xs
xsm
sm
md
lg

“เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน” จะนำ “เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์” เข้าตลาดหุ้น ขาย IPO ไม่เกิน 600 ล้านหุ้น คาดแล้วเสร็จ Q3/63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน" จะนำ "เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์" เข้าตลาดหุ้น ขาย IPO ไม่เกิน 600 ล้านหุ้น คาดแล้วเสร็จ Q3/63 เผยเตรียมระดมทุนขยายธุรกิจ

บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (14 พ.ย.) อนุมัติแผนการนำหุ้นของบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (ETC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นอยู่ 60% เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) (Spin-off) โดยการเสนอขายและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ ETC ให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดย ETC จะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจของ ETC และบริษัทย่อยของ ETC ในอนาคต รวมทั้งปรับโครงสร้างทางการเงิน และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ โดยแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/63

ทั้งนี้ ตามแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ETC จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จากเดิมหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท และจะยื่นคำขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและแบบแสดงรายการข้อมูล การเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญของ ETC เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ ETC ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก จะส่งผลให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นสามัญของ ETC ลดลงจากเดิม 60% เหลือ 43.93%

สำหรับแผนเบื้องต้น ETC ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะ มีแผนที่จะจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และยื่นคำขอเสนอขายหุ้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และยื่นคำขอให้รับหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท โดยคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร หรือกรรมการผู้จัดการของบริษัท หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร หรือกรรมการผู้จัดการของ ETC จะเป็นผู้พิจารณากำหนดสัดส่วนการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปครั้งแรก และผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีสิทธิในการจองซื้อก่อนตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท (Pre-emptive Right)

การที่ ETC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถระดมเงินทุนจากตลาดทุนให้เพียงพอสำหรับโครงการที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว การลงทุนเพิ่มต่างๆ ในบริษัทย่อยและ/หรือบริษัทร่วมใดๆ และ/หรือเพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างเงินทุนของ ETC และ/หรือสำหรับสำรองไว้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของ ETC และบริษัทย่อยของ ETC ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอนาคตให้แก่ ETC ตลอดจนเพิ่มช่องทางในการระดมทุนให้กับ ETC ในอนาคต ทำให้ ETC มีความยืดหยุ่น และมีความคล่องตัวในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความแข็งแกร่งและส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ ETC เป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับแผนการใช้เงินจากการขายหุ้น IPO ครั้งนี้เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจของ ETC และบริษัทย่อยของ ETC ในอนาคต, เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงินของ ETC และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของ ETC และบริษัทย่อยของ ETC

ปัจจุบัน ETC ถือหุ้นใน 4 บริษัทย่อยทางตรง และ 1 บริษัทย่อยทางอ้อม ได้แก่ ถือหุ้น 97% บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (AVA) อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม กำลังการผลิตติดตั้ง 4.0 เมกะวัตต์ ใน จ.พิจิตร คาดเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายในปี 62, ถือหุ้น 97% ในบริษัท สิริลาภา พาวเวอร์ จำกัด (SIRI) อยู่ระหว่างรอยื่นข้อเสนอสำหรับการขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกให้แก่ กฟภ., ถือหุ้น 99.88% ในบริษัท ลิงค์ 88 พาวเวอร์ จำกัด (L88) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด ขณะที่รีคัฟเวอรี่ฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม ใน จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตติดตั้ง 7.0 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้ กฟภ. โดยเริ่ม COD เมื่อ 24 ก.ย. 62, และถือหุ้น 99.99% ใน บริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (EEC) ผู้ให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริการดูแลและซ่อมแซมบำรุงโรงไฟฟ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น