการนิคมอุตฯซีพีจีซี จ.ระยอง มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดยแบงก์กรุงไทยร่วมปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ของนิคมฯ กว่า 3,068 ไร่ มั่นใจทำเลที่ตั้งศักยภาพสูง เชื่อมการส่งออกทั่วโลก
วานนี้ (4 ก.พ.) บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้มีพิธีลงนามสัญญากับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับการเป็นธนาคารที่สนับสนุนทางด้านการเงิน ในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม ซีพีจีซี ในจังหวัดระยอง สำหรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ของโครงการที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 3,068 ไร่ มูลค่าวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาทภายใต้การร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน บริษัทที่เชี่ยวชาญในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ภายใต้เขตปกครองตนเองกว่างซี ร่วมพัฒนาโครงการนิคมฯซีพีจีซี โดยวางเป้าหมายขายพื้นที่หมดภายในปี 2566 มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจใหม่ที่อยู่ใน 7 ธุรกิจหลักของบริษัท ซี.พี.แลนด์ฯ โดยบริษัทได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมในการลงทุนและพัฒนานิคมฯ ซีพีจีซีมากว่า 5 ปี และในวันนี้ทุกอย่างก็พร้อม โดยได้รับสนับสนุนการเงินจากธนาคารกรุงไทยแล้ว ยังได้เดินหน้าโครงการโดยมีการว่าจ้าง บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ยีอาน (ประเทศไทย) ผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการนิคมฯ ซีพีจีซี มีมูลค่าการก่อสร้างราว 2,000 ล้านบาท ทางบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งในประสบการณ์การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคใหญ่ๆ รวมทั้งศักยภาพของบริษัท กว่างซีฯ จะสามารถก่อสร้างได้มีประสิทธิภาพและได้รับมาตรฐานสากลและรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศที่จะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยในอนาคต ก่อให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตฯ ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท และเกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 20,000 อัตรา และบริษัทฯ มุ่งมั่นตั้งใจจะพัฒนาและดำเนินการโครงการนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป
"ทางนิคมฯ ยังได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย จากคณะกรรมการนโยบายเขตภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งโครงการจะมุ่งเน้นในการสนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ด้วยกลุ่มอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มอุตฯ การแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มอุตฯ ดิจิทัล กลุ่มอุตฯ แปรรูปอาหาร พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาแนวคิด High Technology ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางคมนาคม มีอินฟราสตรักเจอร์ที่พร้อมกว่า"
สำหรับบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่นฯ บริษัทที่ลงทุนพัฒนาโครงการนิคมอุตฯ นั้น ทาง ซี.พี.แลนด์ ถือหุ้น 50% บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน ถือหุ้น 48% และบริษัท กว่างซี ยีอาน (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วน 2% ก่อตั้งเมื่อปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 2,750 ล้านบาท
การพัฒนาแบ่งเป็นโซน A พื้นที่อุตฯ เนื้อที่กว่า 2,205 ไร่ โซน B พื้นที่พาณิชย์กว่า 112 ไร่ โซน C พื้นที่สีเขียว 309 ไร่ และโซน D พื้นที่สาธารณูปโภค จำนวนกว่า 443 ไร่ ทั้งนี้ ในการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 3 เฟสๆ ละ 1,000 ไร่ มูลค่าลงทุนในเฟสแรก 1,000 ล้านบาท เฟสที่ 2 อยู่ที่ 800 ล้านบาท และอีก 500 ล้านบาทในเฟสที่ 3
จีนหวังเปิดตลาดระหว่างประเทศสู่สากล
นายถัง หนง เฉิน ประธานบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของเราเป็นตามหลักเรื่องความทันสมัย คุณภาพสูง และผลิตงานออกมาได้ดี และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ว่า หนึ่งเขตหนึ่งเส้นทางและแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 โดยก่อสร้างนิคมฯ ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย มุ่งเน้นการตลาด การวางตำแหน่งที่แม่นยำ การวางแผนที่ดี และการเชื่อมต่อที่แม่นยำ เพื่อเปิดตลาดระหว่างประเทศให้บริษัทจีน ก้าวไปสู่ความเป็นสากลอย่างมั่นคง ปรับปรุงความสามารถในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และขยายความร่วมมือด้านนวัตกรรมจีน-ไทยอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นที่จะสร้างนิคมอุตฯ ซีพีจีซี ให้เป็นที่ต้องการที่สำคัญสำหรับบริษัทในการลงทุนในประเทศไทย
กรุงไทยพร้อมปล่อยกู้ต่อเนื่อง
นายสุรธันว์ คงทน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 2 จากธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารพร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับภาคธุรกิจ โดยโครงการนิคมฯ อุตฯ ซีพีจีซี มีศักยภาพทั้งในเรื่อง 1. ทำเลที่ตั้ง อยู่ในพื้นที่ EEC มีระบบโครงข่ายคมนาคมรองรับภาคอุตสาหกรรม 2.มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งจากบริษัท ซี.พี.แลนด์ฯ และบริษัทกว่างซีฯ จากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารฯ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า สร้างสถานีดูแลระบบน้ำภายในนิคมฯ เป็นต้น