xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำชิมช้อปใช้ 2 เข้า ครม. อังคารหน้า เน้น ปชช. ใช้เงินตัวเองในกระเป๋า 2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ผอ.สศค.” เผย ส่งมาตรการชิมช้อปใช้ 2 ให้ รมว. คลังพิจารณาแล้ว คาดเข้า ครม. สัปดาห์หน้า ย้ำ เฟด 2 เน้นประชาสัมพันธ์ให้ผู้ลงทะเบียนใช้จ่ายเงินตัวเองในกระเป๋า 2 โดยรัฐบาลจะคืนเงินให้ 15% ระบุ ไม่มีมาตรการลดหย่อนภาษี ด้านผลการใช้มาตรการชิมช้อปใช้ 1 ในรอบ 19 วันแรก มียอดผู้ลงทะเบียนครบ 10 ล้านคนแล้ว โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนฯ ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จกว่า 9 ล้านราย และมีผู้ใช้สิทธิ์อีกกว่า 8 ล้านราย ด้านการใช้จ่ายรวมจะมี 8.2 พันล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็ก 82% ขณะที่สัดส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ 18% ส่วนการใช้จ่ายจะอยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯ เพียง 13%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณามาตรการชิมช้อปใช้ 2 ว่า สำหรับความคืบหน้าของมาตรการชิมช้อปใช้ระยะที่ 2 นั้น โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้เสนอมาตรการดังกล่าวให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้ว โดยเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ส่วนการลงทะเบียนฯ จะยังคงดำเนินการเช่นเดียวกับชิมช้อปใช้ 1 โดยสามารถลงทะเบียนผ่านทั้ง www.ชิมช้อปใช้.com และผ่านทางสาขาธนาคารกรุงไทย โดยจะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายในกระเป๋าที่ 2 โดยอาจจะคืนเงินในสัดส่วนที่มากกว่าโครงการแรกซึ่งกำหนดไว้ที่ 15% หรือสูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท อย่างไรก็ตาม นายลวรณยังยืนยันโครงการในเฟด 2 จะไม่มีการพิจารณาถึงเรื่องการลดหย่อนภาษีให้ผู้ลงทะเบียน

ทั้งยังได้คาดการณ์ถึงจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการชิมช้อปใช้ 2 นี้ว่า จะมีน้อยกว่ามาตรการชิมช้อปใช้ที่ผ่านมา เนื่องจากได้ประเมินถึงจำนวนประชาชนที่จะมีกำลังในการใช้จ่ายเพิ่มเติมจะมีอยู่ราว 10-11 ล้านคน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนในเฟส 1 ครบแล้ว 10 ล้านรายนั้น แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่ยอมมาใช้สิทธิ์ภายใน 14 วันอยู่อีกประมาณ 4.3 แสนล้านราย และยังมีผู้ที่ไม่ยืนยันตัวตนในแอพฯ เป๋าตังอีก 3.4 แสนราย โดยในแต่ละวันจะมีผู้ตัดที่ถูกสิทธิ์ราว 7-8 แสนราย ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการใช้จ่ายเงินตามมาตรการชิมช้อปใช้ไปแล้ว 8.2 พันล้านบาทจากวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเคยของบประมาณไว้จะอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาทนั้น จึงยังมีงบประมาณที่เลยังคงเหลือจากมาตรการเฟดแรกที่สามารถนำมาใช้เพื่อดำเนินมาตรการต่อเนื่องในเฟด 2 ได้อีก ดังนั้น การของบประมาณเพื่อทำเฟด 2 คงมีไม่มากนัก

นอกจากนี้ นายลวรณ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการชิมช้อปใช้ที่ผ่านมา 19 วันแรกว่า มียอดผู้ลงทะเบียนครบ 10 ล้านคนแล้ว โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนฯ ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จผ่านทั้งช่องทางแอพฯ และที่สาขาธนาคารกรุงไทยรวม 9,260,223 ราย และมีผู้ใช้สิทธิ์ 8,519,390 ราย ด้านการใช้จ่ายรวมจะมีทั้งสิ้น 8,282 ล้านบาท จากวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็ก 82% หรือ 6,793 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาได้ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 18% หรือ 1,489 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายจะอยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯ เพียง 13%

สำหรับเป็นการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 1 จะมีประมาณ 8,169 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้ง ร้านธงฟ้าประชารัฐ และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 4,576 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่าย 1,152 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ มียอดใช้จ่าย 96 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไปมียอดใช้จ่าย 2,345 ล้านบาท

ส่วนการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีการใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 36,854 ราย ยอดใช้จ่ายรวม 113 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากวันก่อนหน้า หรือเฉลี่ยรายละ 3,066 บาท เป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” 70 ล้านบาท ร้าน “ชิม” และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่าย 28 ล้านบาท และ 15 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการคลัง ยังได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ได้ทั้งร้านชิมช้อปใช้และร้านค้าทั่วไปในทุกจังหวัด ยกเว้นเพียงจังหวัดตามทะเบียนบ้านของตน ซึ่งการใช้จ่ายในร้านชิมช้อปใช้จะได้รับเงินคืน 15% ของยอดใช้จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 4,500 บาท (ยอดใช้จ่ายสูงสุด 30,000 บาท) โดยจะได้รับเงินคืนเข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในเดือน ธ.ค. 62

ด้านขั้นตอนการเติมเงินเข้า g-Wallet ช่อง 2 นั้น ผู้ลงทะเบียนสามารถเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ได้ทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่างๆ ได้ เช่น หากใช้ของธนาคารกรุงไทยและธนาคารทหารไทยให้เลือกเมนูโอนเงินพร้อมเพย์ (Transfer) หากใช้ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสินให้เลือกเมนูเติมเงินพร้อมเพย์ (Top up) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายช่องทางการเติมเงินเพิ่มเติมในอนาคต เช่น ผ่านเครื่อง ATM เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเติมเงินให้แก่ผู้ลงทะเบียนมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สศค. ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้เงินใน g-Wallet ช่อง 2 ในปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ 3 ประการคือ ประการที่ 1. ประชาชนยังไม่ทราบว่ามีกระเป๋า 2 จากที่ยังไม่เคยมีการพูดถึงกระเป๋านี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง นอกจากพูดถึงเรื่องการลงทะเบียน การยืนยันตัวตน การใช้วงเงินจากรัฐบาล 1,000 บาทผ่านแอพฯ เป๋าตัง ซึ่งตนมองว่าจากนี้ไปสิ่งที่เป็นความท้าทายคือการสนับสนุนให้ผู้ลงทะเบียนใช้เงินใน g-Wallet ช่อง 2, ประการที่ 2 การใช้จ่ายเงินในกระเป๋าที่ 2 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้เงินในกระเป๋า 1 หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายลวรณ ยังได้ย้ำถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของมาตรการชิมช้อปใช้ว่า รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการท่องเที่ยว โดยหวังให้มีการกระจายตัวของเม็ดเงินที่ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตามจังหวัดและชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ดังนั้น หากประเมินถึงผลสัมฤทธิ์ของโครงการชิมช้อปใช้ถือว่าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จใน 3 เรื่องคือ เรื่องจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ที่ครบทั้ง 10 ล้านคนภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ ในแง่ของจำนวนร้านค้าขนาดเล็กและร้านค้าในชุมชนที่เข้าร่วมและรัฐบาลต้องการให้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าโครงการถึง 90,000 ร้านค้า ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะมีราว 40,000 ร้านค้า ส่วนความสำเร็จที่ 3 และสามารถยืนยันได้ในวันนี้คือการกระจายตัวของเม็ดเงินที่มีทั่วทุกจังหวัดของประเทศ โดยเงินนี้ยังกระจายลงสู่ร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนได้ตามที่รัฐบาลต้องการจริงถึง 82% และไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในบางจังหวัด เช่น จังหวัดกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า การดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้มีเพียงมาตรการชิมช้อปใช้แค่เพียงอย่างเดียว แต่มาตรการชิมช้อปใช้ถือเป็น 1 ในองค์ประกอบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้ดูแลประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หลังจากที่ก่อนหน้ารัฐบาลได้ออกมาตรการในการดูแลกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเกษตรกรเพื่อช่วยประกันราคาสินค้าเกษตร เพื่อช่วยปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วม รวมถึงการใช้มาตรการเพื่อดูแลกลุ่มที่อยู่ในภาคธุรกิจ เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านทางการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะดูแลประชาชนในทุกกลุ่ม โดยมาตรการชิมช้อปใช้ถือว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องดูแลปัญหาด้านการบริโภคในประเทศ รวมทั้ง ยังยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลยเรื่องการลงทุน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่องคู่ขนาดกับมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านชิมช้อปใช้ แต่ว่าผลของการลงทุนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเช่นการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเม็ดเงินกระจายลงสู่เศรษฐกิจได้เร็วกว่าและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น