xs
xsm
sm
md
lg

“MUFG” ชู "BAY" แกนนำภูมิภาคเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


MUFG วางเป้าแบงก์กรุงศรีอยุธยา นั่งแทนเบอร์หนึ่งของไทยครองใจลูกค้าทั้งไทยและภูมิภาคเอเชีย พร้อมเป็นแกนนำขยายธุรกิจและบริการในเอเชีย คาดผลตอบแทนจากการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนญี่ปุ่นอิ่มตัว หวังเพื่อสร้างผลกำไรทดแทนธุรกิจสถาบันการเงินในญี่ปุ่น กรุงศรีฯโชว์จุดแข็งด้านรีเทล ผนึกจุดแข็งของ MUFG ผลักดันภาพลักษณ์การเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดญี่ปุ่นผ่านแคมเปญ "เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี"

นายชิโระ ฮอนโจ ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวางแผนธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโกลบอล Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG) เปิดเผยว่า MUFG ทีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจการลงทุนในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้ลงทุนในไทยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีผลตอบแทนที่ดี รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเชีย และผลตอบจึงต้องการลงทุนในต่างประเทศเพื่อทดแทนรายได้จากญี่ปุ่น การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย MUFG จะให้การสนับสนุนธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารดานามอน ในการเป็นแกนหลักขยายธุรกิจในประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพิ่มมากขึ้น

"MUFG ให้ความสำคัญต่อกลุ่มธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์นิ่งมาก การกู้เงิน การลงทุนญี่ปุ่นน้อยมาก ขณะที่เงินฝากในญี่ปุ่นอัตราดอกเบี้ย 0% หรือติดลบ ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ลดลงมาเหลือ 0.81% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย ทำให้ผลตอบแทนจากส่วนต่างดอกเบี้ยลดลงทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายเล็ก ธุรกิจแบงก์ในญี่ปุ่นไม่ค่อยได้กำไร ในขณะที่ต่างประเทศ ยอดเงินกู้และส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สูงมากกว่าในญี่ป่น ทำให้ตอนนี้กำไรจากต่างประเทศของ MUFG มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของกำไรทั้งหมด โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และเอเชีย เราก็จะมุ่งไปในทั้งสองภูมิภาคนี้ โดยวางเป้าหมายการเติบโตถึง 65% ในปีนี้" นายชิโระ กล่าว

นายชิโระ กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวอยากให้กรุงศรีฯ เป็นธนาคารอันดับหนึ่งในประเทศไทย แต่ไม่ได้ตั้งเป็นเป้าหมาย ต้องการที่จะให้พนักงานกรุงศรีฯ ร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งการสร้างค่านิยมในองค์กรให้เป็นรูปแบบเดียวกันเพื่อทำงานร่วมกัน และที่สุดก็จะเป็นธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในประเทศไทยและเอเชียต่อไป

ทั้งนี้ MUFG มองว่ากลุ่มธุรกิจ Global Commercial Banking ในภูมิภาคเอเชียมีความน่าสนใจ ทั้งจากจำนวนประชากรที่สูงมาก อายุเฉลี่ยของประชากรต่ำกว่าในญี่ปุ่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับเฉลี่ยปีละ 0.3-0.4% อีกทั้งมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเอเชียเป็นจำนวนมาก ซึ่งความร่วมมือกับธนาคารท้องถิ่นเป็นแนวหนึ่งที่ทำให้ MUFG ประสบความสำเร็จ สามารถให้บริการเงินกู้ได้ครบวงจร จากเดิมที่สามารถให้กู้ได้เฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนเท่านั้น

นอกจากนี้ กรุงศรีอยุธยา ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลแบงกิ้งได้ดีกว่า ขณะที่ธนาคารญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ทำให้มองว่ากรุงศรีฯ เป็นผู้นำในด้านดิจิทัลแบงกิ้งมากกว่า MUFG

ด้าน นายเอกวีร์ วิศิษฏสุนทร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายการตลาดองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีพันธกิจหลัก 3 ข้อ คือ ต้องการสร้างภาพลักษณ์การเป็นสถาบันการเงินชั้นนำในไทย การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นพันธมิตรด้านกลยุทธ์กับ MUFG และการเป็นผู้นำธนาคารดิจิทัลในไทย ซึ่งการได้พันธมิตรอย่าง MUFG ทำให้พันธกิจของแบรนด์เป็นไปได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

ธนาคารได้ดำเนินธุรกิจประเทศไทยมายาวนานกว่า 70 ปี เป็นธนาคารอันดับ 5 ของไทย หลังจากขยับอันดับด้านสินเชื่อและเงินฝากขึ้นมาใกล้กับธนาคาร Top 4 โดยหลังจากร่วมมือกับ MUFG ทำให้ฐานสินทรัพย์สูงขึ้นมากกว่า 80% เป็น 1.778 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 61 จากก่อนหน้านั้นอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท และยังคงเป็นผู้นำด้านสินเชื่อรายย่อย และเป็นผู้นำด้านสินเชื่อเงินฝากของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทย

"ปี 2014 ก่อน MUFG เข้ามา ธนาคารมีสินทรัพย์ 1 ล้านล้านบาท ลูกค้ารายย่อยค่อนข้างใหญ่จากการที่มีธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต เซลส์ไฟแนนซ์ อย่างเฟิร์สช้อยส์ และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมกัน 49% เป็นรายย่อย ส่วนลูกค้ารายใหญ่เป็นบริษัทไทย 29% เอสเอ็มอี 22% เมื่อรวมแล้วสินทรัพย์โตเกือบ 80% เป็น 1.778 ล้านล้านบาท มีส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นต่างชาติ และญี่ปุ่น 13% ของสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคาร เป็นข้อดีทำให้ธนาคารมีความครบวงจรมากขึ้น" นายเอกวีร์ กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารยังเป็นช่องทางของ MUFG ในการขยายธุรกิจในเอเชีย โดยเข้าไปลงทุนในบริษัท Hattha Kaksekar Limited (HKL) ในกัมพูชา และบริษัท SB Finance ของฟิลิปปินส์ เพื่อนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อรายย่อยขยายไปยังตลาดกัมพูชาและฟิลิปปินส์ รวมถึงดีลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายเอกวีร์ กล่าวว่า เจโทรสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นในไทย 70-75% มีบัญชีกับธนาคาร และ 70% ใช้บัญชีของธนาคารเป็นธนาคารหลัก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดของธนาคารญี่ปุ่นในไทย เพราะสามารถทำให้ลูกค้าเห็นประโยชน์ในการใช้ธนาคารเชื่อมโยงไปยังบริการด้านการเงินของ MUFG เช่น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เข้าซื้อหุ้นกิจการเรดล็อบสเตอร์ในสหรัฐฯ ผ่านมาทางธนาคารที่ได้เชื่อมต่อให้รู้จักกับ MUFG ที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่มาของดีลซื้อเรดล็อบสเตอร์สำเร็จ

รวมถึง บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ซื้อกิจการของโฮลซิม แอสเสท ในศรีลังกา และเวียดนาม บริษัท น้ำตาลมิตรผล ใช้คอนเน็กชันของธนาคาร ไปใช้เงินกู้ระยะสั้นของ MUFG ในจีน ไทยซัมมิท ขยายกิจการไปอินเดียใช้เครือข่ายและความสัมพันธ์ของ MUFG และจะมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในด้าน Supply Chain Finance จากจุดแข็งของธนาคารในด้านรีเทลทำให้มีเครือข่ายดีลเลอร์สินเชื่อรถยนต์จำนวนมาก และดีลเลอร์เน็ตเวิร์กเครื่องใช้ไฟฟ้า การมี MUFG ทำให้ซัปพลายเชนครบวงจรมากขึ้น สามารถให้บริการทางการเงินทั้งกับค่ายรถยนต์โดยตรง หรือผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรง รวมถึงดีลเลอร์ และผู้บริโภค

นายเอกวีร์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการสื่อสารให้ลูกค้ารายย่อยทราบว่าธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก และธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น นำมาสู่แคมเปญ "เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี" เพื่อเข้าไปให้บริการในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทยและในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นจำนวนมาก

"วัฒนธรรมญี่ปุ่นแพร่หลายและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มคนไทย กลุ่มเป้าหมายคือคนทั่วไป เมื่ออยู่กับกรุงศรีไม่ว่าจะเป็นเมื่ออยูในประเทศไทย ถ้าต้องการกินอาหารญี่ปุ่น ต้องการใช้ไลฟ์สไตล์แบบญี่ปุ่น ต้องการไปออนเซน เราก็มีส่วนลดให้ผ่านบัตรเครดิต JCB หรือสยามทาคาชิมาย่า ธนาคารเรามี 4 สาขาที่มีพนักงานพูดญี่ปุ่นได้ และมีตู้เอทีเอ็มที่มีภาษาญี่ปุ่น มีกองทุนรวมที่ลงทุนในญี่ปุ่น ผ่าน KSAM ขณะที่มาญี่ปุ่นก็สามารถใช้ QR Payment ผ่านแอป KMS จ่ายค่าสินค้าได้ ใช้บัตรเครดิตต่างๆ ที่ให้ส่วนลด" นายเอกวีร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น