xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นเวียดนามไม่รุ่ง / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามในปี 2562 จะเติบโตก้าวกระโดด จากอันดับ 77 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 67 แต่ ตลาดหุ้นเวียดนามกลับล้าหลังด้านการแข่งขัน เพราะกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ และระบบบัญชีบริษัทจดทะเบียนยังไม่เป็นมาตรฐานสากล

เศรษฐกิจเวียดนามถูกพูดถึงมาก ในฐานะประเทศดาวรุ่ง อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีระดับ 7% จนอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนจากประเทศไทย

แต่ ตลาดหุ้นโฮจิมินห์กลับสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ตลาดหุ้นเวียนนามก่อตั้งเมื่อปี 2544 เริ่มต้นที่ดัชนีหุ้น 100 จุด โดยช่วง 5-6 ปีแรกบรรยากาศการลงทุนคึกคัก ดัชนีหุ้นโฮจิมินห์ เคยพุ่งทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 1,200 จุด เมื่อปี 2550 ก่อนจะทรุดตัวลงแรง โดยปี 2552 ทรุดลงมาเหลือประมาณ 200 จุด หลังจากนั้นจึงฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ

ล่าสุด เคลื่อนไหวอยู่ในระดับประมาณ 880 จุด

เวียดนามมีตลาดหุ้น 3 ตลาด โดยตลาดหลักเหมือนตลาดหลักทรัพย์ของไทยคือ ตลาดหุ้นโฮจิมินท์ ตลาดที่มีลักษณะเหมือนตลาด mai ของไทย ตั้งอยู่ที่ฮานอย และตลาดโอทีซี หรือหุ้นนอกตลาด

มูลค่าหลักทรัพย์ตลาดรวมของตลาดหุ้นโฮจิมินห์ มีจำนวนประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท หรือเล็กกว่าตลาดหุ้นไทยประมาณ 10 เท่า เช่นเดียวกับมูลค่าซื้อขายหุ้นแต่ละวันที่น้อยกว่าตลาดหุ้นไทยประมาณ 10 เท่า หรือซื้อขายเพียงวันละ 5-6 พันล้านบาท

อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือค่า พี/อี เรโช อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 6 เท่า แต่ทั้งค่า พี/อี เรโช กับอัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นเวียดนาม ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ เนื่องจากมีหลักคำนวณที่ไม่ได้มาตรฐาน

เพดานขึ้นหุ้น กำหนดสูงสุด และต่ำสุดไม่เกิน 7% แต่ในยามที่ตลาดหุ้นผันผวนรุนแรง เช่นปี 2550 ตลาดหลักทรัพย์เวียดนามกำหนดเพดานขึ้นลงเพียงวันละ 2% เท่านั้น เพื่อไม่ให้ตลาดหุ้นทรุดตัวเร็วเกินไป

ส่วนอัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้น ใช้ระบบต่อรองเสรี ไม่มีเพดานขั้นต่ำ เพียงแต่บริษัทโบรกเกอร์เวียดนามไม่ได้เปิดสงครามแข่งขันอย่างบ้าเลือดใช้อัตรา 0% เพื่อฆ่าคู่แข่งหรือใช้อัตรา 0.01% เพื่อชิงฐานลูกค้าเหมือนโบรกเกอร์ไทย

ประชากรเวียดนามมีประมาณ 96 ล้านคน พื้นที่ของประเทศมีขนาดใหญ่กว่าไทยประมาณ 1.5 เท่า

นักลงทุนจีนบุกลงทุนมากที่สุดคือประมาณ 30% ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด รองมาคือนักลงทุนเกาหลีใต้ ธุรกิจที่กำลังเติบโตคือการส่งออก

ธุรกิจที่กำลังมีปัญหาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีปัญหาสภาพคล่อง เช่นเดียวกับ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งปีหน้าอาจมีปัญหาสภาพคล่องเช่นเดียวกับเวียดนาม 

ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีกฎระเบียบที่ล้าสมัย ระบบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้การซื้อขายไม่คล่องตัว

นอกจากนั้น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจส่งออก ซึ่งอนาคตการเติบโตสดใส กลับไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น และแม้แต่บริษัทที่บริหารสนามบินเวียดนาม เช่นเดียวบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ก็ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นโฮจิมินห์ แต่กลับจดทะเบียนในตลาดโอทีซี

ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นและเป็นกลุ่มใหญ่ กลับเป็นบริษัทพัฒาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาลง

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทยหลายแห่ง ได้จัดตั้งกองทุนระดมเงินจากนักลงทุนเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามประมาณ 6 กองทุน ซึ่งได้รับผลตอบแทนไม่ดีนัก เนื่องจากความผันผวนและทิศทางความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น

ส่วนบริษัทโบรกเกอร์ของไทยหลายแห่ง เปิดให้ลูกค้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม โดยบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด เป็นผู้บุกเบิกรายแรก เริ่มให้ลูกค้าเปิดบัญชีลงทุนตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีลูกค้าที่ลงทุนในเวียดนามประมาณ 1,600 ราย และสามารถสั่งซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ เพราะมีโบรกเกอร์เวียดนามเป็นพันธมิตร

การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ต้องลงทุนในระยะยาวหรือระยะปานกลาง เพราะไม่เหมาะสำหรับการซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้น เนื่องจากระบบการซื้อขายไม่เอื้ออำนวยสำหรับนักเก็งกำไร และไม่สามารถซื้อขายหักกลบบัญชีภายในวันเดียวได้

เศรษฐกิจเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ ตลาดหุ้นเวียดนาม ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ต้องปรับกฎระเบียบและมาตรฐานบัญชี เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติยอมรับ

19 ปีของ ตลาดหุ้นเวียดนาม ยังล้มคว่ำคะมำหงายอยู่ สวนทางกับเศรษฐกิจที่กำลังวิ่งไล่หลังไทยมาติดๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น