xs
xsm
sm
md
lg

SCB เปิดบริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า ขยายกลุ่มฐานราก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไทยพาณิชย์เปิดตัว "มีตังค์" บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า รุกกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ให้วงเงินสูงสุด 50% ของเงินเดือน ค่าฟี 20 บาทต่อ 1,000 บาท ตั้งเป้าขยายบัญชีพนักงานภายใต้ SCB Payroll 20% ภายในปี 2562

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)กล่าวว่า ธนาคารได้เปิดตัว "มีตังค์" บริการ "เบิกเงินเดือนล่วงหน้า" ให้แก่ลูกค้าที่มีบัญชีเงินเดือน (Payroll Account) กับธนาคารผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY เพื่อเป็นทางเลือกใหม่เมื่อพนักงานต้องการใช้เงินฉุกเฉินให้สามารถวางแผนการเงินจากรายได้ประจำของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ โดยมีดิจิทัล เวนเจอร์ในเครือธนาคารเป็นผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทั้งนี้ ได้เริ่มให้บริการแล้วกับ 2 บริษัท ได้แก่ วิลล่า มาร์เก็ท และอำพล ฟูดส์ และตั้งเป้าขยายบัญชีพนักงานภายใต้ SCB Payroll 20% ภายในปี 2562 จากปัจจุบันที่มีฐานบัญชีเงินเดือนที่ 2 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 400,000 บัญชี

ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการทดสอบบริการนี้ บริษัทนายจ้างจะคัดเลือกพนักงานกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ได้รับสิทธินี้ในการเบิกเงินเดือนได้เท่ากับจำนวนวันที่ได้ทำงานจริงมาแล้วในเดือนนั้นๆ สูงสุดไม่เกิน 50% ของเงินเดือน หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (หรือตามที่นายจ้างกำหนด) สามารถเบิกเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านฟังก์ชัน 'มีตังค์' ในแอปพลิเคชัน SCB Easy และธนาคารจะหักเงินเดือนครั้งถัดไป โดยมีค่าธรรมเนียมการเบิกจ่ายล่วงหน้า 1,000 ละ 20 บาท

"ผลิตภัณฑ์นี้เป็นการนำเงินเดือนของตัวเขาเองที่ได้ทำไปแล้วแต่ยังไม่ถึงเวลาเบิกจ่ายออกมาใช้ก่อนในเวลาที่จำเป็น ซึ่งดีกว่าการไปกู้ยืมเงินในระบบ ซึ่งการทดลองใน 2 บริษัทแรกนั้น ก็เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมของของผู้ใช้ว่าเป็นบวกหรือลบอย่างไร ซึ่งเราจะไม่เร่งปล่อยเพราะเป็นการปล่อยกู้ให้แก่คนที่มีปัญหาอยู่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งธนาคารได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะมองภาพออก หากผลออกมาเป็นไปในทิศทางที่ดีก็พร้อมที่จะขยายต่อไป แต่หากมีพฤติกรรมที่เสี่ยง อย่างกดน้อย แต่กดถี่ เป็นต้น ก็อาจจะต้องมองแนวทางแก้ไข เช่น ออกระบบอะไรมารองรับ เป็นต้น"

นายอรพงศ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายของบริการนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่กลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังเข้าถึงระบบธนาคารไม่ค่อยได้ ต่างจากกลุ่มเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ที่ส่วนใหญ่สามารถไปทำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดได้อยู่แล้ว และหากกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทเข้ามาสู่ระบบเราได้แล้วมีโปรไฟล์แล้ว ก็อาจจะขยายไปถึงการปล่อยกู้ให้ได้โดยที่เงินเดือนไม่สูงนักก็ได้ ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างพนักงานบริษัทที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท พบว่า มีราว 80% ของกลุ่มตัวอย่างเคยกู้เงินนอกระบบ และ 88% มียอดเงินกู้น้อยกว่า 15,000 บาท ขณะที่ 57% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ปัญหาหนี้สินทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

อนึ่ง ปัจจุบันบริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี มีพนักงานในการดูแลกว่า 1,200 คน และบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง มีพนักงานในกลุ่มกว่า 1,300 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น