ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - นักลงทุนทยอยขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังนักวิเคราะห์คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 3/62 ที่กำลังจะประกาศออกมาหดตัว จากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับ กนง. หั่นดอกเบี้ยลง 0.25% ขณะที่เอ็นพีแอลขยับขึ้น เหตุภาวะเศรษฐกิจซบเซา-หนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลต่อความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้า
หลังจากที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบรรดาโบรกเกอร์ต่างๆ ได้ออกมาคาดการณ์ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 3 และงวดสะสม 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 จะมีแนวโน้มชะลอตัว เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน หรือไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยลดลง หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้สอดคล้องกับคณะกรรมการนโบายการเงิน (กนง.) ที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงขึ้น จากอัตราหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ความสามารถการชำระหนี้ลดลงตามไปด้วย
จากผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวลง ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างทยอยขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน
ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ได้สำรวจราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง เปรียบเทียบระหว่างราคาปิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 กับราคาปิดวันที่ 9 ตุลาคม 2562 พบว่า ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า ยกเว้นเพียง บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.54% และ 26.84% ตามลำดับ (ตารางประกอบข่าว)
ขณะที่ราคาหุ้นธนาคารที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ราคาปรับตัวลดลง 32.27% ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาลดลง 19.19% และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาลดลง 17.00%
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ว่า รายได้ดอกเบี้ยไตรมาส 3 ปี 2562 มีแนวโน้มปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์รายอื่น เนื่องจากไตรมาสดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลงในช่วง เดือนส.ค.ที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25%
"เป็นที่รับรู้กันว่ารายได้ดอกเบี้ยไตรมาส 3 นี้ ได้รับผลกระทบแน่ แต่ไม่ใช้กสิกรไทยแห่งเดียว ซึ่งเกิดจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลนักลงทุนกังวล ทยอยขายหุ้นออกมา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแบงก์ต้องพยายามหารายได้อย่างอื่นมาทดแทน" นายปรีดี กล่าว
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารไตรมาส 3 คาดว่าจะปรับลดลงเช่นกัน จากผลของการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผลกระทบทันทีในไตรมาสนี้ ทำให้ธนาคารต้องเร่งหารายได้อื่นๆ เข้ามาทดแทน รายได้ดอกเบี้ยที่หายไป เช่น การเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม(ค่าฟี) อื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น ค่าฟีของการเป็นที่ปรึกษาในตลาดทุน เช่นการออกหุ้นกู้ หรือการเพิ่มรายได้ค่าฟีด้านการชำระเงิน ของบริษัทต่างๆมากขึ้น
"แม้จะมีรายได้ค่าฟีเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่หายไปได้ทั้งหมด เพียงแต่ช่วยประคองไม่ให้ลดลงแรงเท่านั้น เนื่องจากรายได้แบงก์ส่วนใหญ่ มาจากการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นรายได้ดอกเบี้ยจึงเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ หากเทียบกับ รายอื่น" นายเดชา กล่าว
"แบงก์ก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ด้านรายได้ดอกเบี้ยเพราะดอกเบี้ยที่ลดลงไปมีผลทันที ซึ่งธนาคารก็คงต้องทำธุรกิจของเราต่อไป ต้องเร่งรายได้ส่วนอื่นๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น หรือการปล่อยกู้ ที่คาดว่า จะเห็นการปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4ปีนี้"
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ประเมินว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ไตรมาส 3/2562 คาดกำไรสุทธิรวมน่าจะอยู่ที่ระดับ 50,156 ล้านบาท ลดลงราว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 52,344 ล้านบาท และลดลง 1% จากช่วงไตรมาส 2/2562 ที่ทำได้ 50,718 ล้านบาท สาเหตุหลักจากรายได้ที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน อย่างไรก็ตามหากมีการตัดรายการพิเศษออกผลประกอบการจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ด้านตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.66% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 3.64% จากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่ธปท.ไม่ให้มีการตั้งสำรองทั่วไปตามแผนของมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 จึงทำให้คาดว่ากลุ่มแบงก์จะเริ่มปรับลดการตั้งสำรองฯลง และทำให้ต้นทุนการปล่อยกู้ (Credit Cost) โดยรวมจะลดลงเป็น 1.19% จากเดิมที่อยู่ระดับ 1.22% ในช่วงไตรมาสก่อนหน้า
"ปัจจุบันผลงานกลุ่มแบงก์อาจออกมาไม่ดีนัก แต่เราแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้โดยเฉพาะนักลงทุนที่เน้นการถือเพื่อลงทุนในช่วง 1 ปีข้างหน้า เพราะราคาหุ้นในกลุ่มที่ยังต่ำกว่าบุ๊คแวลูมาก โดยแนะนำ “ซื้อ” SCB, BBL และ KBANK โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 147 บาท, 203 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ”
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ในไตรมาส 3/62 จะปรับตัวลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 13% และลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 8% TCAP เป็นธนาคารเดียวที่มีกำไรสุทธิเติบโตเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนและไตรมาส 2/62 เพราะมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสูงขึ้น ขณะที่ KKP กำไรสุทธิเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า เพราะคาดว่าจะขาดทุนจากการขายหลักประกัน (รถยึด) น้อยลง ส่วน 6 ธนาคารที่เหลือกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/61 และไตรมาส 2/62 โดย KTB มีกำไรสุทธิลดลงมากที่สุดเพราะตั้งสำรอง Employee benefit ในไตรมาสนี้