xs
xsm
sm
md
lg

สต๊อก 6.7 แสนล.ค้ำคอดีเวลลอปเปอร์ อสังหาฯ ปี 63 ติดลบ ลุ้นคลังออกมาตรการฟื้นความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาคของการลงทุนภายในประเทศ (Investment) ซึ่งมีความต่อเนื่องและเกี่ยวโยงไปกับทุกภาคการผลิต ซึ่งแน่นอน ภาวะการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอสังหาฯ ได้ก่อผลกระทบไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว โดยภาคสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เห็นได้จากยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์เรต) ในระบบยังสูงกว่า 40% ซึ่งต่างจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 20% ซึ่งในด้านของผู้ประกอบการก็ต้องบริหารการขายให้ดี แม้ว่าปัจจุบันเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์จะมีตัวเลขไม่ตกลงมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงได้รับมรดกเก่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาโอนช่วยในปีนี้ แต่ยอมรับว่า การขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย (Post Finance) จะยากและเหนื่อยมากขึ้น

"ในส่วนของผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวไปทำการบ้านกับลูกค้าเยอะหน่อย เราต้องเตรียมลูกค้าก่อนโอนกรรมสิทธิ์นานขึ้น หากเราเจอปัญหาก่อนโอนกรรมสิทธิ์จริงต้องรีบแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาผู้กู้ร่วม การปรับเปลี่ยนให้ลูกค้าไปซื้อห้องชุดส่วนอื่น หรือไปซื้อโครงการของบริษัทในทำเลอื่นแทน จะช่วยผลกระทบเรื่องปฏิเสธสินเชื่อได้ ซึ่งเราคิดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 62 ไม่น่าจะติดลบทะลุเกิน 10% อย่างเลวสุดไม่น่าจะเกิน 5% และเราก็ห่วงการที่ผู้ประกอบการประกาศเรื่องสงครามราคา จะทำให้เกิดโดมิโนทันที ลูกค้ายิ่งชะลอการตัดสินใจเพื่อดูเงื่อนไขราคาที่ดีกว่าที่สุด" นายอธิปกล่าว และเชื่อว่า

การชะลอตัวของภาคอสังหาฯ ในรอบนี้ไม่น่าจะนาน คาดว่า 2-3 ปีข้างหน้าอสังหาฯ ก็จะกลับมา เพียงแต่เราใจร้อนหรือเปล่า ซึ่งมองว่าอสังหาฯ ในไทยยังสามารถซื้อได้ อีกทั้งนักลงทุนที่เข้ามาก็ยังสามารถทำมาหากินในไทยได้ ส่งลูกเรียนได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะอดทนในการบริหารสต๊อก ไม่ต้องไปตัดขาดทุน ตัดกำไรลดลง ปรับวิธีการดูแลลูกค้า หากช่วงไหนที่ตลาดไม่ดี เราก็ปรับ เช่น ทางเลือกทำเป็น Rent to Buy เพื่อชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ไประยะหนึ่ง เพื่อให้ลูกค้ามีรายได้เข้ามา ดีกว่าปล่อยลูกค้าออกไปเร่ร่อน และทำให้สินค้าเรามีการหมุนเวียน เพื่อไม่ให้มี Cost มากเกินไป ซึ่งจริงๆ ภาพรวมไม่ได้ลง ถ้าเทียบสินค้าต่อสินค้า ก็ยังคิดว่าคอนโดฯ แม้จะลดลง แต่ยังมียอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์เยอะอยู่ แต่บ้านจัดสรรสามารถเบรกการเติมสินค้าได้ ต่างจากคอนโดฯ ที่หยุดเติมไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จ ซึ่งจริงๆ แล้ว คอนโดฯ ของต้องเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าขายได้ 65% ก็สะท้อนภาวะกำไรแล้ว ยูนิตที่เหลืออาจต้องถือครองไว้เพื่อรอจังหวะ แต่ถ้าเอาราคามาลบกันอีก มีแต่เสียเลือดกันอีก

ทั้งนี้ ตนมองว่า ภาคอสังหาฯ ในปี 62 และแนวโน้มปี 63 ยังคงมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนและมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตาม โดยปัจจัยบวกได้แก่ 1.ดอกเบี้ยของสินเชื่อซื้อบ้านยังคงอัตราไม่สูง ทำให้ผู้กู้จะมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อ 2.กำลังซื้อผู้บริโภคภายในประเทศยังคงดีอยู่ 3.อีอีซี เปิดโอกาสให้ความต้องการอสังหาฯ ในไทยสูงขึ้น ทั้งอาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม คอนโดฯ และอื่นๆ ซึ่งยังมีนักลงทุนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย แต่ผู้ประกอบการต้องรู้จักสำรวจตลาดให้ดี ไม่ควรรีบหรือแห่ไป เพราะแหล่งงานยังไม่เกิด 4.ราคาน้ำมันยังไม่ปรับขึ้น

5.ราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้ายังคงปรับตัวสูงขึ้น และต่อให้มีเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะบังคับใช้ในปี 2563 นั้น เจ้าของที่ดินแนวรถไฟฟ้าคงไม่ได้รีบขาย ต่อให้ต้องเสียภาษี 1.2% ต่อปี และ 3 ปีถัดไป ค่อยเสียเพิ่ม 0.3% เจ้าของที่ดินคงไม่รีบขาย ถือไว้ เพราะราคาที่ดินที่อยู่ในแนวทำคอนโดฯ ได้ปรับขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี และจะไปถึง 10% ต่อปีด้วยซ้ำ ก็สามารถชดเชยส่วนของการเสียภาษีได้ ซึ่งแน่นอน คอนโดฯ ก็ต้องทำราคาสูงขึ้นอยู่ดี ต่างจากบ้านจัดสรรที่มีซัปพลายกระจายไปได้หลายทำเล ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของบ้านจัดสรรปีละ 2-4%

6.เขตเศรษฐกิจพิเศษในหัวเมืองการค้าชายแดน เช่น ในต่างจังหวัด ยังมีอัตราเติบโตที่ดี 7.โครงการเมกะโปรเจกต์ผ่านโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสี โครงการรถไฟทางคู่ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และความต้องการอสังหาฯ มากขึ้น และ 8.โครงการ EEC สถานีรถไฟกลางบางซื่อ สถานีรถไฟมักกะสัน จะสร้างความสนใจในการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาอสังหาฯ หลายประเภทเป็นจำนวนมาก
อธิป พีชานนท์
ตรวจปัจจัยเสี่ยงกระทบอสังหาฯ ปี 63

1.ความเข้มงวดของธนาคารและมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพิจารณาสินเชื่อผู้ซื้อบ้าน 2.มาตรการ LTV มีผลกระทบต่อผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัย 3.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจมีผลทางจิตวิทยาต่อตลาดอสังหาฯ เช่น บ้านพักตากอากาศ คอนโดฯ ที่ซื้อเพื่อการลงทุน 4.ต้นทุนการพัฒนาโครงการสูงขึ้นจากราคาทหี่ดิน 5.การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและผังเมืองใหม่ที่คาดจะประกาศปลายปี 2563 รวมถึงอีไอเอ 6.หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

"ฟองสบู่อสังหาฯ เกิดมาจากราคาที่ผิดปกติ ซึ่งปี 62 สรุป อสังหาฯ ชะลอตัวจากความไม่เชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจและการเมืองจะมีผลต่อจิตวิทยา แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำยังเป็นปัจจัยที่เอื้อ ตัวเลขกำลังซื้อที่ลดลง แต่ไม่แย่มาก ยกเว้น สินค้าบางตัวที่เป็นฟิวเจอร์โปรดักต์ที่ได้รับผลกระทบ คนจะใช้สินค้าในงานปัจจุบัน คนต้องซื้ออยู่แล้ว และบางจังหวัดยังน่าลงทุน ซึ่งการไปต้องมองว่าจังหวัดไหนมีพาณิชยกรรมและมีเรื่องของท่องเที่ยวด้วยจะเป็นการดี ขณะที่คนที่คิดจะซื้อบ้านจะมองเรื่องราคา ของต้องคุ้ม มากกว่าสวย โดยกลุ่มสินค้าที่ยังเติบโตและมีแชร์ในตลาดอยู่ที่ 1.5-5 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของตลาด ผู้ประกอบการที่จะเข้ามา หากเกาะในกลุ่มนี้ก็พอไปได้ แต่ไม่ใช่ไปแย่งกันทำตลาด คอนโดฯ ก็ต้องเกาะแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ ทาวน์เฮาส์จะอยู่ปลายสถานีรถไฟฟ้า ที่จะต้องทำตลาดแทรกกลางระหว่างคอนโดฯ และบ้านเดี่ยว ส่วนบ้านเดี่ยวคนจะนิยมไปอยู่ปลายสถานีรถไฟฟ้ามากขึ้น"

อสังหาฯ สต๊อกล้น1.5 แสนหน่วย เงินจมกว่า 6.7 แสนล.

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2562 ว่า ตลาดยังคงซบเซา เนื่องจากอัตราการดูดซับน้อยลง โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่จะมีสินค้าคงค้างในตลาดเป็นจำนวนมาก โดยผลจากภาพรวมตลาดในปี 62 ทำให้ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่า ปี 2563 อุปทานเหลือขายที่อยู่ในตลาดกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไม่ต่ำกว่า 152,792 หน่วย แยกเป็นโครงการบ้านจัดสรรมีอุปทานประมาณ 84,469 หน่วย คิดเป็น 58.3% อาคารชุดมีประมาณ 65,864 หน่วย คิดเป็น 41.7% ทั้งนี้ หน่วยที่มีมากที่สุด คือ อาคารชุด 41.7% รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 32% บ้านเดี่ยว 16.8% ที่เหลือเป็นบ้านแฝดและอาคารพาณิชย์

ซึ่งเราจะพบว่า กรุงเทพฯ จะมีอุปทานเหลือขายทั้งประเภทบ้านจัดสรรและอาคารชุด จำนวน 69,390 หน่วย คิดเป็น 54.5% ของจำนวนอุปทานทั้่งหมดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม หากย้อนหลังไป 5 ปี อุปทานเหลือขายเฉลี่ยอยู่ที่ 138,720 หน่วย ขณะที่แนวโน้มหน่วยเปิดขายใหม่ปี 63 คาดว่าจะปรับขึ้นเล็กน้อย โดยมีตัวเลขประมาณการที่ 90,464 หน่วย เทียบกับปี 62 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 83,593 หน่วย แต่จะลดลงกว่า 25% เมื่อเทียบกับปี 61 ที่มีการเปิดตัวใหม่สูงถึง 121,396 หน่วย

ขณะที่แนวโน้มอัตราดูดซับต่อเดือนในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 63 คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปีที่ 4.5% ลงมาอยู่ที่ 3.7% ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 จากปี 2562 โดยจำนวนเดือนที่คาดว่าจะขายหมดมีเวลาที่นานขึ้นอยู่ที่ 21 เดือน (เริ่มตั้งแต่เปิดขายพรีเซล ขณะที่ครึ่งปีหลัง 61 อัตราดูดซับต่อเดือนอยู่ที่ 14 เดือน) ทั้งนี้ ในส่วนของเฉพาะอุปทานอาคารชุด คาดว่าอัตราดูดซับอยู่ที่ 4.6% จากค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.6% จำนวนเดือนที่คาดว่ายจะขายหมด 15 เดือน

การโอนกรรมสิทธิ์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล (ยูนิต) คาดว่าตามประมาณการจะลดลง โดยประเภทแนวราบ (Base) อยู่ที่ 93,016 หน่วย ติดลบ 2.2% มูลค่าการโอนปรับเพิ่มขึ้น (Base) 5% มีมูลค่า 312,342 ล้านบาท (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีมูลค่า 290,900 ล้านบาท) และปรับขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปี 61-62

ส่วนอาคารชุด คาดว่าหน่วยโอน (ยูนิต) (Base) ติดลบ 5.6% อยู่ที่ 75,613 หน่วย (ย้อนหลังค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 81,400 หน่วย) และมูลค่าโอน (Base) ลดลง 3% อยู่ที่ 207,857 ล้านบาท (ค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 200,200 หน่วย)

"คาดว่าตลอดทั้งปี 2562 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะติดลบ 5-7% และคาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2563 จะติดลบ 3-5% ถ้าไม่มีมาตรการมาช่วยพยุงธุรกิจ จะยิ่งทำให้ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ติดลบมากกว่าที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่หากรัฐมีการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ผ่านการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง เป็นต้น รวมทั้งยังทำให้สร้างบรรยากาศและจูงใจในการซื้อที่อยู่อาศัยจะช่วยให้ตลาดฟื้นตัวได้ ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์อาจจะไม่ติดลบและเป็นบวกได้ ดังนั้น รัฐบาลควรรับรู้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อประเมินสถานการณ์"

อสังหาฯ จุกสต๊อกระหว่างขายเหลือกว่า 1.5 แสนหน่วย

สำหรับสถานการณ์ผลสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล นับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย ครึ่งแรกของปี 62 พบว่า มีจำนวนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขาย 1,670 โครงการ มีหน่วยเหลือขายจำนวน 152,149 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 669,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 61 คิดเป็น 11.8%, 15.4% และ 28.2% ตามลำดับ (โดยในครึ่งแรกของปี 61 มีโครงการอยู่ระหว่างขายจำนวน 1,494 โครงการ มีหน่วยเหลือขาย 131,819 หน่วย และมีมูลค่าเหลือขาย 522,436 ล้านบาท ขณะที่หน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี 61 อยู่ที่ 153,895 หน่วย คอนโดฯ เหลือเยอะสุด 43.3% รองลงมาประเภททาวน์เฮาส์ 31.2% คอนโดฯ ในกรุงเทพฯ มีหน่วยเหลือขายมากที่สุด ซึ่งจะเป็นแบบ 1 ห้องนอน ราคาที่เหลือมากที่สุดเป็นกลุ่ม 2-3 ล้านบาท)

โครงการบ้านจัดสรรครึ่งแรกของปี 62 มีจำนวนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขาย 1,137 โครงการ มีหน่วยเหลือขายจำนวน 87,180 หน่วย คิดเป็นมูลค่าเหลือขาย 404,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ประมาณ 9.2% 16.3% และ 22.3% ตามลำดับ โดยในครึ่งแรกของปี 2561 มีจำนวนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขาย 1,041 โครงการ มีหน่วยเหลือขาย 74,976 หน่วย มีมูลค่าเหลือขาย 330,752 ล้านบาท

ส่วนโครงการอาคารชุดมีจำนวนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขาย 533 โครงการ มีหน่วยเหลือขายจำนวน 64,969 หน่วย คิดเป็นมูลค่าเหลือขาย 265,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่ 17.7% 14.3% และ 38.4% ตามลำดับ โดยในครึ่งแรกปี 2561 มีจำนวนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขาย 453 โครงการ มีหน่วยเหลือขาย 56,843 หน่วย มีมูลค่าเหลือขาย 191,683 ล้านบาท

"อุปทานโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลช่วงครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 61 เนื่องจากอัตราดูดซับของที่อยู่อาศัยลดลงทุกประเภทจากช่วงเดียวกันของปี 61 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์มีอัตราดูดซับต่อเดือนลดลงมากที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์" ดร.วิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในกลุ่มที่อยู่อาศัยที่มีอัตราดูดซับลดลงมากกว่า 2% แบ่งเป็น กลุ่มอาคารชุดที่มีราคา 7.5-10 ล้านบาท ทาวน์เฮาส์ กลุ่มราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ราคา 7.5-10 ล้านบาท และมากกว่า 10 ล้านบาท บ้านเดี่ยว มีทั้งการดูดซับที่ดีและปรับลดลงไม่มาก และบ้านแฝดจะเป็นกลุ่มราคา 7.5-10 ล้านบาทที่ลดลงมากกว่า 2% ที่อยู่อาศัยที่เปิดขายในครึ่งแรกของปี 62 มีจำนวน 41,868 หน่วย คอนโดฯ มีสัดส่วนการเปิดมากที่สุด 24,574 หน่วย ซึ่งกว่า 60% จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ดีมานด์ต่างชาติลดลงหนัก
จีนลูกค้าหลักหายไปกว่าครึ่ง


นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น โดยมีสัดส่วน 1 ใน 5 ของคนกลุ่มอายุ 29 ปี เริ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และปี 2552-2561 พบว่า คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น จากคนที่มีหนี้ 21 ล้านคน กว่า 3 ล้านคนเป็นหนี้เสีย และเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ พบว่า ปริมาณหนี้ไม่ลดลง โดยคนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาทต่อราย คนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาท/ราย ขณะที่ย้อนหลังไป 5 ปี สัดส่วนการออมของคนไทยลดลงเดิม 15% ของรายได้ ปรับลงมาเหลือ 10% ของรายได้ เนื่องจากมีภาระหนี้ในด้านสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น

สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในภาพรวมยังคงขยายตัวได้ สินเชื่อที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับการกู้ 2 สัญญาขึ้นไป ซึ่งสินเชื่อปล่อยใหม่ปีที่ผ่านมา 1 ใน 4 จะอยู่ในข่ายสินเชื่อเงินทอน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดฯ ซึ่งการกู้แนวราบสัญญาแรกยังขยายตัวได้ ขณะที่การขอสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดฯ โดยเฉพาะสัญญาที่ 2 ขึ้นไปติดลบ 25% ส่วนราคาบ้านและทาวน์เฮาส์ยังคงโตได้ต่อเนื่องบวก 3.7% ขณะที่ราคาอาคารชุดปรับตัวลงลด สะท้อน Speculative demand หรือกลุ่มนักเก็งกำไรที่ปรับตัวลดลง พิจารณาจากก่อนมาตรการ LTV กู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไปอยู่ระดับ 88.9% ใกล้เคียงกับสัญญาแรกที่ 88.5% แต่หลังใช้ LTV สัญญาที่ 2 ลดลงมาอยู่ที่ 83.1%

"สิ่งที่เราเห็น การเปิดโครงการใหม่ในส่วนของโครงการคอนโดฯ ลดลง ขณะที่แนวราบเคยต่ำสุดช่วงต้นปี และเริ่มขยับมาเปิดโครงการต่อเนื่องมาถึงเดือนก.ค.ปีนี้ อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามกันต่อไป คือ อุปสงค์ของต่างประเทศ (ดีมานด์) มีแนวโน้มลดลง จากที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวดเร็วในปี 2559 ถึง 2561 มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท และเกือบครึ่งมาจากจีน ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และจีนจากฮ่องกง ขณะที่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มูลค่าการโอนของลูกค้าต่างประเทศลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ และลดลงในทุกประเทศที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทย ทำให้ตลาดคอนโดฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV"
กำลังโหลดความคิดเห็น